ความรู้จากแพทย์ศรีพัฒน์

ส่องกล้องทางเดินอาหารอย่างไรให้ปลอดภัยจากโควิด



อ.นพ.นิพพิชฌน์ พรหมมี

แพทย์ผู้เชี่ยวชาญระบบทางเดินอาหารและโรคตับ

รหัสเอกสาร PI-IMC-320-R-00

อนุมัติวันที่ 28 มกราคม 2564


        โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือ โควิด 19 (COVID-19) เป็นโรคที่กำลังแพร่ระบาดอย่างกว้างขวางในโลกนี้รวมถึงประเทศไทย เชื้อไวรัสมีความสามารถแพร่เชื้อติดต่อสู่คนอื่นได้ง่ายมาก โดยติดต่อผ่านทางละอองฝอยจากการไอหรือจาม หลังได้รับเชื้อเข้าไปแล้ว ผู้ติดเชื้ออาจไม่มีอาการใดๆ หรือมีอาการคล้ายกับโรคไข้หวัดทั่วไป กล่าวคือ มีอาการ ไข้ ไอ เจ็บคอ คัดจมูก น้ำมูกไหล ปวดเมื่อยตามตัว ท้องเสียถ่ายเหลว แต่จะมีอาการที่จำเพาะต่อโรคนี้ คือ จมูกไม่ได้กลิ่น หรือลิ้นไม่สามารถรับรสได้


การส่องกล้องทางเดินอาหารสามารถทำได้หรือไม่

        สามารถทำได้ แต่เนื่องจากทรัพยากรและบุคลากรทางการแพทย์มีอยู่อย่างจำกัดและเพื่อหลีกเลี่ยงความแออัด จะแนะนำให้ทำในผู้ป่วยที่มีข้อบ่งชี้ที่ฉุกเฉิน เร่งด่วน หรือผู้ป่วยที่มีความจำเป็นจริงๆ เท่านั้น (*1) เช่น มีภาวะเลือดออกในทางเดินอาหาร มีสิ่งแปลกปลอมอุดตันในทางเดินอาหาร ภาวะท่อน้ำดีอักเสบติดเชื้อเฉียบพลัน หรือมีอาการน่าสงสัยว่าจะเป็นมะเร็งในทางเดินอาหาร เป็นต้น


การส่องกล้องทางเดินอาหารมีโอกาสได้รับเชื้อโควิดหรือไม่

        เป็นไปได้น้อยมาก เพราะบุคลากรทุกคนสวมอุปกรณ์ป้องกันอย่างเหมาะสม ไม่ว่าจะเป็นหน้ากากอนามัย ถุงมือ เสื้อกาวน์ รวมถึงขั้นตอนกระบวนการล้างทำความสะอาดอุปกรณ์ส่องกล้องและการทำ ความสะอาดห้องที่ได้มาตรฐาน สามารถกำจัดเชื้อไวรัสโคโรนาได้ นอกจากนี้ทางคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ยังมีแนวทางปฏิบัติของบุคลากรในการเดินทางเพื่อป้องกันและควบคุมโรค COVID-19 อย่างชัดเจน (*2)


ก่อนส่องกล้องต้องได้รับการตรวจคัดกรองก่อนหรือไม่

        ผู้ป่วยทุกรายต้องได้รับการซักประวัติคัดกรองถึงความเสี่ยงต่อการรับเชื้อ  หากประเมินแล้วพบว่ามีความเสี่ยงหรือต้องได้รับการตรวจส่องกล้องแบบผู้ป่วยใน ต้องได้รับการตรวจหาเชื้อไวรัส SARS-CoV-2 ก่อนทำหัตถการเสมอ (*3)


การปฏิบัติตัวเมื่อมาเข้ารับการส่องกล้อง

ควรสวมใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลา ควรมีญาติเพียง 1 คนที่มาดูแลผู้ป่วยและสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลาเช่นกัน


หากมีอาการไม่สบาย เช่น ไข้ไอ น้ำมูก เจ็บคอ สามารถมาตรวจส่องกล้องตามนัดได้หรือไม่

ควรงดการส่องกล้องไปก่อนจนกว่าอาการจะดีขึ้น และโทรมาแจ้งที่ศูนย์โรคทางเดินอาหารและตับ ศูนย์ศรีพัฒน์ฯ เพื่อทำการนัดหมายใหม่หรือขอคำแนะนำเพิ่มเติม

ข้อควรทราบ บทความนี้เขียนเมื่อวันที่ 13 มกราคม พ.ศ. 2564 


เอกสารอ้างอิง

*1.       Kongkam et al. The practice of endoscopy during COVID-19 pandemic: Recommendations from the Thai association for gastrointestinal endoscopy(TAGE) in collaboration with the endoscopy nurse society(Thailand). Siriraj Med J 2020;72:283-286

*2.       ประกาศโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ เรื่อง แนวทางปฏิบัติสำหรับของบุคลากรในการเดินทางเพื่อป้องกันและควบคุมโรค COVID-19 (https://www.med.cmu.ac.th/main/all-rule/)

*3.       ประกาศโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ เรื่อง แนวทางปฏิบัติสำหรับผู้ที่มารับบริการที่โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ ฉบับที่ 1 (https://www.med.cmu.ac.th/main/all-rule/)