อ.พญ.วิมาลา วิวัฒน์มงคล
อายุรแพทย์โรคหัวใจ
รหัสเอกสาร SD-HA-IMC-027-R-00
อนุมัติวันที่ 22 กันยายน 2557
ภาวะความดันโลหิตสูง หมายถึง ภาวะที่หัวใจบีบตัวสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ของร่างกาย โดยมีแรงดันในหลอดเลือดสูงกว่าปกติ ซึ่งค่าความดันโลหิตนั้นจะมีอยู่ 2 ค่า ได้แก่ ค่าความดันโลหิตขณะที่หัวใจบีบตัว เรียก “ ความดันซิสโตลิกหรือค่าความดันตัวบน ” และค่าความดันโลหิตขณะที่หัวใจคลายตัว เรียก “ ความดันไดแอสโตลิกหรือค่าความดันตัวล่าง ”
ในภาวะที่มีความดันโลหิตสูง คือ การที่ความดันซิสโตลิกหรือค่าความดันตัวบนมากกว่าหรือเท่ากับ 140 มิลลิเมตรปรอท และความดันไดแอสโตลิกหรือค่าความดันตัวล่างมากกว่าหรือเท่ากับ 90 มิลลิเมตรปรอท หรือมากกว่าหรือเท่ากับ140/90 ในขณะพัก
หลักในการวัดความดันโลหิต
1. ก่อนวัดความดันโลหิตควรนั่งพักอย่างน้อยประมาณ 15 นาที ก่อนที่จะทำการวัด
2. งดสูบบุหรี่ ดื่มสุรา ชา กาแฟ ก่อนวัดความดันโลหิต
3. ควรวัดความดันโลหิตในท่านั่งหรือนอนราบ
4. ควรวัดความดันโลหิตในท่าเดียวกันอย่างน้อย 2 ครั้งขึ้นไป แล้วเฉลี่ยความดันโลหิต
5. ทำจิตใจให้สบาย ผ่อนคลายขณะวัดความดันโลหิต เนื่องจากความเครียดหรือความวิตกกังวลอาจทำให้ความดันโลหิตขณะวัดสูงกว่าปกติได้
ปัจจัยส่งเสริมการเกิดความดันโลหิตสูง
1. อายุที่เพิ่มขึ้น
2. กรรมพันธุ์
3. ความเครียด
4. ความอ้วน
5. การสูบบุหรี่
6. การดื่มสุรา ชา กาแฟ
7. การรับประทานอาหารเค็มหรือมีเกลือโซเดียมสูง
8. ภาวะโรคบางอย่าง เช่น โรคไต เบาหวาน คอพอกเป็นพิษ โรคหลอดเลือดแข็งหรือตีบแคบ โรคทางสมอง เช่น เนื้องอก โรคลิ้นหัวใจตีบหรือรั่ว
9. ยาคุมกำเนิด
อาการของโรคความดันโลหิตสูง
1. ในระยะเริ่มต้นมักไม่มีอาการ
2. อาจมีอาการปวดศีรษะบริเวณท้ายทอย ตึงบริเวณต้นคอ เวียนศีรษะ มึนงง
3. ถ้าความดันโลหิตสูงมาก อาจจะมีอาการตาพร่ามัว มองเห็นภาพไม่ชัด ปวดบริเวณเบ้าตาหรือเส้นเลือดฝอยในตาแตก คลื่นไส้อาเจียน
4. อาจมีอาการอึดอัดแน่นหน้าอก เหนื่อยง่าย
ภาวะแทรกซ้อนจากความดันโลหิตสูง
1. หัวใจ เกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจหนาตัว หัวใจห้องล่างซ้ายโตขึ้น จนกระทั่งเกิดภาวะหัวใจล้มเหลวได้ เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจตีบตัน
2. สมอง อาจเกิดหลอดเลือดในสมองตีบตันหรือแตก กลายเป็นโรคอัมพฤกษ์อัมพาต ซึ่งเป็นภาวะแทรกซ้อนที่พบได้บ่อยในรายที่เป็นเรื้อรัง ในบางรายที่มีความดันโลหิตสูงรุนแรงเกิดอย่างเฉียบพลัน อาจทำให้เกิดอาการชักและหมดสติได้
