ความรู้จากแพทย์ศรีพัฒน์

สารอาหารสำคัญช่วยป้องกันและบำรุงดวงตา


อ.นพ.ธนภัทร เชาว์วิศิษฐ์เสรี

จักษุแพทย์

รหัสเอกสาร PI-IMC-352-R-00

อนุมัติวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2564


         “ดวงตา” เป็นอวัยวะสำคัญอันมีผลต่อภาพลักษณ์และการดำเนินชีวิต ซึ่งอาศัยประสาทสัมผัสการมองเห็นเป็นหลัก เมื่ออายุมากขึ้น อวัยวะต่างๆ ในร่างกายจะมีประสิทธิภาพลดลงหรือเกิดความเสื่อมตามวัย การดูแลรักษาดวงตาเพื่อช่วยชะลอความเสื่อมนั้นมีหลายวิธี ไม่ว่าจะเป็นการปกป้องดวงตาจากแสงแดดหรือการตรวจสุขภาพตาเป็นประจำแล้ว รวมถึงการรับ ประทานอาหารที่มีประโยชน์นั้นอาจมีส่วนช่วยในการบำรุงดวงตาเช่นกัน


โอเมก้า 3 (Omega-3) เป็นกรดไขมันสำคัญในการรักษาภาวะตาแห้ง พบมากในปลาทะเล เช่น ปลาแซลมอน ปลาซาร์ดีน หรือในผลไม้ เช่น ผลกีวี่  


สารลูทีน (Lutein) และ ซีแซนทีน (Zeaxanthin) เป็นสารกลุ่มแคโรทีนอยด์ ซึ่งเป็นรงควัตถุที่ช่วยกรองรังสียูวีจากแสงแดด พบได้ในจุดรับภาพที่จอประสาทตาและเลนส์ตา นอกจากนี้ยังมีคุณสมบัติช่วยต้านอนุมูลอิสระ ชะลอการเกิดโรคต้อกระจกและโรคจอตาเสื่อมลูทีนและซีแซนทีน พบมากในไข่แดงและผักใบเขียว เช่น ผักคะน้า ปวยเล้ง บรอคโคลี


ซีลีเนียม (Selenium) เป็นสารต้านอนุมูลอิสระ ช่วยชะลอการเกิดต้อกระจก พบในหอยนางรม หอยลาย ตับไก่ และเมล็ดทานตะวัน


สังกะสี (Zinc) มีคุณสมบัติต้านอนุมูลอิสระ และมีส่วนช่วยชะลอการดำเนินโรคจอประสาทตาเสื่อมให้ช้าลง พบในหอยนางรม เนื้อสัตว์ และตับ


สารสกัดจากใบแปะก๊วย (Ginkgo biloba) มีคุณสมบัติช่วยต้านอนุมูลอิสระในดวงตา


วิตามินเ ช่วยในการทำงานของจอประสาทตา พบมากในผักจำพวกชะอม คะน้า ยอดกระถิน ตำลึง ผักโขม และฟักทอง


วิตามินบี (บี 1 และ บี 12) ช่วยชะลอการเกิดต้อกระจก พบมากในไข่ เนื้อสัตว์ ตับและนมสด


วิตามินซี ช่วยชะลอการเกิดต้อกระจก พบมากในผลไม้ ได้แก่ ฝรั่ง ส้ม สับปะรด มะขามป้อม ส่วนผัก ได้แก่ กะหล่ำดอก บร็อคโคลี่


วิตามินอี ช่วยชะลอการเกิดต้อกระจกและพบในเซลล์รับแสงที่จอตา พบได้ในน้ำมัน ธัญพืช น้ำมันดอกคำฝอย ข้าวโพด และถั่วเหลือง


เบต้าแคโรทีน มีบทบาทในการต้านอนุมูลอิสระและช่วยการมองเห็นในเวลากลางคืน พบมากในผักผลไม้ที่มีสีเหลืองส้ม เช่น ผัก บุ้ง แครอท มะละกอ ข้าวโพดอ่อน หน่อไม้ฝรั่ง ข้อควรระวัง คือ การรับประทานเบต้าแคโรทีนในรูปอาหารเสริมเกินพอดี ควบคู่กับการสูบบุหรี่ อาจเพิ่มโอกาสเกิดมะเร็งปอดได้ 


        นอกจากนี้ การรับประทานอาหารเสริมหรือวิตามินเสริม ควรได้รับคำแนะนำจากแพทย์ เนื่องจากจักษุแพทย์จะเป็นผู้ประเมินระดับความเสื่อมของจอประสาทตา การซื้ออาหารเสริมหรือวิตามินเสริมมารับประทานเอง หากได้รับในปริมาณที่ไม่เหมาะสม อาจเกิดผลข้างเคียงได้ นอกจากนี้การรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ และพักผ่อนให้เพียงพอ จะช่วยให้ร่างกายสามารถนำวิตามินที่เสริมไปใช้ให้เกิดประโยชน์ได้อย่างเต็มที่


ข้อมูลอ้างอิง

-          ธนาคารดวงตา . (2010) . ธนาคารดวงตา (อาหารบำรุงดวงตา) . ภาควิชาจักษุวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

-          ศูนย์ดวงตาสภากาชาดไทย . (2020) . อาหารบำรุงสายตา . ศูนย์ดวงตาสภากาชาดไทย .