ความรู้จากแพทย์ศรีพัฒน์

ปฏิบัติตัวอย่างไร ช่วยชะลอไตเสื่อม


อ.นพ.ณัฐพล เลาหเจริญยศ

อายุรแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคไต

รหัสเอกสาร PI-IMC-327-R-00

อนุมัติวันที่ 28 มกราคม 2564 

 

        โดยทั่วไปเมื่อคนเราอายุมากกว่า 30 ปี ไตจะเริ่มทำงานลดลงหรือเสื่อมลงตามธรรมชาติ โดยเฉลี่ยทำงานลดลงร้อยละ 1 ต่อปี  ในกรณีที่ไตเสื่อมลงอย่างรวดเร็วหรือหยุดทำงานทันที เรียกว่า ไตวายเฉียบ พลัน ซึ่งการทำงานของไตอาจกลับมาเป็นปกติได้ หากได้รับการรักษาที่ทันท่วงที  แต่ถ้าไตเสื่อมลงอย่างช้าๆ ต่อเนื่องหรือมีความผิดปกติของไตเกินกว่า 3 เดือน จะเรียกว่า โรคไตเรื้อรัง สำหรับการดูแลตัวเองเพื่อให้ไตอยู่กับเราไปได้นานๆ มีคำแนะนำดังต่อไปนี้

 


ปฎิบัติตัวอย่างไร ช่วยชะลอไตเสื่อม

- ควบคุมการรับประทานอาหารประเภทโปรตีน  เนื่องจากไตทำหน้าที่ขับทิ้งของเสียที่เกิดขึ้นจากโปรตีนที่มาจากเนื้อสัตว์และพืช เพื่อไม่ให้ไตทำงานหนักเกินไปควรจำกัดจำนวนโปรตีนที่ได้ในแต่ละวัน ควรหลีกเลี่ยงโปรตีนจากพืชและควรทานโปรตีนจากเนื้อสัตว์ที่มีคุณภาพดี เช่น เมนูปลา นึ่งต้ม ทอด ย่าง, เมนูไข่ขาว ไข่ขาวต้ม เจียว ดาว ตุ๋น , ไก่ย่าง ไก่ทอด ไก่อบ , หมูทอด หมูปิ้ง หมูอบ , ลูกชิ้นทอด ลูกชิ้นปิ้ง, กุ้งนึ่ง กุ้งเผา กุ้งทอด กุ้งชุบแป้งทอด และ หลีกเลี่ยงอาหารที่ทำจากเนื้อสัตว์ที่มีไขมันมาก ได้แก่ เครื่องในสัตว์ หนังหมู หนังไก่ เนื้อติดมัน ซี่โครง หมูติดมัน คอหมูย่าง เป็ดปักกิ่ง หมูสามชั้น หมูกรอบ ไข่ปลา ไข่แดงหลีกเลี่ยงเนื้อสัตว์บางประเภทที่มีคุณค่าอาหารต่ำ เช่น เอ็นหมู วัว ข้อไก่ คากิ หูฉลาม ตีนเป็ด ตีนไก่


- ลดการรับประทานอาหารเค็ม อาหารที่มีเกลือมาก ซึ่งหากหลีกเลี่ยงได้สามารถช่วยลดความดันโลหิต ลดอาการบวม โดยอาหารที่ควรหลีกเลี่ยง ได้แก่ เกลือ น้ำปลา ซีอิ๊ว ซอสปรุงรส ซอสแม็กกี้ ซอสหอยนางรม ซอสพริก ซอสมะเขือเทศ ซีอิ๊วหวาน อาหารหมักดอง เนยแข็ง ไข่เค็ม กะปิ เต้าหู้ยี้ เต้าเจี้ยว แหนม แฮม เบคอน ผักดอง หอยดอง ไส้กรอกอีสาน ปลาร้า ปลาเจ่า ปลาจ่อม ผลไม้ดอง


- ดูแลภาวะที่เป็นสาเหตุของโรคไต เช่น ควบคุมความดันโลหิต, ควบคุมน้ำตาลและรับการรักษาอย่างต่อเนื่องในโรคที่เป็นเรื้อรัง เช่น ไตเสื่อมจากเอสแอลอี (SLE) นิ่วหรือถุงน้ำในไต


- ระดับไขมันในเลือด โดยการควบคุมอาหารไขมันหรือทานยาลดไขมันในเลือด เป้าหมาย คือ ระดับไขมัน LDL น้อยกว่า 100 มก./ดล.


- งดสูบบุหรี่  ชา กาแฟ 


- ลดการรับประทานเนื้อสัตว์


- หลีกเลี่ยงอาหารที่มีฟอสฟอรัสมาก ทำให้กระดูกเปราะและเส้นเลือดแข็ง ได้แก่ ถั่วเมล็ดแห้ง (ถั่วแดง ถั่วดำ ถั่วเขียว ถั่วลิสง เม็ดมะม่วงหิมพานต์ อัลมอนด์ ถั่วแระ ถั่วเหลือง  เมล็ดพืช เช่น เมล็ดฟักทอง เมล็ดทานตะวัน งา รวมทั้งขนมไส้ถั่วและอาหารไส้ถั่ว เช่น ลูกชุบ ถั่วกวน ซาลาเปาไส้ถั่ว แกงบวด เต้าส่วน น้ำเต้าหู้ นมถั่วเหลือง เครื่องในสัตว์ ปลาไส้ตัน ปลาตัวเล็กทานได้ทั้งตัว ปลาซาร์ดีนกระป๋อง กุ้งฝอย กุ้งแห้ง ไข่แดง ไข่ปลา นม เนยแข็ง โยเกิร์ต นมเปรี้ยว ช็อกโกแลต โคล่า เครื่องดื่มรสช็อกโกแลต เบียร์


- หลีกเลี่ยงยาที่มีผลเสียต่อไต เช่น ยาแก้ปวดกลุ่มชนิดเอ็นเสด (NSAID เช่น ไดโคลฟีแนค ไอบูโพรเฟน ไพรอกซีแคม เซเลคอกซิป อีโทริคอกซิปฯลฯ) ยาต้ม ยาสมุนไพรต่างๆ ที่ยังไม่ทราบสรรพคุณดี


- ดื่มน้ำมากๆ ประมาณ 1.5 -2 ลิตรต่อวัน


- ไม่ควรกลั้นปัสสาวะนานๆ 


- พักผ่อนให้เพียงพอ อย่างน้อย 6-8 ชั่วโมงต่อวัน


- ลดน้ำหนักตัว ในกรณีน้ำหนักเกินมาตรฐาน และควบคุมน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน


- ออกกำลังกายเป็นประจำ จะทำให้ร่างกายแข็งแรงและรู้สึกมีพลังมากขึ้น ทำให้ควบคุมความดันโลหิตได้ดีขึ้น กล้ามเนื้อแข็งแรง ลดระดับไขมันในร่างกาย นอนหลับง่ายขึ้น โดยชนิดการออกกำลังกายที่เหมาะสมเป็นพิเศษ คือ การออกกำลังกายชนิดต่อเนื่อง เช่น การเดิน ว่ายน้ำ ปั่นจักรยาน เต้นแอโรบิก การยกน้ำหนักก็ทำได้แต่ไม่ควรหนักเกินไป ควรออกกำลังกายทุกวัน ประมาณวันละ 30 นาที หรือ 45-60 นาที อย่างน้อย 3 วันต่อสัปดาห์ หรือสามารถทำทุกวันเลยก็ได้