อ.นพ.วรกิตติ ลาภพิเศษพันธุ์
ศัลยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบตับทางเดินน้ำดีและตับอ่อน
รหัสเอกสาร PI-IMC-316-R-00
อนุมัติวันที่ 28 มกราคม 2564
การปลูกถ่ายตับ คืออะไร
การผ่าตัดปลูกถ่ายตับ มีข้อบ่งชี้เพื่อรักษาผู้ป่วยภาวะตับวายเฉียบพลัน โรคตับแข็งระยะสุดท้าย หรือมะเร็งตับที่ไม่สามารถรักษาด้วยการผ่าตัดได้ นับว่าเป็นการรักษาซึ่งเป็นทางเลือกสุดท้ายที่แพทย์แนะนำหากไม่สามารถรักษาด้วยวิธีอื่นได้ ซึ่งการปลูกถ่ายตับทำให้ผู้ป่วยมีอัตราการรอดชีวิตสูงถึงร้อยละ 80-90 โดยการผ่าตัดปลูกถ่ายตับสามารถรักษาทั้งภาวะตับแข็งและมะเร็งตับไปในการผ่าตัดครั้งเดียวกัน ซึ่งผู้ป่วยมะเร็งตับส่วนใหญ่ มักมีภาวะตับแข็งร่วมด้วย การรักษามะเร็งตับโดยการปลูกถ่ายตับในปัจจุบันได้ผลการรักษาที่ดี ผู้ป่วยมีอัตรารอดชีวิตหลังการผ่าตัดสูง และการกลับเป็นซ้ำของมะเร็งต่ำ เมื่อเทียบกับการรักษาโดยวิธีอื่น
การปลูกถ่ายตับ มีแบบใดบ้าง
การปลูกถ่ายตับในปัจจุบัน มี 2 วิธี คือ
1. การปลูกถ่ายตับจากผู้ป่วยที่มีภาวะสมองตาย เป็นการผ่าตัดปลูกถ่ายตับจากผู้บริจาคที่สมองตายแล้ว ซึ่งมีผู้รอรับบริจาคตับเป็นจำนวนมากและจำนวนผู้บริจาคอวัยวะที่ค่อนข้างน้อย
ทำให้บางครั้งไม่สามารถรักษาผู้ป่วยได้ทัน
2. การปลูกถ่ายตับจากผู้บริจาคที่มีชีวิต ซึ่งมีข้อกำหนดการรับบริจาคในกรณีนี้ คือ ต้องเป็นญาติที่มีความสัมพันธ์ทางสาย เลือด หรือเป็นคู่สมรสที่แต่งงานหรืออยู่ด้วยกันมานานกว่า 3 ปี โดยเป็นการผ่าตัดตับกลีบขวาของผู้บริจาคที่เป็นญาติสายตรง สามีหรือภรรยาของผู้ป่วย ซึ่งการผ่าตัดลักษณะนี้เป็นการผ่าตัดที่มีความซับซ้อนสูง เนื่องจากต้องผ่าตัดตับโดยแยกหลอดเลือดและท่อน้ำดีออกมาโดยไม่ให้เกิดอันตรายต่อหลอดเลือดและท่อน้ำดีของผู้บริจาค แต่ข้อดีของการผ่าตัดวิธีนี้คือ สามารถลดระยะเวลาการรออวัยวะให้สั้นลง เหลือประมาณ 3-4 สัปดาห์ อีกทั้งตับยังอยู่ในสภาพที่สมบูรณ์กว่า และมีระยะเวลาที่ขาดเลือดสั้นกว่าการปลูกถ่ายตับจากผู้ป่วยสมองตาย
ผู้ป่วยที่สามารถเข้าโครงการปลูกถ่ายตับ ต้องมีข้อบ่งชี้ดังนี้
- เป็นโรคตับแข็งระยะท้ายที่มีภาวะแทรกซ้อนต่างๆ เช่น น้ำในช่องท้อง (Ascites) เลือดออกจากเส้นเลือดขอด (Variceal bleeding) หรือ โรคสมองจากโรคตับ (Hepatic encephalopathy)
- ภาวะตับวายเฉียบพลัน (Acute liver failure)
