ผศ.นพ.ศุภณ ศรีพลากิจ
ศัลยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญระบบปัสาวะ
รหัสเอกสาร PI-IMC-332-R-00
อนุมัติวันที่ 28 มกราคม 2564
ต่อมลูกหมาก เป็นหนึ่งในอวัยวะที่มีส่วนช่วยในการสืบพันธุ์ของเพศชาย ซึ่งพบว่าฮอร์โมนเพศชาย (เทสโทสเตอโรน) มีความสัมพันธ์กับการเจริญเติบโตของมะเร็งต่อมลูกหมาก โดยเป็นตัวกระตุ้นมะเร็งให้โตอย่างรวดเร็ว และเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตของผู้ป่วย
ต่อมลูกหมาก คืออะไร
ต่อมลูกหมาก (Prostate gland) เป็นอวัยวะที่มีส่วนช่วยในการสืบพันธุ์ มีลักษณะคล้ายผลวอลนัท วางอยู่ใต้กระเพาะปัสสาวะต่อกับท่อปัสสาวะ และห่อหุ้มท่อปัสสาวะไว้ ต่อมลูกหมากจะวางตัวทางด้านหน้าของลำไส้ใหญ่ส่วนล่าง (Rectum) ห่างกันเพียง 2-3 มิลลิเมตร ด้านข้างทั้ง 2 ข้างของต่อมลูกหมากเป็นเส้นเลือดและเส้นประสาท
มะเร็งต่อมลูกหมากเป็นอย่างไร
มะเร็งต่อมลูกหมาก ( Prostate Cancer) เป็นการเติบโตที่ผิดปกติของเซลล์ของต่อมลูกหมาก ในระยะแรกเซลล์เหล่านี้จะเริ่มเติบโตเป็นจุดเล็กๆ แต่ในสถานการณ์บางอย่าง เซลล์พวกนี้จะสูญเสียการควบคุมและเริ่มต้นเติบโตจนถึงจุดที่เหมาะสม และเติบโตเลยจุดนี้รวดเร็วขึ้น โดยปกติมะเร็งต่อมลูกหมากจะเติบโตไม่เร็วนัก และมีระยะเวลาโตเป็น 2 เท่านานถึง 150 วัน แต่ในจุดที่เหมาะสมจะโตเร็วมากและเป็นสิ่งที่ทำให้ผู้ป่วยถึงแก่ชีวิตได้
สิ่งที่เป็นตัวกระตุ้นมะเร็งต่อมลูกหมากให้โตอย่างรวดเร็ว คือ ฮอร์โมนเพศชาย (เทสโทสเตอโรน) เมื่อได้รับการกระตุ้นมะเร็งจะโตในเนื้อเยื่อของต่อมเอง และกระจายสู่แคปซูลไขมันรอบๆ ต่อมลูกหมาก กระเพาะปัสสาวะหรือถุงทำเชื้อ จุดนี้มะเร็งต่อมลูกหมากมักกระจายออกสู่ร่างกายส่วนอื่นๆ 2 จุดสำคัญ คือ ต่อมน้ำเหลืองและกระดูก ซึ่งได้แก่ กระดูกสันหลังและซี่โครง
การวินิจฉัย
การตรวจวินิจฉัยมะเร็งต่อมลูกหมากทำได้ยาก เพราะเป็นอวัยวะที่เข้าถึงลำบาก ซึ่งการตรวจต้องใช้นิ้วคลำผ่านทางทวารหนัก ในผู้ป่วยที่มีอาการปัสสาวะผิดปกติ ได้แก่ ปัสสาวะบ่อย ปัสสาวะกลางดึก มีเลือดปนอยู่ในอสุจิ เป็นต้น ถ้ามีการตรวจพบผิวที่ผิดปกติ เช่น ผิวไม่เรียบ จำเป็นต้องมาเจาะตรวจชิ้นเนื้อเพิ่มเติม
