ความรู้จากแพทย์ศรีพัฒน์

สายตาสั้น


ผศ.พญ.ธิดารัตน์ ลีอังกูรเสถียร

จักษุแพทย์

รหัสเอกสาร PI-IMC-354-R-00

อนุมัติวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2564


        หากกล่าวถึงสายตาผิดปกติ นอกจากสายตายาว สายตาเอียงแล้ว สายตาสั้นเป็นหนึ่งในความผิดปกตินั้น ซึ่งผู้ที่มีภาวะสายตาสั้นจะมีปัญหาในการมองภาพระยะไกลไม่ชัดเจน โดยเกิดจากความไม่สมดุลระหว่างความโค้งของกระจกตา เลนส์ตา และความยาวของลูกตา นอกจากนี้ยังพบว่าอาจมีอาการสายตาสั้นเทียมจากการใช้สายตาเพ่งหน้าจอมากเกินไปด้วย


สายตาสั้นคืออะไร

        สายตาสั้น (Myopia) หมายถึง แสงจากวัตถุที่เรามองเข้าตาผ่านกระจกตาแล้วเกิดการรวมแสงก่อนถึงจอประสาทตา (ตกบริเวณหน้าจอตา) เกิดจากลูกตามีกำลังหักเหแสงมากกว่าปกติ เช่น กระจกตามีความโค้งมากกว่าปกติ หรือลูกตามีความยาวมากกว่าปกติ จึงทำให้เห็นภาพไม่ชัด


สาเหตุเกิดจากอะไร

      เกิดจากกระจกตามีความโค้งมากกว่าปกติ ทำให้มีกำลังหักเหแสงมากเกินไป ลำแสงจึงรวมกันก่อนถึงจอประสาทตา แต่ในบางรายอาจเกิดจากมีลูกตายาวผิดปกติ จึงทำให้ลำแสงรวมกันก่อนถึงจอประสาทตา ซึ่งเป็นลักษณะตามธรรมชาติของแต่ละคน อาจเป็นเองหรือจากพันธุกรรม เช่น บิดามารดามีสายตาสั้น รวมทั้งปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ เช่น ทารกที่คลอดก่อนกำหนด หรือน้ำหนักแรกคลอดน้อย


อาการและการแก้ไข

     อาการของสายตาสั้น คือ มองไกลไม่ชัด ซึ่งอาจทำให้มีปัญหาในด้านการเรียน การทำงาน หรือการขับขี่ยานพาหนะ โดยในส่วนของการแก้ไข แพทย์อาจพิจารณาให้สวมแว่นสายตา โดยใช้เลนส์เว้าช่วยกระจายแสงออก เพื่อเลื่อนให้แสงไปรวมกันไกลขึ้น และไปตกที่จอประสาทตาพอดี ซึ่งจะช่วยให้เห็นภาพชัด

     นอกจากนี้ควรพบจักษุแพทย์เป็นระยะ เพื่อวัดค่าสายตา ซึ่งในบางรายอาจต้องเปลี่ยนเลนส์ตามค่าสายตาที่เปลี่ยนไปตามอายุ ทั้งนี้ การสวมแว่นสายตาสั้นที่เกินกว่าค่าสายตาที่แท้จริงเป็นเวลานาน อาจทำให้มีสายตาสั้นมากขึ้นชั่วคราวได้


สายตาสั้นเทียมคืออะไร

       สายตาสั้นเทียม (Pseudomyopia) เป็นภาวะสายตาสั้นที่เกิดขึ้นจากกล้ามเนื้อเล็กๆ ในลูกตา (Ciliary muscles) ที่ทำหน้าที่ปรับความคมชัดของการมองเห็นแต่ละระยะ (Focusing) ซึ่งกล้ามเนื้อนี้ เวลามองไกลจะคลายตัว แต่หากมองใกล้จะหดตัวเพื่อเพิ่มกำลังของเลนส์ตา โดยการเพ่งมองสิ่งที่อยู่ใกล้เป็นเวลานาน เช่น การจ้องหน้าจอเป็นเวลานาน ไม่ว่าจะเป็นจอคอมพิวเตอร์ แทปเลต สมาร์ทโฟน หรือการอ่านหนังสือ กล้ามเนื้อนี้จะทำงานหนักจนเกิดการหดเกร็งค้าง ซึ่งมักเป็นอยู่ระยะเวลาหนึ่ง ถ้ากล้ามเนื้อนี้คลายตัว สายตาก็จะกลับมาเหมือนเดิม จึงเรียกภาวะนี้ว่า สายตาสั้นเทียมหรือสายตาสั้นชั่วคราว


ข้อมูลอ้างอิง

นพ.ศักดิ์ชัย วงศกิตติรักษ์ . สายตาสั้นเกิดจากอะไร . หมอชาวบ้าน . แหล่งข้อมูล : https://www.doctor.or.th/ask/detail/7157 . ค้นเมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2564.