ความรู้จากแพทย์ศรีพัฒน์

ถุงน้ำรังไข่


ผศ.พญ.กุณฑรี ไตรศรีศิลป์ หมื่นพินิจ

สูตินรีแพทย์

รหัสเอกสาร PI-IMC-356-R-00

อนุมัติวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2564


ถุงน้ำรังไข่คืออะไร  

        ถุงน้ำรังไข่ หรือ Ovarian cyst ส่วนใหญ่เป็นถุงน้ำที่เกิดขึ้นตามรอบประจำเดือน เช่น ถุงน้ำที่เกิดจากการไม่ตกไข่ (Follicular cyst) มักไม่มีอาการและหายได้เองใน 1-3 เดือน , ถุงน้ำที่เกิดหลังจากตกไข่ไปแล้ว (Corpus luteum) มักไม่มีอาการ หายได้เองใน 2-3 สัปดาห์ แต่บางรายอาจมีอาการเสียเลือด หน้ามืด ช็อกจากเลือดออกในก้อน ก้อนแตกจนเลือด ออกในช่องท้อง หรือบิดขั้วจนปวดท้องมาก นอกจากนั้นถุงน้ำอื่นๆ ที่อาจพบได้ เช่น ถุงน้ำจากเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ (Endometrioma หรือ Chocolate cyst) มักมีอาการปวดประจำเดือน ปวดท้องน้อยเรื้อรัง และอาจมีภาวะมีบุตรยากรวมทั้งถุงน้ำหรือเนื้องอกรังไข่ ทั้งที่เป็นและไม่เป็นมะเร็ง (Ovarian tumor) ซึ่งมีหลายชนิด ส่วนใหญ่จะไม่มีอาการ แต่หากโตขึ้นจะทำให้อืดแน่นท้อง

 

อาการ                                                                                                                                   

        โดยทั่วไปถุงน้ำรังไข่จะไม่ทำให้เกิดอาการ แต่ในบางรายอาจมีอาการปวดหน่วงท้องน้อย ปวดประจำเดือน ท้องขยายใหญ่ขึ้นแต่รับประทานเท่าเดิม ท้องอืดหรือท้องโตเบื่ออาหาร น้ำหนักลด คลำเจอก้อนที่หน้าท้อง ปวดอืดแน่นท้อง และบางกรณีอาจมาด้วยปวดท้องน้อยเฉียบพลัน ร่วมกับมีไข้ หรือมีเลือดออกผิดปกติทางช่องคลอด

 

การรักษา

        การรักษาขึ้นอยู่กับชนิดของถุงน้ำรังไข่ บางรายอาจไม่ต้องทำอะไรเพียงแค่ตรวจติดตาม บางกรณีใช้ฮอร์โมน แต่บางรายอาจต้องผ่าตัด เนื่องจากส่วนใหญ่ไม่มีอาการ จึงควรตรวจภายในเป็นประจำทุกปี โดยหากตรวจพบจะได้รับการดูแลรักษาเพื่อช่วยป้องกันไม่ให้เกิดภาวะแทรกซ้อนจากตัวก้อน เช่น ถุงน้ำแตกจนตกเลือด ติดเชื้อในช่องท้อง ถุงน้ำบิดขั้ว ซึ่งหากเกิดภาวะแทรกซ้อนเหล่านี้แล้วมักจะได้รับการผ่าตัดฉุกเฉิน และหากเป็นเนื้องอกถุงน้ำรังไข่จะได้ทำการดูแลรักษาก่อนที่ก้อนจะโต หรือเป็นระยะลุกลาม ดังนั้น จึงควรพบแพทย์เพื่อตรวจหาความผิดปกติของอวัยวะภายในสตรี หรือตรวจเช็คถุงน้ำรังไข่ ด้วยการตรวจภายในเป็นประจำทุกปี โดยหากพบว่ามีถุงน้ำรังไข่ แพทย์จะได้ให้คำแนะนำการรักษาที่เหมาะสม และหมั่นสังเกตอาการ หากมีอาการดังกล่าวข้างต้น ควรมาพบแพทย์โดยเร็ว เพื่อทำการตรวจวินิจฉัยต่อไป