ความรู้จากแพทย์ศรีพัฒน์

ต่อมไทรอยด์ทำงานปกติหรือไม่ รู้ได้ด้วยการตรวจฮอร์โมน


อ.พญ.พิธพร วัฒนาวิทวัส

แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบต่อมไร้ท่อ เบาหวานและไทรอยด์

รหัสเอกสาร PI-IMC-314-R-00

อนุมัติวันที่ 28 มกราคม 2564



        ผู้ป่วยไทรอยด์ อาจมีภาวะผอมหรืออ้วน บวม คอพอกหรือตาโปน ซึ่งเป็นอาการที่เกิดขึ้นได้ หากมีภาวะการทำงานของไทรอยด์ผิดปกติ ทั้งไฮเปอร์ไทรอยด์ (ต่อมไทรอยด์สร้างฮอร์โมนออกมามากเกินไป) และไฮโปไทรอยด์ (ต่อมไทรอยด์ทำงานน้อยเกินไป) โดยจะมีอาการแสดงที่แตกต่างกัน


ต่อมไทรอยด์สำคัญอย่างไร

        ต่อมไทรอยด์ (Thyroid gland) เป็นต่อมไร้ท่อที่ใหญ่ที่สุดในร่างกาย มีน้ำหนักประมาณ 15-20 กรัม อยู่ที่ลำคอด้านหน้าข้างหลอดลม ต่ำกว่าลูกกระเดือกเล็กน้อย ข้างละ 1 ต่อม มีสีแดงเข้มเป็นพู มีรูปร่างเหมือนเกือกม้าหรือปีกผีเสื้อ ต่อมไทรอยด์มักมีขนาดโตกว่านิ้วหัวแม่มือของเจ้าของต่อมเล็กน้อย โดยมีหน้าที่ผลิตฮอร์โมนไทรอกซีน (Thyroxine) ซึ่งเป็นตัวทำให้เกิดขบวนการเมตาบอลิซึม (Matabolism) คือ เปลี่ยนอาหารในร่างกายให้เป็นพลังงาน เพื่อช่วยป้องกันภาวะปัญญาอ่อนในเด็กและภาวะเตี้ยแคระ (Cretinism) ส่วนในผู้ใหญ่หากขาดจะเสี่ยงเป็นโรคคอพอก อ่อนเพลีย ไม่กระฉับกระเฉง อัตราการเผาผลาญอาหารต่ำ ทำให้อ้วนและเฉื่อยชา แต่หากมีมากเกินไปจะมีภาวะตื่นเต้นตกใจง่าย หัวใจเต้นเร็วผิดปกติ และรูปร่างผอม


การทำงานของต่อมไทรอยด์ตรวจอย่างไรบ้าง

        ต่อมไทรอยด์เป็นต่อมไร้ท่อที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในร่างกาย เป็นแหล่งที่สร้างและเก็บไทรอยด์ฮอร์โมน หากมีการสร้างไทรอยด์ฮอร์โมนมากเกินไปหรือน้อยเกินไป ก็จะมีผลต่อขบวนการเผาผลาญของร่างกาย ซึ่งการตรวจการทำงานของต่อมไทรอยด์ (Thyroid Function Test) สามารถตรวจได้จากการเจาะเลือดเพื่อตรวจฮอร์โมน ดังนี้

 

Triodothyronine (T3) และ Thyroxine (T4)

        เป็นฮอร์โมนจากต่อมไทรอยด์ ช่วยไปกระตุ้นการเจริญเติบโตและพัฒนาการของร่างกาย ค่าอาจจะสูงผิดปกติในโรค Hyperthyroidism ทั้งใน T3 หรือ T4 ได้ แต่ก็มีปัจจัยบางประการที่อาจทำให้ค่าเปลี่ยนแปลงได้ เช่น การรับประทานยาบางชนิด การตั้งครรภ์ เป็นต้น

 

Thyroid stimulating hormone (TSH)

        การตรวจหา TSH จะใช้แยกความผิดปกติว่าเกิดจากต่อมไทรอยด์หรือเกิดจากต่อมใต้สมอง ซึ่งระดับฮอร์โมน TSH ในเลือดจะสูงขึ้นก่อนที่อาการต่างๆ ของไฮโปไทรอยด์จะแสดงออกมา ดังนั้น การวัดระดับ TSH ในเลือด จะสามารถช่วยวินิจฉัยโรค   ไฮโปไทรอยด์ได้เร็วกว่าการวัดระดับ T4 และ T3 ทั้งนี้ ไทรอยด์ฮอร์โมนต่ำเป็นโรคเดียวที่ฮอร์โมนกระตุ้นต่อมไทรอยด์ (TSH) สูงขึ้นจากระดับปกติ (ปกติ 0.4-4.2 mIU/L.)

 

        นอกจากนี้ แพทย์อาจวินิจฉัยภาวะขาดไทรอยด์ฮอร์โมนได้จากประวัติการเจ็บป่วยและการรักษาโรคในอดีต การรับประทานยาต่างๆ อาการ การตรวจร่างกาย การตรวจคลำต่อมไทรอยด์ ร่วมกับการตรวจเลือดดูค่าไทรอยด์ฮอร์โมน ฮอร์โมนต่างๆ ที่สัมพันธ์กับต่อมไทรอยด์ และค่าไขมันในเลือด รวมทั้งอาจมีการตรวจอื่นๆ เพิ่มเติม ทั้งนี้ขึ้นกับอาการผู้ป่วยและแนวทางการตรวจวินิจฉัยและรักษาแพทย์ เช่น การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ และเอกซเรย์ปอด เพื่อดูภาพหัวใจ เป็นต้น