ในปัจจุบันนี้มีการตรวจเลือดเพี่อวัดสารที่มีชื่อว่า PSA (พี เอส เอ Prostatic Specific Antigen) เป็นสารที่สร้างจากต่อมลูกหมาก ในกรณีที่มีต่อมลูกหมากอักเสบหรือมีมะเร็ง แม้แต่ลูกหมากโตก็ตาม จะทำให้ค่า PSA ในเลือดสูงขึ้นได้ โดยปกติจะยึดถือค่า PSA มากกว่า 4 นาโนกรัมต่อมิลลิลิตรเป็นหลัก แต่ในประเทศที่มีความชุกของมะเร็งต่อมลูกหมากสูง จะใช้ค่ามากกว่า 3 นาโนกรัมต่อมิลลิลิตรเป็นหลัก ถ้าผู้ป่วยมีค่า PSA สูงกว่าค่าดังกล่าว ควรได้รับการเจาะตรวจชิ้นเนื้อผ่านทางทวารหนัก หรือปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในระบบทางเดินปัสสาวะ
การรักษา
การรักษาในกรณีผู้ป่วยได้รับการพิสูจน์อย่างแน่ชัดว่าเป็นมะเร็งแล้ว จะพิจารณาการรักษาผู้ป่วยตามขั้นของมะเร็ง โดยแบ่งเป็น 4 ขั้น คือ
ขั้นที่ 1 เป็นระยะแรกของมะเร็ง การรักษามุ่งมั่นที่จะหายขาด ประกอบด้วยการผ่าตัด การฉายรังสี การฝังแร่
ขั้นที่ 2 หรือระยะที่ 2 ประกอบด้วยการรักษาเช่นเดียวกับระยะแรก แต่ผลไม่ค่อยดีนัก
ขั้นที่ 3 หรือระยะที่ 3 การรักษามักไม่หายขาด จะใช้วิธีการให้การรักษาร่วมกันระหว่างรังสีและยาฮอร์โมน
ขั้นที่ 4 หรือระยะที่ 4 การรักษาแบบประคับประคองเท่านั้น เพื่อให้มีชีวิตยืนยาวอย่างมีคุณภาพ โดยใช้ยาฮอร์โมนและยาอื่นๆ เช่น เคมีบำบัด
การรักษามะเร็งต่อมลูกหมากด้วยการใช้ยา
ในปัจจุบันได้มีการใช้ยาฮอร์โมน LHRHa เป็นทางเลือกของแพทย์ในการรักษาผู้ป่วยผู้ป่วยมะเร็งต่อมลูกหมากระยะสุดท้าย การรักษาด้วยการใช้ยา LHRHa จะมีประสิทธิภาพในการลดระดับฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนในร่างกายเทียบเท่าการผ่าตัดเอาลูกอัณฑะออก ซึ่งจะทำให้ผู้ป่วยอยู่ในสภาวะที่ขาดฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนชั่วคราว จึงทำให้การลุกลามของโรคช้าลงไป ยา LHRHa เป็นยาฉีดเข้ากล้ามเนื้อ สามารถให้ได้ทุก 1 เดือน หรือทุก 3 เดือน การเลือกขนาดยาเป็นการกำหนดว่าผู้ป่วยจะต้องมาพบแพทย์บ่อยเพียงใดเพื่อรับยานี้ ทั้งนี้ การรักษาที่เหมาะสมสำหรับผู้ป่วยแต่ละราย จะเป็นการวางแผนร่วมกันระหว่างแพทย์และผู้ป่วย
มะเร็งต่อมลูกหมาก เป็นโรคที่รักษาได้ แต่ต้องอาศัยการตรวจพบได้ตั้งแต่ขั้นแรกของมะเร็ง ดังนั้น การตรวจ PSA เป็นประจำ อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง และหมั่นพบแพทย์เมื่อมีอาการผิดปกติของระบบปัสสาวะ จะเป็นการเฝ้าระวังการเกิดโรคมะเร็งต่อมลูกหมากได้