- มะเร็งตับแบบปฐมภูมิ (Hepatocellular carcinoma) ที่ไม่สามารถผ่าตัดได้ โดยที่มะเร็งมีก้อนเดียวและขนาดใหญ่ไม่เกิน 5 เซนติเมตร , มะเร็งมีไม่เกิน 3 ก้อน โดยที่แต่ละก้อนมีขนาดใหญ่ไม่เกิน 3 เซนติเมตร , ไม่มีการกระจายของมะเร็งไปที่หลอดเลือดขนาดใหญ่ของตับหรือกระจายออกนอกตับ
- ภาวะแทรกซ้อนจากโรคตับ เช่น อาการเพลียมากจนไม่สามารถทำงานได้ และไม่สามารถรักษาด้วยวิธีอื่น หรือ Hepatopulmonary syndrome (HPS)
การผ่าตัดปลูกถ่ายตับผ่านกล้อง
การผ่าตัดสำหรับผู้บริจาคตับเป็นการผ่าตัดที่ซับซ้อน ทำให้ในระยะเริ่มต้นได้ทำการผ่าตัดในลักษณะเปิด โดยลักษณะแผลเป็นรูปตัว J ทำให้ผู้บริจาคต้องใช้เวลาในการพักรักษาตัวในโรงพยาบาลประมาณ 7-10 วัน และใช้เวลาพักฟื้นเป็นระยะเวลานาน โดยในปัจจุบันมีเทคโนโลยีการผ่าตัดแบบรุกล้ำน้อย ซึ่งเป็นผ่าตัดผ่านการส่องกล้องเพื่อใช้ตัดตับของผู้บริจาค ซึ่งมีข้อดี คือ ลดการปวดแผล และไม่มีแผลผ่าตัดขนาดใหญ่ที่ช่องท้อง รวมทั้งระยะเวลาในการนอนโรงพยาบาลสั้นกว่า (ประมาณ 5 วัน) ฟื้นตัวได้เร็วกว่า จึงสามารถกลับไปทำงานและใช้ชีวิตตามปกติได้เร็วกว่า
การดูแลผู้ป่วยภายหลังการปลูกถ่ายตับมีความสำคัญอย่างมากต่ออัตราการรอดชีวิตของผู้รับการปลูกถ่ายตับและตับที่ได้รับการปลูกถ่าย ดังนั้น การมาพบแพทย์เพื่อตรวจค่าการทำงานของตับ และระดับของยากดภูมิมีความจำเป็นและสำคัญมาก
ซึ่งหากตรวจพบความผิดปกติตั้งแต่ระยะแรก จะทำให้ได้รับการรักษาได้ดีหรือเร็วขึ้น เพื่อให้การปลูกถ่ายตับในผู้ป่วยประสบความสำเร็จและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
ข้อมูลอ้างอิง
-
คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่. (2563) .แพทย์ มช.
พัฒนาการผ่าตัดปลูกถ่ายตับจากผู้บริจาคตับที่มีชีวิต โดยวิธีการผ่าตัดผ่านกล้อง
สำเร็จเป็นครั้งแรกในประเทศไทย และครั้งที่ 2 ในอาเซียน . แหล่งข้อมูล
: https://cmu.ac.th/th/article/ab45df73-3a18-436d-af41-e0f25239c831 . ค้นเมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2563
- ผศ.นพ.พงษ์ภพ อินทรประสงค์ . (2563) . Liver . สมาคมโรคตับแห่งประเทศไทย . แหล่งข้อมูล : https://thasl.org/liver-transplantation-what-the-physician-should-know/ ค้นเมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2563 .