ความรู้จากแพทย์ศรีพัฒน์

ไทรอยด์เป็นพิษ (thyrotoxicosis)



ผศ.พญ.นิพาวรรณ  ไวศยะนันท์


แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบต่อมไร้ท่อ เบาหวาน ไทรอยด์


รหัสเอกสาร SD-HA-IMC-058-R-00


อนุมัติวันที่ 24 ธันวาคม 2557



    1.  ไทรอยด์เป็นพิษแบบต่อมไทรอยด์โตทั่วทั้งต่อม


    2.  ไทรอยด์เป็นพิษจากก้อนโตก้อนเดียว


    3.  ไทรอยด์เป็นพิษจากก้อนโตหลายก้อน



                                         รูปจาก www.vcharkarn.com


ไทรอยด์เป็นพิษแบบต่อมไทรอยด์โตทั่วทั้งต่อม (Graves’ disease)

        เกิดจากภูมิคุ้มกันต่อไทรอยด์ จับและกระตุ้นต่อมไทรอยด์ให้สร้างฮอร์โมนเพิ่มมากขึ้น ปัจจัยที่ทำให้เกิดภูมิคุ้มกันต่อไทรอยด์นั้นยังไม่ทราบแน่ชัด อาจเกี่ยวข้องกับพันธุกรรม การสัมผัสสารหรือเชื้อไวรัสบางชนิด เป็นต้น ผู้ป่วยไทรอยด์เป็นพิษชนิดนี้ อาจมีอาการทางตาและอาการทางผิวหนังร่วมด้วย

การรักษา โดยการกินยาต้านไทรอยด์ 1-2 ปี การผ่าตัด หรือการกลืนน้ำแร่ I131



ไทรอยด์เป็นพิษจากก้อนโตก้อนเดียว (Toxic adenoma) 

        เกิดจากก้อนของต่อมไทรอยด์หนึ่งก้อนสร้างฮอร์โมนมากขึ้น โดยไม่ขึ้นกับการควบคุมตามปกติของร่างกาย 

การรักษา โดยการผ่าตัด หรือการกลืนน้ำแร่ I131



ไทรอยด์เป็นพิษจากก้อนโตหลายก้อน (Multinodular goiter) 

        เกิดจากก้อนของต่อมไทรอยด์หลายก้อน บางก้อนสร้างฮอร์โมนมากขึ้นโดยไม่ขึ้นกับการควบคุมตามปกติ 

การรักษา โดยการผ่าตัด หรือการกลืนน้ำแร่ I131



อาการของไทรอยด์เป็นพิษ 

        ที่พบบ่อยได้แก่ ใจสั่น มือสั่น เหงื่อออกหงุดหงิดง่าย น้ำหนักลดแม้กินจุ บางรายอาจมาด้วยกล้ามเนื้ออ่อนแรง หัวใจเต้นผิดจังหวะ หัวใจวาย ตับอักเสบ ตัวเหลือง ซึมสับสน หรืออาการตาโปนกรอกตาไม่ได้



ผลกระทบของไทรอยด์เป็นพิษต่อร่างกาย

        มีผลเกือบทุกอวัยวะในร่างกาย แต่ที่สำคัญคือ หัวใจโต หัวใจเต้นเร็วหรือเต้นผิดจังหวะ กระดูกบาง ผมร่วง เล็บเปราะ ประจำเดือนผิดปกติและมีบุตรยาก



การวินิจฉัย

        เจาะเลือดเพื่อตรวจการทำงานของไทรอยด์ บางครั้งอาจตรวจเพิ่มเติมด้วยการอัลตราซาวน์ไทรอยด์ ตรวจการจับน้ำแร่ของไทรอยด์ วัดค่าภูมิคุ้มกันต่อไทรอยด์



การรักษาไทรอยด์เป็นพิษ


    1.  การกินยาต้านไทรอยด์

        ผลการรักษาดีเฉพาะกลุ่มไทรอยด์เป็นพิษแบบต่อมไทรอยด์โตทั่วต่อมเท่านั้น คือ หลังจากกินยาเป็นระยะเวลา 1-2 ปี พบว่าโรคสงบได้ประมาณครึ่งหนึ่ง ส่วนอีกครึ่งหนึ่งนั้นไม่สามารถลดปริมาณยาที่ใช้ได้ หรือเมื่อลดยาแล้วเกิดอาการกำเริบหรือไทรอยด์เป็นพิษกลับเป็นซ้ำ ซึ่งต้องการการรักษาด้วยวิธีอื่นต่อไป


