ความรู้จากแพทย์ศรีพัฒน์

ไตวายเฉียบพลันและไตวายเรื้อรังต่างกันอย่างไร


อ.นพ.ณัฐพล เลาหเจริญยศ

แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคไต

รหัสเอกสาร PI-IMC-326-R-00

 อนุมัติวันที่ 28 มกราคม 2564


        ไต เป็นอวัยวะสำคัญอย่างหนึ่งของร่างกายมีหน้าที่กำจัดของเสียและสารพิษ ควบคุมสมดุลน้ำและสมดุลเกลือแร่ ควบคุมความเป็นกรดด่างภายในร่างกาย ปรับเปลี่ยนความเข้มข้นของปัสสาวะ สร้างฮอร์โมนกระตุ้นการสร้างเม็ดเลือดแดง เมื่อเราอายุมากขึ้น ไตจะเริ่มทำงานลดลงหรือเสื่อมลงตามธรรมชาติ ในกรณีที่ไตเสื่อมลงอย่างรวดเร็วมากกว่าปกติ เราเรียกความผิดปกติดังกล่าวว่าไตวายหรือไตเสื่อม ซึ่งแบ่งเป็น 2 แบบ คือ ไตวายเฉียบพลันและไตเรื้อรัง 


ไตวายเฉียบพลันคืออะไร

        ไตวายเฉียบพลัน หมายถึง ภาวะที่ไตทำงานลดลงอย่างรวดเร็ว (ในช่วงเวลาเป็นชั่วโมงหรือเป็นวัน) โดยที่ปัสสาวะอาจ จะลดลงหรือไม่ก็ได้ ซึ่งเมื่อแพทย์ให้การรักษาได้ทัน การทำงานของไตก็จะสามารถฟื้นตัวดีขึ้นได้ ซึ่งสาเหตุอาจเกิดจากการสูญเสียน้ำของร่างกายอย่างมาก เช่น อาเจียนหรือท้องเสียรุนแรง เสียเลือดมากจากอุบัติเหตุหรือเลือดออกในทางเดินอาหาร การติดเชื้อในกระแสเลือดรุนแรง รวมทั้งได้รับยาหรือสารที่ทำลายไตบางชนิด เช่น กลุ่มยาปฎิชีวนะบางตัวหรือยาแก้ปวดกลุ่ม NSAIDs


ไตวายเรื้อรังเป็นอย่างไร

        ไตวายเรื้อรัง คือ การที่ไตเสื่อมลงอย่างช้าๆ ต่อเนื่อง หรือมีความผิดปกติของไตเกินกว่า เดือน  แบ่งไตเรื้อรังเป็น  5 ระยะตามความสามารถในการทำงานของไต หากผู้ป่วยเป็นระยะที่ 5 หรือเป็นโรคไตเรื้อรังระยะสุดท้าย จำเป็นที่จะต้องรับการบำบัดทดแทนไต อันได้แก่ การฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียมการล้างไตทางหน้าท้อง และการผ่าตัดปลูกถ่ายไต ทั้งนี้ หากได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นไตเรื้อรัง ไตจะไม่สามารถฟื้นกลับมาทำงานได้เหมือนปกติสาเหตุที่พบบ่อยที่สุดได้แก่ โรคเบาหวาน รอง ลงมาเป็นโรคความดันโลหิตสูง 

 


อาการแบบไหน อาจมีโรคไตซ่อนอยู่

        ผู้ที่มีอาการเหล่านี้ อาจมีภาวะสงสัยเป็นโรคไต ซึ่งควรได้รับการวินิจฉัยจากแพทย์ เนื่องจากโรคไตถือเป็นภัยเงียบ ที่มักไม่แสดงอาการให้เห็นได้ชัดเจน จนกระทั่งเมื่อไตเสื่อมมากแล้ว อาการสำคัญบางอย่างที่อาจเป็นสัญญาณเตือนว่าอาจมีโรคไตซ่อนอยู่ มีดังต่อไปนี้ ปัสสาวะขัด ปัสสาวะลำบาก ปัสสาวะกลางคืนบ่อยกว่าปกติ ปัสสาวะสีน้ำล้างเนื้อ อาการบวมรอบหน้า รอบตา รอบเท้า


การดูแลตนเองของผู้ป่วยโรคไต

        สาเหตุที่ทำให้ผู้ป่วยต้องฟอกไตมากที่สุด คือ ผู้ที่มีโรคเบาหวานและโรคความดันโลหิตสูงร่วมด้วย ดังนั้น จึงต้องควบคุมน้ำตาลให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมและควบคุมความดันโลหิตให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสมเช่นกัน ซึ่งหากควบคุมทั้งสองปัจจัยนี้ไม่ได้ จะส่งผลให้ไตเสื่อมอย่างรวดเร็ว


        นอกจากนี้ควรดื่มน้ำสะอาดอย่างน้อยวันละ 2 ลิตร ออกกำลังกาย พักผ่อนให้เพียงพออย่างน้อยวันละ 6-8 ชั่วโมง แต่อย่านั่งหรือนอนมากเกินไป เพราะอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นนิ่ว และการกลั้นปัสสาวะก็จะเพิ่มการติดเชื้อของทางเดินปัสสาวะได้ รวมทั้งหลีกเลี่ยงยาและอาหารที่อาจจะทำให้เกิดอันตรายกับไต เช่น ยาแก้ปวดกลุ่ม NSAID หลีกเลี่ยงการรับ ประทานยาที่ไม่รู้จัก บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปและขนมขบเคี้ยว เพราะอาจมีผลต่อไตได้