ความรู้จากแพทย์ศรีพัฒน์

การส่องกล้องระบบทางเดินอาหารด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง


ผศ.นพ.นิธิ ธินรุ่งโรจน์

แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบทางเดินอาหารและโรคตับ

รหัสเอกสาร PI-IMC-354-R-00

อนุมัติวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2564

 

การส่องกล้องระบบทางเดินอาหารด้วยคลื่นเสียงความถี่สูงคืออะไร

          นวัตกรรมใหม่ด้านการส่องกล้องระบบทางเดินอาหาร “การส่องกล้องระบบทางเดินอาหารด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง” หรือที่เรียกว่า Endoscopic ultrasonography (EUS) คือ การส่องกล้องตรวจระบบทางเดินอาหารด้วยเครื่องมือที่มีลักษณะเป็นกล้องส่องทางเดินอาหารแบบปกติ แตกต่างตรงบริเวณส่วนปลายของกล้องมีเครื่องตรวจคลื่นเสียงความถี่สูงติดอยู่ ดังนั้นนอกจากจะได้ข้อมูลเรื่องลักษณะของรอยโรคที่บริเวณผนังของทางเดินอาหารจากการส่องกล้องปกติแล้ว สามารถตรวจ      อัลตราซาวนด์จากภายในเพื่อดูรอยโรคหรืออวัยวะต่างๆ ภายในช่องท้องได้ดี โดยเฉพาะตับอ่อน ท่อน้ำดี ถุงน้ำดี ต่อมน้ำเหลือง และเมื่อตรวจพบรอยโรคผิดปกติ สามารถใช้เข็มเก็บชิ้นเนื้อเพื่อส่งตรวจวินิจฉัยได้ ดังตัวอย่างที่เห็นในภาพ

 

 

ประโยชน์และข้อบ่งชี้ในการตรวจการส่องกล้องระบบทางเดินอาหารด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง

1.       การตรวจวินิจฉัยและใช้เข็มเก็บชิ้นเนื้อส่งตรวจ ในกรณีมีก้อนเนื้อผิดปกติในระบบทางเดินอาหาร

2.       ใช้ในการตรวจวินิจฉัยตับอ่อน ท่อน้ำดี และถุงน้ำดี ในกรณีที่การตรวจด้วยวิธีอื่นแล้วยังไม่ได้การวินิจฉัยที่แน่นอน

3.       ใช้ในการเจาะและวางท่อระบายเพื่อรักษาในโรคถุงน้ำจากตับอ่อนอักเสบหรือโรคทางเดินน้ำอุดตัน

 

ขั้นตอนการตรวจรักษา

-          กรณีการตรวจส่องกล้องเพื่อวินิจฉัย การเตรียมตัวเหมือนการส่องกล้องทางเดินอาหารส่วนต้น คือ งดน้ำงดอาหารอย่างน้อย 6 ชั่วโมงก่อนการตรวจ โดยใช้เวลาในการตรวจประมาณ 30 นาที สามารถทำในแบบผู้ป่วยนอก โดยไม่ต้องนอนโรงพยาบาล

-          ในการตรวจเพื่อเจาะตรวจชิ้นเนื้อ อาจต้องมีการเจาะเลือดหรือเตรียมตัวก่อนการตรวจ รวมทั้งต้องนอนโรงพยาบาลเพื่อดูอาการ 1 วันหลังทำหัตถการ

 

สำหรับรายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