ความรู้จากแพทย์ศรีพัฒน์

ก้างปลาติดคอ


อ.พญ.ชนิศา พรชัยสกุลดี

แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านหูคอจมูก

รหัสเอกสาร PI-IMC-324-R-00

อนุมัติวันที่ 28 มกราคม 2564

 

          “ปลาอาหารจานโปรดของใครหลายๆ คน เพราะนอกจากจะมีรสชาติอร่อยแล้วยังมีประโยชน์ต่อสุขภาพด้วย รวมถึงสารอาหารในปลานั้นมีความสำคัญต่อพัฒนาการทางสมองของลูกน้อย แต่ต้องระมัดระวังโดยเฉพาะปัญหาก้างปลาติดคอ ซึ่งในเด็กเล็กไม่สามารถอธิบายอาการให้ฟังได้ จึงอาจเกิดอันตรายจากการอักเสบและติดเชื้อได้


        นอกจากก้างปลาแล้วยังมีสิ่งแปลกปลอมอื่นๆ ที่เด็กเล็กสามารถหยิบจับเข้าปากได้ง่ายและติดคอได้ เช่น ลวดเย็บกระดาษ แบตเตอรี่นาฬิกา เหรียญต่างๆ เข็มกลัด กระดูกชิ้นเล็กๆ เป็นต้น ซึ่งสิ่งแปลกปลอมเหล่านี้ล้วนเป็นเรื่องลำบากและยากที่จะจัดการได้ด้วยตัวเอง

 

รู้ได้อย่างไรว่ามีก้างปลาติดคอ

        โดยทั่วไปคนส่วนใหญ่จะรู้ถึงความผิดปกติได้ด้วยตนเองว่ามีสิ่งแปลกปลอมหรือก้างติดในลำคอ ซึ่งพ่อแม่อาจจะสังเกตอาการของลูกได้ หากสงสัยว่ามีก้างปลาหรือสิ่งแปลกปลอมค้างอยู่ โดยเฉพาะในกรณีที่วัตถุดังกล่าวขวางทางเดินหายใจหรือทำให้เกิดบาดแผล จะมีอาการดังต่อไปนี้

-         แสดงอาการเจ็บเมื่อกลืน

-         กลืนลำบาก น้ำลายไหลหรือเจ็บคอ เหมือนมีอะไรบาดคอ

-         ขย้อนเมื่อกลืนอาหาร

-         คลื่นไส้อาเจียน

-         หากสิ่งแปลกปลอมไปอุดกั้นทางเดินหายใจ จะมีอาการไอ สำลัก หายใจลำบาก หายใจเสียงดังหวีด หรือหน้าเขียวปากเขียว

-         เด็กอาจปฏิเสธการรับประทานอาหาร

-         เจ็บหน้าอก ปวดท้อง หรือรู้สึกว่ามีบางอย่างติดอยู่ในคอ

 

ทั้งนี้ หากไม่ได้รับการรักษาและยังคงมีสิ่งแปลกปลอมติดค้างอยู่ อาจเกิดการอักเสบติดเชื้อและทำให้มีไข้ ไอ มีเสมหะ เป็นหนอง และก่อให้เกิดการติดเชื้อลุกลามขั้นรุนแรงได้

 

อาการและการรักษา

        ก้างปลาอาจติดได้ตั้งแต่เพดานอ่อน ต่อมทอนซิล ผนังคอหอย โคนลิ้น ฝาปิดกล่องเสียง หรือติดในหลอดอาหาร ผู้ป่วยจะมีอาการเจ็บบริเวณที่ก้างตำและยิ่งกลืนยิ่งเจ็บ ถ้าก้างติดอยู่เป็นเวลานาน อาจมีการอักเสบติดเชื้อเป็นหนองในช่องคอและมีไข้สูง รวมทั้งอาจมีเลือดปนออกมากับน้ำลายได้ และหากการอักเสบลุกลามไปที่กล่องเสียง จะทำให้ผู้ป่วยมีปัญหาของการออกเสียงและปัญหาของการหายใจตามมาได้

        การรักษาก้างปลาติดคอ แนะนำมาพบแพทย์ทางด้านหูคอจมูก เพื่อนำก้างปลาหรือสิ่งแปลกปลอมออก รวมทั้งแพทย์อาจพิจารณาให้ยาเพื่อลดอาการปวด บวม หรืออักเสบ