แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคสมองและระบบประสาท
รหัสเอกสาร PI-IMC-065-R-00
อนุมัติวันที่ 17 มิถุนายน 2562
เวียนศีรษะ มึ้งมั้ง หมึนๆ เป็นอะไรได้บ้าง
อาการเวียนศีรษะ หรือที่หลายๆ คนบอกว่า มึ้งมั้ง หมึนๆ บ้านหมุน หรือรู้สึกโยกเยกโคลงเคลง เหมือนนั่งอยู่บนเรือ คล้ายจะเป็นลม เกิดจากระบบการควบคุมการทรงตัวที่ผิดปกติ โดยเกิดได้จากหลาย
สาเหตุ ที่เกี่ยวข้องกับระบบประสาทการทรงตัวที่อยู่ที่ในหู และระบบประสาทส่วนกลาง สำหรับโรคที่พบบ่อย ได้แก่
1. โรคตะกอนหินปูนในหูชั้นในหลุด (Benign Paroxysmal Positional Vertigo: BPPV) ทำให้มีอาการเวียนศีรษะเป็นๆหายๆ โรคเกิดจากพยาธิสภาพอยู่ที่หูชั้นใน โดยอาการเวียนศีรษะ บ้านหมุน มักสัมพันธ์กับการเปลี่ยนท่าทางของศีรษะ อาจมีอาการคลื่นไส้ อาเจียนตามมาได้ ผู้ป่วยมักจะมีอาการเวียนศีรษะไม่นาน มักเป็นวินาที หรือนาที มักเป็นมากขึ้นหลังจากมีการเคลื่อนไหว หรือการเปลี่ยนท่าทางของศีรษะ และมักจะพบมีตากระตุก มักจะกระตุกอยู่นาน 30 วินาทีถึง 1 นาทีเท่านั้น แล้วอาการเวียนศีรษะดังกล่าวจะค่อยๆหายไป แต่เมื่อผู้ป่วยเคลื่อนไหวศีรษะในท่าเดิมอีก ก็สามารถกระตุ้นให้เกิดอาการเวียนศีรษะได้อีก
2. โรคหลอดเลือดสมอง เมื่อเกิดมีเส้นเลือดสมองตีบหรือแตก ในตำแหน่งก้านสมองและสมองน้อย จะทำให้มีอาการมึนศีรษะ รู้สึกไม่โล่ง ซึมลง เสียการทรงตัว อาจมีอาการอ่อนแรงหรือชาร่วมด้วย ความรุนแรงขึ้นกับขนาดและตำแหน่งของตัวโรค อาจมีอาการปวดศีรษะ เห็นภาพซ้อน และอาเจียนร่วม หากมีความดันในศีรษะที่สูง มักไม่มีช่วงหายปกติ ผู้มีอาการเช่นนี้ต้องรีบไปโรงพยาบาลทันที
3. โรคเวียนศีรษะจากไมเกรน (Migraine related vertigo) ในผู้ป่วยที่ปวดศีรษะไมเกรน บางครั้งอาจมีอาการเวียนศีรษะร่วมด้วย มักจะเป็นๆ หายๆ สลับกันไป มักสัมพันธ์กับการปวดศีรษะ ดังนั้น หากท่านมีอาการปวดศีรษะร่วมด้วย อย่าลืมแจ้งให้แพทย์ทราบ
4. โรคน้ำในหูไม่เท่ากัน (Meniere’s Disease) เกิดจากความผิดปกติของหูชั้นใน ทำให้มีอาการบ้านหมุนอย่างรุนแรง คลื่นไส้อาเจียนและเสียการทรงตัว เดินเซล้มได้ง่าย มักมีอาการเป็นเวลานาน อาจมีความรู้สึกแน่นๆ หู หรือได้ยินเสียงแย่ลง หรือได้ยินเสียงวิ้งๆ ผิดปกติในหูร่วมด้วยได้
5. โรคที่เกี่ยวกับระบบไหลเวียนโลหิต ทำให้มีปริมาณเลือดไปเลี้ยงที่สมองลดลง เช่น การขาดน้ำในผู้สูงอายุ เมื่อเปลี่ยนท่าเร็วๆ ก็จะมีอาการได้ การเกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ ผู้ที่มีภาวะซีด เป็นต้น
6. โรคที่เกิดจากความเครียด หรือโรคทางจิตเวช บางครั้งพบมีอาการเวียนศีรษะร่วมกับอาการเฉพาะของโรค เช่น เป็นมากเมื่ออยู่ในที่แคบ ที่สูง หรือที่ๆ มีคนเยอะๆ เมื่อผู้ป่วยเกิดความเครียดความกังวลใจที่มาก เป็นเวลานาน จึงควรพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุ
7. สาเหตุอื่นๆ เช่น ภาวะพร่องฮอร์โมนไทรอยด์, มีการอักเสบของหูและเส้นประสาทควบคุมการทรงตัว ,ยาบางชนิด ที่พบบ่อย เช่น ยาทรามาดอล, ยาฆ่าเชื้อ, ยาจิตเวช, การมีก้อนเนื้อในศีรษะและโรคทางพันธุกรรมบางชนิด
การป้องกันการเวียนศีรษะง่ายๆ สำหรับผู้สูงอายุ
1. ค่อยๆ เปลี่ยนท่าทาง โดยเฉพาะเวลาลุกนั่งหรือยืน หันศีรษะช้าๆ
2. ดื่มน้ำให้เพียงพอวันละ 6-8 แก้ว หากต้องเดินทางหรือมีกิจกรรม ให้ดื่มน้ำเพิ่มก่อนทำกิจกรรมทุกครั้ง
3. หมั่นออกกำลังกายแบบแอโรบิค ฝึกให้หัวใจ และระบบไหลเวียนโลหิตทำงานได้ดียิ่งขึ้น
4. พักผ่อนให้เพียงพอ ถูกสุขลักษณะ
5. หากิจกรรมทำเพื่อให้ร่างกายได้เคลื่อนไหวอย่างสม่ำเสมอ
6. ลดความเครียด ความกังวล มองโลกในแง่ดี
7. ควบคุมโรคประจำตัว เบาหวาน ไขมัน ความดัน ให้ดี
8. หลีกเลี่ยงยาที่ทำให้เวียนศีรษะ และมีผลให้ความดันที่ต่ำ
9. หากมีอาการผิดปกติอื่น หรือ ไม่ดีขึ้น ควรรีบปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโดยเร็ว
อาการเวียนศีรษะที่ต้องมาพบแพทย์โดยด่วน ได้แก่ อาการเวียนศีรษะร่วมกับอาการดังต่อไปนี้
1. ปวดศีรษะรุนแรงทันที
2. มีอาการเจ็บหน้าอก, หายใจลำบาก
3. มีอาการชา อ่อนแรง หน้าเบี้ยว
4. มีอาการหน้ามืด หมดสติ
5. มองเห็นภาพซ้อน คลื่นไส้ อาเจียน
6. มีอาการสับสน พูดไม่ชัด
7. มีอาการชัก
8. มีไข้
บทความเพิ่มเติมเกี่ยวกับ โรคสมองและระบบประสาท
- ชุดความรู้ โรคหลอดเลือดสมอง (Stroke)
- Stroke 1 อาการและความน่ากลัวของอัมพฤกษ์
- Stroke 2 มาเรียนรู้การป้องกันอัมพฤกษ์กัน
ติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่