ความรู้จากแพทย์ศรีพัฒน์

ลูกทานยากไม่อยากอาหาร ควรทำอย่างไร



รศ.นพ.ณัฐพงษ์ อัครผล

กุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบทางเดินอาหาร

รหัสเอกสาร PI-IMC-336-R-00

อนุมัติวันที่ 28 มกราคม 2564


        การเจริญเติบโตของลูกน้อย เป็นสิ่งที่พ่อแม่ให้ความสนใจและใส่ใจดูแล ซึ่งพ่อแม่มักเป็นกังวลใจเสมอเมื่อเห็นลูกผอม หรือมีน้ำหนักและส่วนสูงไม่เป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐาน โดยสาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากการรับประทานอาหาร ลูกอาจทานยาก ไม่ยอมทานอะไรมากนัก ห่วงเล่น รับประทานอาหารแต่ละมื้อใช้เวลานานหรือทานนิดเดียวก็อิ่ม รวมทั้งเลือกทานเฉพาะอาหารที่ชอบ ไม่ทานผักผลไม้ หรือเลือกทานอาหารแค่บางอย่างเท่านั้น ซี่งปัญหาเหล่านี้ส่งผลกระทบโดยตรงต่อร่างกายและพัฒนาการของเด็ก


ทานน้อยเกินไป ส่งผลอย่างไรต่อเด็ก

        ปัญหาการรับประทานอาหาร นอกจากส่งผลต่อร่างกาย เช่น การเจริญเติบโตแล้ว ยังส่งผลกระทบต่อพัฒนาการและการเรียนรู้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านสมองและความเฉลียวฉลาด เนื่องจากในช่วง 3 ขวบปีแรก สมองของเด็กจะเจริญเติบโตและแบ่งเซลล์อย่างมาก โดยมีขนาดประมาณ 75-80 % ของสมองผู้ใหญ่ และจะเจริญเติบโตต่อไปอย่างรวดเร็ว จนอายุ 5-7 ปี สมองของเด็กจะมีขนาดใหญ่เป็น 90% ของสมองผู้ใหญ่ ดังนั้น การรับประทานอาหารที่ดีมีประโยชน์ตั้งแต่วัยเด็ก จะมีผลต่อความเฉลียวฉลาดในอนาคต รวมทั้งผลกระทบอื่นๆ อีกหลายด้าน

        ดังนั้น เด็กควรได้รับการประเมินภาวะโภชนาการอยู่เสมอ เพื่อป้องกันไม่ให้เป็นโรคขาดสารอาหาร โดยวิธีที่ง่ายที่สุด คือ การชั่งน้ำหนักและวัดส่วนสูงเทียบกับกราฟมาตรฐานตามอายุและเพศ ซึ่งสามารถดูได้จากคู่มือสุขภาพของเด็กเวลาพาไปฉีดวัคซีน


ข้อแนะนำในการรับประทานอาหาร

        หากลูกมีน้ำหนักและส่วนสูงต่ำกว่าเกณฑ์ค่อนข้างมาก พ่อแม่ควรพาลูกไปพบกุมารแพทย์เพื่อตรวจร่างกาย และประเมินว่าลูกมีความผิดปกติทางร่างกายหรือไม่ ซึ่งแพทย์อาจพิจาณาตรวจอย่างละเอียด โดยมีข้อแนะนำเบื้องต้น ดังนี้

-          ให้ลูกรับประทานอาหารครบ 5 หมู่ในแต่ละวัน

-          เลือกอาหารที่มีโปรตีนและพลังงานสูง ขั้นตอนการเตรียมอาหาร เตรียมโดยการทอด ผัด โดยใช้น้ำมันพืชเพื่อเพิ่มพลังงาน

-          ดื่มนมทุกวัน

-          รับประทานไข่ทุกวัน อาจเป็นไข่เจียวหรือไข่ดาว โดยหั่นเป็นชิ้นเล็กๆ

-          รับประทานอาหารให้หลากหลายและหมั่นสังเกตว่าลูกชอบอาหารแบบไหน อะไรบ้าง รสชาติอย่างไร และทำอาหารที่ลูกชอบ พร้อมทั้งหัดให้รับประทานอาหารอื่นๆ หลากชนิดด้วย

-          ควรทานผักและผลไม้ทุกวัน ถ้าจำเป็นอาจต้องเสริมวิตามินและแร่ธาตุด้วย

-          ถ้ารับประทานอาหารในแต่ละมื้อได้น้อย ต้องพยายามให้กินบ่อยๆ


ข้อมูลอ้างอิง

ดร.นพ.ประสงค์ เทียนบุญ . วารสารโภชนบำบัด 2546 : 122-129 .