        ส่วนไทรอยด์เป็นพิษจากก้อนโตก้อนเดียวหรือหลายก้อน การรักษาด้วยยาใช้เพียงเพื่อควบคุมระดับฮอร์โมนให้อยู่ในระดับปลอดภัยก่อนการรักษาด้วยการผ่าตัดหรือการกลืนน้ำแร่ I131 เท่านั้น  ยกเว้นผู้ป่วยบางรายที่ไม่สามารถรับการรักษาด้วยการผ่าตัดหรือการกลืนน้ำแร่ I131 อาจใช้ยาต้านไทรอยด์ควบคุมโรคไปตลอดชีวิต


        ยาต้านไทรอยด์หลักมี 2 ตัว คือ ยา PTU (Propylthiouracil) และยา MMI (Methimazole) ยาทั้งสองตัวออกฤทธิ์ยับยั้งการสร้างฮอร์โมนไทรอยด์เป็นหลัก ผลข้างเคียงเกิดขึ้น 1-5% เช่น ไข้ ผื่นลมพิษ ปวดข้อ ส่วนผลข้างเคียงรุนแรงที่ต้องหยุดยา (<1%)  คือ


        - เม็ดเลือดขาวต่ำรุนแรง (Agranulocytosis)

        - ตับอักเสบ (Transaminitis or cholestasis)

        - ปวดตามข้ออย่างรุนแรง (SLE-like arthritis)

        - เส้นเลือดอักเสบชนิด ANCA (ANCA- vasculitis)


        ดังนั้น หากผู้ป่วยมีอาการไข้สูงและ/หรือเจ็บคอมากอ่อนเพลีย คลื่นไส้ กินไม่ได้ ตัวเหลืองตาเหลือง ปวดข้อรุนแรง มีผื่นผิวหนังหรือมีอาการผิดปกติอื่น ควรรีบปรึกษาแพทย์


        ผู้ป่วยอาจได้รับยาควบคุมการเต้นของหัวใจร่วมด้วยโดยเฉพาะช่วงแรกของการรักษาเพื่อควบคุมอาการ หากผู้ป่วยมีอาการทางตา อาจได้รับยาหยอดตาหรือจำเป็นต้องรักษาตาควบคู่กับการกินยาต้านไทรอยด์ด้วย



    2.  การผ่าตัด

    คือการผ่าตัดต่อมไทรอยด์ออก วิธีนี้เป็นการรักษาซึ่งได้ผลทันที เป็นทางเลือกสำหรับผู้ป่วยที่ต่อมไทรอยด์โตมากจนกดเบียดอวัยวะข้างเคียง ผู้ที่ไม่สามารถกินยาหรือกลืนน้ำแร่ได้ ผู้ป่วยตั้งครรภ์ที่ไม่สามารถควบคุมโรคด้วยยา หรือผู้ที่สงสัยว่ามีมะเร็งไทรอยด์ซ่อนเร้นอยู่ด้วย เป็นต้น ในอดีตนิยมผ่าตัดต่อมออกโดยเหลือต่อมส่วนหนึ่งไว้เพื่อทำงานสร้างฮอร์โมนต่อ ทำให้ไม่ค่อยเกิดภาวะขาดไทรอยด์ฮอร์โมนตามมา อย่างไรก็ตามต่อมไทรอยด์ที่เหลือนั้นสามารถคืนเป็นพิษใหม่ได้  ปัจจุบันนิยมผ่าตัดต่อมไทรอยด์ออกทั้งหมด ซึ่งทำให้ไทรอยด์เป็นพิษหายขาด 100% แต่ย่อมมีภาวะขาดไทรอยด์ฮอร์โมนตามมา 100% เช่นกัน ซึ่งจำเป็นต้องได้รับฮอร์โมนชดเชยตลอดชีวิต แต่เมื่อได้รับฮอร์โมนชดเชยแล้ว ผู้ป่วยจะใช้ชีวิตได้ตามปกติ และไม่มีผล กระทบต่ออวัยวะอื่นของร่างกาย


