ความรู้จากแพทย์ศรีพัฒน์

ถามตอบเรื่องน่ารู้เกี่ยวกับไตวาย


อ.นพ.ณัฐพล เลาหเจริญยศ

แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคไต

รหัสเอกสาร PI-IMC-325-R-00

อนุมัติวันที่ 28 มกราคม 2564



หน้าที่สำคัญของไตมีอะไรบ้าง ?

-          ขับถ่ายของเสียและน้ำออกมาในรูปปัสสาวะ

-          ควบคุมความเป็นกรดด่างและเกลือแร่

-          ควบคุมความดันโลหิต

-          เปลี่ยนวิตามิน D ให้อยู่ในรูปที่ใช้งานได้

-          สร้างฮอร์โมน Erythropoietin  (อีริโทรโพอิติน)

 

เป็นไตวายหรือเป็นโรคไต แล้วไตจะฟื้นได้ไหม ?

แบ่งไตวายเป็นสองแบบ คือ ไตวายเฉียบพลันและไตวายเรื้อรัง


ไตวายเฉียบพลัน หมายถึง ภาวะที่ไตเดิมทำงานได้ตามปกติแล้วเกิดโรคที่ทำให้ไตทำงานลดน้อยลงอย่างรวดเร็ว โดยที่ปัสสาวะอาจจะลดลงหรือไม่ก็ได้ เมื่อแพทย์ให้การรักษาประคับประคองผ่านพ้นช่วงนี้ไปได้แล้ว การทำงานของไตก็จะสามารถฟื้นตัวดีขึ้นได้ สำหรับไตวายเรื้อรัง ไตจะไม่สามารถฟื้นตัวเป็นปกติได้


สาเหตุของไตวายเฉียบพลัน แบ่งเป็น 3 อย่าง ได้แก่

1. สาเหตุนอกไตที่ส่งผลต่อระบบไหลเวียนของไต  เช่น การสูญเสียน้ำของร่างกายอย่างมาก เช่น อาเจียนหรือท้องเสียรุนแรงโดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้สูงอายุ ทานอาหารหรือน้ำทดแทนไม่ค่อยได้ ภาวะความดันโลหิตต่ำจากสาเหตุใดๆ ก็ตาม เช่น เสียเลือดมากจากอุบัติเหตุหรือเลือดออกในทางเดินอาหาร หรือการติดเชื้อในกระแสเลือดรุนแรง หัวใจสูบฉีดเลือดไม่ดี เช่น ในกรณีมีกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน


2. โรคของเนื้อไตเอง เช่น

- ได้รับยาหรือสารที่ทำลายไตบางชนิด เช่น กลุ่มยาปฎิชีวนะบางตัว หรือยาแก้ปวดกลุ่ม NSAIDs โดยเฉพาะอย่างยิ่งการไปฉีดยาตามคลินิก การซื้อยาทานเองตามร้านขายยา

- โรคหลอดเลือดฝอยในไตอักเสบ  โรคเอสแอลอี

- การติดเชื้อ การติดเชื้อที่รุนแรงจนทำให้เกิดภาวะช็อก ทำให้เกิดไตวายได้


3.การอุดกั้นของทางเดินปัสสาวะเฉียบพลัน

- นิ่ว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง นิ่วที่ทำให้เกิดทางเดินปัสสาวะอุดตันทั้งสองข้าง

- ต่อมลูกหมากโต ทำให้มีการอุดกั้นท่อปัสสาวะในเพศชาย

- เนื้องอกในช่องท้องลามมากดท่อทางเดินปัสสาวะ หรือเนื้องอกในกระเพาะปัสสาวะทำให้ปิดกั้นท่อปัสสาวะ

 

โรคไตเรื้อรัง  (Chronic kidney disease)

โรคไตเรื้อรัง หมายถึง มีการทำลายเนื้อไตอย่างถาวร และมีเนื้อเยื่อพังผืดแทรกในไต สุดท้ายทำให้ไตค่อยๆ ฝ่อเล็กลง

สาเหตุที่พบบ่อยที่สุด 3 อันดับแรกที่ทำให้เกิดโรคไตเรื้อรัง ได้แก่ โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือดฝอยไตอักเสบ


ถ้าเป็นโรคไตแล้วต้องล้างไตเลยหรือไม่ ?

          โรคไตเรื้อรังจะแบ่งเป็น  5 ระยะ เรียงลำดับความรุนแรงจากน้อยไปมาก โดยแพทย์จะเป็นผู้แจ้งให้ทราบ ถ้าเป็นระยะที่ 5 หรือระยะสุดท้ายจะได้รับการรักษาโดยการฟอกไต ถ้าเป็นระยะต้นๆ ดูแลตัวเองได้ดีก็อาจไม่ต้องฟอกไต


อะไรที่ทำให้โรคไตเรื้อรังแย่ลงหรือเสื่อมมากขึ้น ?

          ความดันโลหิตสูง โรคเบาหวานที่คุมเบาหวานไม่ดี ระดับโปรตีนหรือโปรตีนไข่ขาวที่เพิ่มขึ้นในปัสสาวะ การทานอาหารเค็มและอาหารที่มีโปรตีนสูง การกินยาต่างๆ ที่มีผลทำให้ไตเสื่อมมากขึ้น เช่น ยาแก้ปวดกลุ่ม NSAIDs ภาวะเจ็บป่วยจากอวัยวะอื่นๆ เช่น โรคหัวใจโต ภาวะซีดเรื้อรัง ก็พบว่าทำให้ไตเสื่อมเร็วขึ้น


การปฎิบัติตัวเพื่อชะลอการเสื่อมของไตทำอย่างไร ?