3. ไต อาจเกิดภาวะไตเสื่อมเรื้อรัง และย้อนกลับมาส่งเสริมให้ความดันโลหิตสูงขึ้นอีกด้วย
4. ตา มีอาการเสื่อมของหลอดเลือดแดงภายในตาอย่างช้าๆ ทำให้ระบบประสาทตาเสื่อม ตามัว
การปฏิบัติตัวเมื่อมีภาวะความดันโลหิตสูง
1. ควบคุมอาหาร โดยการหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีรสเค็มจัด ควรจำกัดปริมาณเกลือโซเดียม (โซเดียมคลอไรด์-เกลือแกง โมโนโซเดียมกลูตาเมต(ผงชูรส ผงปรุงรส) โซดาไบคาร์บอเนต (ผงฟู) และไม่รับประทานอาหารที่มีไขมันสูง
2. ดื่มน้ำสะอาดให้เพียงพอ วันละ 2-3 ลิตร
3. ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ อย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 ครั้ง ครั้งละ 20 นาทีขึ้นไป
4. นอนหลับพักผ่อนอย่างเพียงพอ ประมาณวันละ 6-8 ชั่วโมง
5. งดสูบบุหรี่
6. ควบคุมปริมาณการดื่มสุรา ชา กาแฟ
7. ป้องกันไม่ให้อ้วนมากเกินไป
8. ทำจิตใจให้สบาย ลดความเครียด วิตกกังวล เช่น หางานอดิเรกที่ชอบทำ อ่านหนังสือ ดูโทรทัศน์ ฟังเพลง พูดคุยกับคนใกล้ชิดหรือเพื่อนสนิท เผชิญกับปัญหาอย่างเหมาะสม
9. หลีกเลี่ยงจากการยกของหนัก แบกของหนักหรือใช้แรงมากๆ
10. สตรีที่มีความดันโลหิตดันสูงจากยาคุมกำเนิด ควรปรึกษาแพทย์เพื่อหาวิธีการคุมกำเนิดที่เหมาะสม
11. สำหรับผู้ที่รักษาด้วยการรับประทานยา ควรรับประทานยาอย่างสม่ำเสมอ ไม่หยุดยาเองหรือเปลี่ยน ยา นอกจากนั้นผู้ป่วยสามารถวัดความดันโลหิตที่บ้าน พร้อมกับบันทึกไว้เพื่อเป็นข้อมูลในการพบแพทย์ครั้งต่อไป
ภาวะความดันโลหิตสูงนั้น ส่วนใหญ่มักไม่มีอาการ แต่ไม่ได้หมายความว่าไม่ได้มีภาวะความดันโลหิตสูง จึงควรตรวจเช็คความดันโลหิตอย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง หากพบความดันโลหิตสูง ควรได้รับการรักษาจากแพทย์อย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอ เนื่องจากหลักในการรักษาความดันโลหิตสูงคือ การป้องกันไม่ให้เกิดภาวะแทรกซ้อนจากการมีภาวะความดันโลหิตสูง เช่น ภาวะหัวใจล้มเหลว ไตวาย หรืออัมพาต กรณีที่ความดันโลหิตสูงกลับลงมาอยู่ในระดับที่ปกติ แพทย์ก็จะติดตามและปรับขนาดยาให้เหมาะสม เพื่อควบคุมและป้องกันภาวะแทรกซ้อน ผู้ป่วยควรปฏิบัติด้วยการรับประทานยาตรงตามที่แพทย์สั่งการรักษาอย่างเคร่งครัด
12. โปรดเก็บรักษาเม็ดยาไว้ในแผงหรือบรรจุภัณฑ์ ที่มาจากแหล่งผลิต เพื่อรักษาคุณภาพของยาให้ได้มาตรฐาน