ความรู้จากแพทย์ศรีพัฒน์

แผลที่กระจกตา



ผศ.พญ.เหมือนพลอย นิภารักษ์

จักษุแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านกระจกตาและผ่าตัดแก้ไขสายตา

รหัสเอกสาร PI-IMC-321-R-00

 อนุมัติวันที่ 28 มกราคม 2564


        กระจกตาเป็นเนื้อเยื่อใสโปร่งแสงด้านหน้าของลูกตา ซึ่งนอกจากจะทําหน้าที่ปกป้องดวงตาแล้ว ยังทําหน้าที่หักเหแสง ทำให้มองเห็นภาพชัดเจน นอกจากนี้กระจกตายังเป็นหนึ่งในเนื้อเยื่อที่มีเส้นประสาทมาเลี้ยงมากที่สุดในร่างกาย ดังนั้น การบาดเจ็บหรือพยาธิสภาพบริเวณกระจกตา จึงทําให้เกิดอาการเจ็บปวดอย่างมาก มีน้ำตาไหลและสู้แสงไม่ได้

 

แผลที่กระจกตาคืออะไร

        แผลที่กระจกตา หมายถึง การเกิดรอยถลอกบริเวณกระจกตาและอาจเกิดการอักเสบติดเชื้อตามมาได้ ถ้าแผลเล็กและตื้นจะหายได้เองโดยไม่ทิ้งร่องรอยภายใน 2 – 3 วัน แต่ถ้าแผลลึกมากอาจจะเกิดเป็นแผลเป็น ทำให้กระจกตาบริเวณที่มีแผลเป็นนั้นทึบแสงหรือแสงผ่านได้น้อย ทำให้ตามัวมองเห็นไม่ชัด ส่วนต่างๆ ของลูกตาที่อยู่ใกล้เคียงอาจมีอาการอักเสบร่วมด้วย เช่น เกิดม่านตาอักเสบ เกิดหนองในตา มีการติดเชื้อทั้งลูกตา เป็นต้น

 

สาเหตุ

- เกิดจากอุบัติเหตุ

- จากการใส่เลนส์สัมผัส (Contact lens)

- เยื่อบุตาอักเสบ

- ภาวะขาดสารอาหาร หรือภูมิคุ้มกันร่างกายบกพร่อง

- กระจกตาแห้ง เนื่องจากตาปิดไม่สนิท

- การติดเชื้อหลังการทำผ่าตัด

 

ชนิดของการเกิดแผลที่กระจกตาและอาการแสดง

 

แผลที่กระจกตาที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย 

               ส่วนใหญ่จะเริ่มจากอุบัติเหตุของกระจกตาถลอกหลังจากมีสิ่งแปลกปลอมเข้าตา หรือจากการสวมใส่เลนส์สัมผัส เมื่อกระจกตาถลอกแล้วอาจมีการติดเชื้อตามมาได้ จนทำให้เกิดการอักเสบและเป็นแผลลุกลาม


อาการแสดง

               มีอาการตาแดงและตามัวหลังได้รับอุบัติเหตุ ต่อมาจะมีอาการเคืองตา น้ำตาไหล ปวดตา มีรอยขุ่นขาวตรงกระจกตา บางครั้งอาจมีหนองในช่องหน้าลูกตา มีขี้ตามาก แผลมักอยู่ตรงกลาง ลักษณะกลมหรือรี

 

แผลที่กระจกตาที่เกิดจากเชื้อไวรัส 

               เช่น โรคเริม มักพบในผู้สูงอายุ ร่างกายอ่อนแอหรือผู้ที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง อาจเกิดจากการใช้ยาสเตียรอยด์หยอดตาเป็นระยะเวลานาน โดยมักเป็นที่ตาข้างใดข้างหนึ่งและเป็นซ้ำได้


อาการแสดง

               มีอาการระคายเคืองคล้ายผงเข้าตาหรือปวดตาข้างใดข้างหนึ่ง โดยเฉพาะเวลากลอกตา ตาสู้แสงไม่ได้ กระจกตาจะขาวเป็นฝ้า อาจมีรอยถลอกของเยื่อบุผิวกระจกตาในลักษณะคล้ายกิ่งไม้ การรับรู้ความรู้สึกของกระจกตาจะน้อยกว่าปกติ หรือไม่มีความรู้สึกเลย

 

 

แผลที่กระจกตาที่เกิดจากเชื้อรา 

               พบในผู้ที่เป็นแผลถลอกที่กระจกตามานาน มักสัมพันธ์กับการโดนสิ่งแปลกปลอมจากการเกษตร เช่น กิ่งไม้ใบหญ้าเข้าตา และมีการใช้ยาปฏิชีวนะที่มีสเตียรอยด์ผสม


อาการแสดง

               มีอาการปวดตามาก เคืองตา ตาสู้แสงไม่ได้ ลืมตาไม่ขึ้น และตามัวลง แผลที่กระจกตาอาจเป็นแผลสีขาวหรือสีเทา ขอบแผลนูนไม่เรียบ มีลักษณะคล้ายขนนก อาจมีแผลเล็กๆ กระจายโดยรอบ และมักมีหนองในช่องหน้าลูกตา

 

แนวทางการดูแลการรักษา

               ในผู้ป่วยที่มีแผลที่กระจกตา แพทย์จะต้องทำการตรวจหาเชื้อจากแผลที่กระจกตา โดยการขูดที่แผลหรือเอาหนองส่งตรวจหาเชื้อ เพื่อเป็นแนวทางในการรักษา จากนั้นจึงพิจารณาให้ยาดังนี้


- หยอดตาด้วยยาฆ่าเชื้อที่เฉพาะกับเชื้อ โดยในระยะแรกจะให้หยอดยาทุก 1 – 2 ชั่วโมง แล้วจึงค่อยๆ ลดความถี่ในการหยอดยาลงตามการตอบสนองของโรค


- หากเป็นการติดเชื้อไวรัสเริม อาจให้ยาป้ายหรือยาหยอดต้านเชื้อไวรัส วันละ 5 ครั้ง


- ให้ยาปฏิชีวนะโดยการฉีดหรือรับประทานร่วม ระยะเวลาที่ให้ยามักนานตั้งแต่ 2 สัปดาห์ขึ้นไปแล้วแต่ความรุนแรงของโรค

 

               แผลที่กระจกตาเมื่อได้รับการรักษาจนหายแล้ว แผลอาจจะกลายเป็นแผลเป็น เห็นเป็นรอยขุ่นขาวทึบแสง ในบางรายที่เป็นรุนแรง แผลที่กระจกตาอาจจะบางมากจนทะลุได้ อาจมีการกระจายของเชื้อเข้าสู่ลูกตา เกิดการอักเสบติดเชื้อของลูกตาตามมา ทำให้ตาบอดได้