    การผ่าตัดใช้เวลานอนโรงพยาบาลประมาณ 1 สัปดาห์ ผลข้างเคียงอาจเกิดขึ้นได้ 1-3% ได้แก่ เสียงแหบจากการกระทบกระเทือนเส้นประสาทเลี้ยงกล่องเสียง หรือแคลเซียมต่ำจากการกระทบกระเทือนต่อมพาราไทรอยด์ที่อยู่ใกล้เคียง ซึ่งทำหน้าที่ควบคุมระดับแคลเซียมในเลือด ผลดังกล่าวอาจเกิดขึ้นเพียงชั่วคราวหรือถาวรก็ได้



    3.  การกลืนน้ำแร่ I131

    ต่อมไทรอยด์ฝ่อลงและไทรอยด์เป็นพิษหายไป ใช้เวลาออกฤทธิ์เต็มที่ 4 - 6 เดือน อัตราการหายเกือบ 100% ภายหลังการกลืนน้ำแร่ I131 เพียง 1 - 2 ครั้ง โดยเฉพาะไทรอยด์เป็นพิษแบบต่อมไทรอยด์โตทั่วทั้งต่อม (Graves’ disease) มีเพียงบางรายเท่านั้นที่ต้องกลืนน้ำแร่ซ้ำหลายครั้ง โดยเฉพาะในไทรอยด์เป็นพิษจากก้อนโตหลายก้อน (Multinodular goiter) ผลข้างเคียงน้อยมาก คือ ต่อมน้ำลายอักเสบ อาการทางตาเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะในผู้ที่สูบบุหรี่ และมีภาวะขาดไทรอยด์ฮอร์โมนตามมาประมาณครึ่งหนึ่ง ซึ่งจำเป็นต้องได้รับฮอร์โมนชดเชยตลอดชีวิตเช่นกัน


        ผู้ป่วยควรควบคุมระดับฮอร์โมนให้ได้ก่อนเข้ารับการรักษาด้วยน้ำแร่ I131 เพราะต้องงดยาต้านไทรอยด์ช่วงสั้นๆ โดยยังสามารถกินยารักษาโรคอื่นได้ตามปกติ น้ำแร่ I131 ที่เข้าสู่ร่างกายจะถูกขับออกทางปัสสาวะอุจจาระ เหงื่อ น้ำลาย และสารคัดหลั่งทุกชนิดที่ออกจากร่างกาย ดังนั้น ผู้ป่วยควรปฏิบัติตัวในช่วง 3 - 7 วันหลังการกลืนน้ำแร่ ดังนี้

        - แยกห้องนอน แยกเตียงนอนกับผู้อื่น


        - แยกเสื้อผ้าซัก โดยใช้เครื่องซักผ้าเดียวกันแต่คนละรอบ


        - แยกชุดจานชามช้อนส้อมเป็นของตัวเอง และใช้ช้อนกลางตักอาหาร


        - ไม่เข้าที่ชุมนุมชน เช่น ตลาดนัด งานคอนเสิร์ต โรงหนัง 


        - ห้องน้ำสามารถใช้รวมกับผู้อื่นได้แต่ให้ราดน้ำเยอะๆ หรือกดชักโครก 2 ครั้งและใช้ทิชชูชุบน้ำเช็ดที่รองนั่งหลังจากทำธุระส่วนตัวเสร็จ


        - โต๊ะทำงานควรห่างจากโต๊ะข้างเคียงอย่างน้อย 1 เมตร หากทำงานใกล้ชิดผู้อื่น ท่านอาจจำเป็นต้องหยุดงาน


        - การเดินทาง ควรเลี่ยงการนั่งรถสาธารณะ ถ้าจำเป็นควรนั่งที่นั่งเดี่ยว หากใช้รถส่วนตัวให้นั่งเบาะหลังด้านตรงข้ามกับคนขับและไม่มีผู้อื่นนั่งข้าง


        - ห้ามตั้งครรภ์


    ผู้ป่วยหญิงวัยเจริญพันธุ์ทุกคน ต้องคุมกำเนิดทั้งก่อนกลืนน้ำแร่และหลังกลืนน้ำแร่ อีกอย่างน้อย 6 เดือนหรือจนกว่าจะควบคุมระดับฮอร์โมนได้

หลังจากรับการรักษาไทรอยด์เป็นพิษหายไม่ว่าด้วยวิธีการใด ควรตรวจการทำงานไทรอยด์ปีละครั้งตลอดชีวิต



Call Center : 0-5393-6900-1 / คลินิกอายุรกรรม ; 0-5393-6909-10
Line iD : @sriphat