ควบคุมความดันโลหิต ให้อยู่ในระดับเป้าหมาย คือ น้อยกว่า 130/80 โดยการทานยาความดันและพบแพทย์สม่ำเสมอ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ


ลดอาหารเค็ม ซอส เกลือ น้ำปลา ซีอิ๊ว เนยเข็ง ไข่เค็ม กะปิ เต้าหู้ยี้ แฮม เบคอน ไส้กรอกอีสาน ปลาร้า ปลาเจ่า ผลไม้ดอง บะหมี่สำเร็จรูป ข้าวโพดคั่ว


ควบคุมการทานโปรตีน  

- ไตจะทำหน้าที่ขับทิ้งของเสียที่เกิดขึ้นจากโปรตีนที่มาจากเนื้อสัตว์และพืช เพื่อไม่ให้ไตทำงานหนักเกินไปควรจำกัดจำนวนโปรตีนที่ได้ในแต่ละวัน

- เนื้อที่รับประทานได้ ได้แก่ ไก่ย่าง ไก่ทอด ไก่อบ หมูทอด หมูปิ้ง หมูอบ ปลาต่างๆ ทอด/ย่าง ลูกชิ้นทอด ลูกชิ้นปิ้ง กุ้งนึ่ง กุ้งเผา กุ้งทอด กุ้งชุบแป้งทอด ไข่ขาวต้ม ไข่ขาวทอด เจียวตุ๋น

         

อาหารจากเนื้อที่ควรหลีกเลี่ยง

เนื้อสัตว์ที่มีไขมันมาก ได้แก่ เครื่องในสัตว์ หนังหมู หนังไก่ เนื้อติดมัน ซี่โครง หมูติดมัน คอหมูย่าง เป็ดปักกิ่ง หมูสามชั้น หมูกรอบ ไข่ปลา ไข่แดง


- เนื้อสัตว์บางประเภทที่คุณค่าอาหารต่ำ เช่น เอ็นหมู วัว ข้อไก่ คากิ หูฉลาม ตีนเป็ด ตีนไก่


- เนื้อสัตว์ที่รับประทานทั้งเปลือกหรือกระดูก เช่น ตั้กแตน จิ้งหรีด กบหรือเขียดย่างพร้อมกระดูก ปลาเล็กปลาน้อย กุ้งแห้ง


หลีกเลี่ยงอาหารที่มีฟอสฟอรัสมาก (ทำให้กระดูกเปราะและเส้นเลือดแข็ง)

        ถั่วเมล็ดแห้ง (ถั่วแดง ถั่วดำ ถั่วเขียว ถั่วลิสง เม็ดมะม่วงหิมพานต์ อัลมอนด์ ถั่วแระ ถั่วเหลือง เมล็ดพืช เช่น เม็ดฟักทอง เมล็ดทานตะวัน งา รวมทั้งขนมไส้ถั่วและอาหารไส้ถั่ว เช่น ลูกชุบ ถั่วกวน ซาลาเปาไส้ถั่ว แกงบวด เต้าส่วน น้ำเต้าหู้ นมถั่วเหลือง) เครื่องในสัตว์ ปลาไส้ตัน ปลาตัวเล็กทานได้ทั้งตัว ปลาซาร์ดีนกระป๋อง กุ้งฝอย กุ้งแห้ง ไข่แดง ไข่ปลา นม เนยแข็ง โยเกิร์ต นมเปรี้ยว โคล่า เครื่องดื่มรสช็อกโกแลต ช็อกโกแลต เบียร์


หลีกเลี่ยงผักผลไม้ที่มีโพแทสเซียมสูง (อาจทำให้หัวใจเต้นผิดจังหวะ หรือหยุดเต้น)

        สำหรับผู้ป่วยที่มีภาวะไตเรื้อรังระยะ 4-5 ควรหลีกเลี่ยงอาหารที่มีโพแทสเซียมสูง เช่น เห็ด หน่อไม้ฝรั่ง บรอคโคลี ดอกกะหล่ำ แครอท ผักกาดขาว ผักคะน้า ผักกวางตุ้ง ขึ้นฉ่าย น้ำมะเขือเทศ ผักหวาน ข้าวโพด มันเทศ มันฝรั่ง กล้วยน้ำว้า กล้วยหอม กล้วยตาก ฝรั่ง ขนุน ทุเรียน น้อยหน่า กะท้อน ลูกพลับ ลูกพรุน ลำไย มะม่วง มะเฟือง มะปราง มะขามหวาน แคนตาลูป น้ำส้มคั้น น้ำมะพร้าว น้ำผลไม้รวม       น้ำแครอท


หลีกเลี่ยงการใช้ยา หรือสารที่มีอันตรายต่อไต เช่น ยาต้านการอักเสบชนิดเอ็นเสด (NSAID เช่น ไดโคลฟีแนค ไอบูโพรเฟน ไพรอกซีแคม เซเลคอกซิป อีโทริคอกซิปฯลฯ) หลีกเลี่ยงยาสมุนไพร ยาหม้อ ยาต้ม ที่ไม่ทราบสรรพคุณ


งดสูบบุหรี่


ออกกำลังกายตามสมควรแก่สภาวะร่างกาย ไม่ให้เหนื่อยมาก เอาแค่เหงื่อชุ่ม ไม่ถึงหายใจหอบ