ความรู้จากแพทย์ศรีพัฒน์

เส้นประสาทสมองที่ 7 อักเสบ (Bell’s palsy) ตื่นมาแล้วหน้าเบี้ยว หลับตาไม่สนิท น้ำลายไหลออกจากมุมปาก ทำยังไงดี




เส้นประสาทสมองที่ 7 อักเสบ คือโรคอะไร ?

 

เป็นภาวะที่เส้นประสาทสมอง (Cranial nerve) ที่ควบคุมกล้ามเนื้อบริเวณใบหน้าถูกทำลายและสูญเสียการทำงาน ทำให้มีอาการใบหน้าเบี้ยวครึ่งซีก หนังตาและมุมปากตก น้ำลายไหลจากมุมปาก สามารถพบได้ในทุกเพศและทุกเชื้อชาติ พบบ่อยในผู้ป่วยเบาหวานและผู้ที่ตั้งครรภ์





ใช่อัมพฤกษ์หรือไม่ ?

เป็นคนละโรคกัน ผู้ป่วยที่มีภาวะโรคหลอดเลือดสมองอาจมีอาการหน้าเบี้ยวได้ แต่จะยังคงสามารถยักคิ้วและหลับตาได้สนิทในด้านเดียวกับที่มีมุมปากตก และมักมีอาการอ่อนแรงแขนและขาครึ่งซีกร่วมด้วย อย่างไรก็ตามควรรีบพบแพทย์เพื่อแยกภาวะนี้ให้ถูกต้อง

 

เกิดจากอะไร ?

โรคนี้เกิดจากการอักเสบของเส้นประสาทสมอง (Cranial nerve) ที่ไปเลี้ยงกล้ามเนื้อใบหน้า ส่วนหนึ่งพบหลักฐานว่าเกิดได้จากการติดเชื้อไวรัส ที่พบบ่อยคือเชื้อเริม (Herpes simplex virus), งูสวัด (Herpes zoster), Cytomegalovirus และ Ebstein-Barr virus

 

มีอาการอย่างไรบ้าง ?

มีอาการอ่อนแรงของกล้ามเนื้อใบหน้าครึ่งซีก ทำให้ยักคิ้วไม่ได้ หนังตาและมุมปากตก ปิดตาไม่สนิท โดยอาการเป็นมากน้อยไม่เท่ากันในแต่ละราย นอกจากนี้ยังพบอาการเสียงดังในหูและอาการสูญเสียการรับรสชาติที่ปลายลิ้นด้านที่มีอาการ อาการจะปรากฏชัดเจนใน 1-2 วัน โดยส่วนใหญ่จะเริ่มดีขึ้นใน 3 สัปดาห์หลังจากเริ่มมีอาการครั้งแรก และค่อยๆหายสนิทต้องใช้เวลา 3-6 เดือน





วินิจฉัยได้อย่างไร ?

การวินิจฉัยอาศัยเพียงการซักประวัติและตรวจร่างกาย ยกเว้นในรายที่มีอาการสงสัยโรคอื่นหรืออาการยังคงไม่ดีขึ้น เมื่อเวลาผ่านไป 2 เดือน อาจตรวจ เพิ่มเติม โดยการทำเอกซเรย์สะท้อนคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าสมอง (MRI) หรือการตรวจไฟฟ้าวินิจฉัยตามความเหมาะสม




รักษาอย่างไร ?

การรักษาด้วยยา

ผู้ป่วยที่มาพบแพทย์ใน 2-3 วันแรกหลังจากเริ่มมีอาการ จะได้รับ ยากลุ่มสเตอรอยด์ เป็นเวลา 1 สัปดาห์ ซึ่งจะช่วยลดการบวมและการอักเสบของเส้นประสาท ซึ่งจะช่วยให้อาการดีเร็วขึ้น ยาต้านไวรัส อาจนำมาใช้คู่กับยาสเตอรอยด์ในกลุ่มที่มีอาการรุนแรงหรือสงสัยว่าเกิดจากเชื้อเริมหรืองูสวัด การรักษาจะช่วยให้อาการดีขึ้นเร็วกว่าเดิม โดยเฉพาะถ้าได้รับการรักษาใน 2-3วันแรก

การดูแลตา

การหลับตาไม่สนิท เป็นเหตุให้เกิดแผลที่กระจกตา ควรใส่ที่ป้องกันตาเพื่อป้องกันตาแห้ง ใช้น้ำตาเทียมหยอดตาในช่วงกลางวัน และใช้ยาสำหรับป้ายตาเพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นและปิดตาให้สนิทในตอนกลางคืน



รักษาหายหรือไม่ ?

โรคนี้สามารถหายได้เอง แต่การรักษาจะช่วยให้โรคหายเร็วขึ้น โดยทั่วไปผู้ป่วยที่เริ่มมีการฟื้นตัวภายใน 3สัปดาห์แรก มักมีโอกาสหายได้สูง มีผู้ป่วยเพียงส่วนน้อยที่มีการฟื้นตัวไม่ดี ในกรณีบางรายอาจจำเป็นต้องได้รับการการตรวจไฟฟ้าวินิจฉัย หลังมีอาการประมาณ 2 สัปดาห์ เพื่อช่วยยืนยันพยาธิสภาพของเส้นประสาท ความรุนแรงของโรค และบอกโอกาสในการฟื้นตัวของเส้นประสาทได้

 

การติดตามอาการและภาวะแทรกซ้อน

             แม้ว่าผู้ป่วยส่วนใหญ่จะหายเป็นปกติ แต่ในรายที่มีอาการรุนแรง หลังจากเริ่มมีการฟื้นตัวแล้ว อาจมีการงอกที่ผิดปกติของเส้นประสาท ทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น อาการปากกระตุกเวลาหลับตา หนังตาจะปิดเองเวลายิ้ม มีน้ำตาไหลเวลาเคี้ยวอาหาร เป็นต้น หลังเข้ารับการรักษาแล้ว ควรมาตรวจตามนัดกับแพทย์อย่างสม่ำเสมอเพื่อติดตามอาการและภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นได้

*** ข้อมูลเพิ่มเติมสามารถสอบถามจากแพทย์ผู้ดูแล



ติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่
Call Center : 0-5393-6900-1 / คลินิกอายุรกรรม : 0-5393-6909-10
Line iD : @sriphat