ความรู้จากแพทย์ศรีพัฒน์

ผู้ป่วยไตเรื้อรังควรทำตัวอย่างไรช่วงโควิด-19 .


อ.นพ.ณัฐพล เลาหเจริญยศ

แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคไต

รหัสเอกสาร PI-IMC-328-R-00

อนุมัติวันที่ 28 มกราคม 2564


โรคไตเกี่ยวอย่างไรกับโควิด-19

        สำหรับผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น ผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรังหรือไตเสื่อม ทั้งที่ต้องทำการบำบัดทดแทนไต (การฟอกเลือด,การฟอกไตทางหน้าท้อง) และกลุ่มที่ยังไม่ต้องรับการบำบัดทดแทนไต เป็นกลุ่มผู้ป่วยที่เมื่อติดเชื้อโควิด-19 แล้วมีโอกาสเกิดอาการรุนแรงและเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ เนื่องจากภาวะภูมิคุ้มกันที่ถดถอย อีกทั้งการทำงานของอวัยวะในร่างกายมีความเสื่อม

 


คำแนะนำสำหรับผู้ป่วยโรคไตเรื้อรัง

         - ช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19  ทำให้ผู้ป่วยโรคไตหลายๆ คน ทำกิจกรรมอยู่ในบ้าน ไม่อยากออกไปไหน เช่นดูทีวีหรือนั่งทำงาน ควรระมัดระวังเรื่องการรับประทานอาหารให้มากขึ้น ไม่ควรทานขนมขบเคี้ยวหรือบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปมากเกินไป เนื่องจากมีโซเดียมและฟอสฟอรัสมาก ควบคุมเรื่องการทานผักผลไม้ เช่น ทุเรียน กล้วยลำไย ลูกเกด ลูกพรุน ซึ่งมีโพแทสเซียมสูง และอาจส่งผลให้โพแทสเซียมในเลือดสูงเกินไป ทำให้หัวใจเต้นผิดจังหวะ รวมไปถึงการรับประทานอาหารจำพวกของหวานและแป้งที่ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูง และส่งผลให้ไตเสื่อมไวในที่สุด


 

         -  ไม่ควรนั่งหรือนอนทั้งวัน เนื่องจากเพิ่มโอกาสในการเกิดติดเชื้อและนิ่วในทางเดินปัสสาวะ รวมไปถึงโรคหัวใจและหลอดเลือด ควรออกกำลังกายชนิดต่อเนื่อง เช่น การเดินรอบๆ ในบริเวณบ้าน การเต้นแอโรบิก ออกกำลังกายประมาณวันละ 30-60 นาที อย่างน้อย 3-5 วันต่อสัปดาห์ ควรออกกำลังในช่วงเช้าหรือเย็น และควรหยุดออกกำลังกายเมื่อรู้สึกเหนื่อย หายใจไม่ทัน เจ็บหน้าอก รู้สึกหัวใจเต้นผิดจังหวะ แน่นท้อง ตะคริว เวียนศีรษะ จะเป็นลม


 

         - ควรดูแลอาการของโรคหรือป้องกันภาวะแทรกซ้อนต่างๆ เพื่อที่จะไม่ทำให้ไตเสื่อมเร็ว เช่น ควบคุมความดันโลหิตให้อยู่ในระดับไม่เกิน 130/80 มิลลิเมตรปรอท ควบคุมน้ำตาลให้อยู่ในช่วง 80-120 มิลลิกรัม/เดซิลิตร(มก./ดล.) หรืออย่างน้อยต้องไม่เกินกว่า 130 มิลลิกรัม/เดซิลิตร(มก./ดล.) ในผู้ป่วยที่เป็นเบาหวาน รวมถึงรับการรักษาอย่างต่อเนื่องในโรคที่เป็นเรื้อรัง เช่น ไตเสื่อมจากเอสแอลอี (SLE) นิ่วหรือถุงน้ำในไต เป็นต้น ปัจจัยสำคัญอันหนึ่ง คือ การรับประทานยาอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งผู้ ป่วยสามารถเลือกใช้บริการจัดส่งยาทางไปรษณีย์ ในกรณีที่อาการคงที่และได้รับความเห็นชอบจากแพทย์แล้วว่าสามารถรับยาเดิมทางไปรษณีย์ได้ ซึ่งเป็นทางเลือกหนึ่งที่ทำให้ผู้ป่วยสามารถทานยาตามคำสั่งการรักษาของแพทย์ได้อย่างต่อเนื่อง และปลอดภัยจากความเสี่ยงต่อการติดเชื้อจากภายนอกบ้านอย่างไรก็ตามผู้ป่วยควรมาปรึกษาแพทย์เสมอเมื่อมีอาการผิดปกติ 



คำแนะนำสำหรับผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังที่ต้องรับการรักษาโดยการฟอกเลือด

         ถือเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงมากกว่าคนปกติ เพราะต้องฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียมสัปดาห์ละ 2-3 ครั้ง ที่โรงพยาบาลหรือศูนย์ไตเทียม ซึ่งเพิ่มโอกาสเสี่ยงต่อการติดเชื้อโควิด-19 เนื่องจากได้พบปะผู้คนจำนวนมากระหว่างเดินทาง อีกทั้งผู้ป่วยบางคนต้องใช้รถขนส่งสาธารณะ ยิ่งเพิ่มโอกาสเสี่ยงมากขึ้นไปอีก ดังนั้น ผู้ป่วยที่มารับการรักษาด้วยการฟอกไต ต้องสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลาเมื่อออกจากบ้าน และขณะทำการฟอกไต เพื่อป้องกันการไอ จามของตัวเองและบุคคลอื่น อีกทั้งควรล้างมือหรือพ่นแอลกอฮอล์บ่อยๆ เนื่องจากผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ การเดินไปมาหรือการเดินขึ้นลงบันไดอาจต้องมีการจับราวบันได ผนัง หรือสิ่งใกล้มือ ซี่งอาจจะทำให้เกิดการติดเชื้อโควิด-19 ได้ง่าย

         


ข้อมูลอ้างอิง

อ.นพ.ณัฐพล เลาหเจริญยศ . กักตัวอยู่บ้านอย่างไรไม่ให้ไตเสื่อม . ศูนย์ศรีพัฒน์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ . แหล่งข้อมูล : https://sriphat.med.cmu.ac.th/th/knowledge-500 . ค้นเมื่อวันที่ 8 มกราคม 2564 .