รศ.พญ.จารุวรรณ แซ่เต็ง
สูตินรีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านมะเร็งนรีเวช
รหัสเอกสาร PI-IMC-301-R-00
อนุมัติวันที่ 24 ธันวาคม 2563
เมื่อมีของเหลวที่ไม่ใช่เลือดระดู ออกจากช่องคลอด เราจะเรียกภาวะนี้ว่า “ตกขาว” ซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้ในผู้หญิงทุกคน โดยอาจมีปริมาณมากในช่วงกลางรอบเดือนที่มีการตกไข่ หรือก่อนมีประจำเดือนและหลังมีประจำเดือน แต่หากตกขาวมีกลิ่นเหม็น ร่วมกับมีอาการคัน แสบร้อน อักเสบ อาจเป็นสัญญาณของการติดเชื้อทางช่องคลอดได้
ตกขาวคืออะไร
ตกขาว (Leukorrhea) หมายถึง สารคัดหลั่งที่ถูกขับออกมาทางช่องคลอด ซึ่งไม่ใช่เลือด และอาจมีสีอะไรก็ได้ ไม่จำเป็นต้องเป็นสีขาวเสมอไป โดยตกขาวแบ่งได้เป็น 2 ชนิด คือ
ตกขาวปกติ (Physiologic leukorrhea)
เป็นตกขาวที่พบในภาวะปกติ ลักษณะคล้ายแป้งเปียก สีขาว มีปริมาณไม่มาก ไม่เหม็น ไม่คัน และมีระดับความเป็นกรดด่างน้อยกว่า 4.5 ซึ่งเกิดจากแลคโตบาซิลลัส (Lactobacilli) สลายกลัยโคเจน (Glycogen) ของเซลล์เยื่อบุผนังช่องคลอดให้กลายเป็นกรดแลคติด (Lactic acid) ชนิดและปริมาณของเซลล์ที่หลุดลอกออกมาเป็นตกขาวถูกกำหนดโดยขบวนการทางชีวเคมี ซึ่งได้รับอิทธิพลมาจากระดับของฮอร์โมน เช่น ปริมาณตกขาวอาจจะมีมากขึ้นในช่วงกลางรอบเดือนที่มีการตกไข่ เนื่องจากมีมูกจากปากมดลูกออกมามากขึ้น แต่ภาวะดังกล่าวอาจจะไม่พบในสตรีที่รับประทานยาเม็ดคุมกำเนิด เนื่องจากยาเม็ดคุมกำเนิดมีฤทธิ์ยับยั้งการตกไข่
ตกขาวปกติ ประกอบด้วยส่วนผสมของสิ่งที่ขับออกมาจากต่อมต่างๆ ของระบบอวัยวะสืบพันธุ์ ซึ่งได้แก่
- สารคัดหลั่งบริเวณปากช่องคลอด คือ หลั่งจากต่อมไขมันและต่อมเหงื่อใต้ผิวหนัง ต่อมสกีน (Skene) และต่อมบาร์โทลิน (Bartholin) เพื่อหล่อลื่นปากช่องคลอด
- สารคัดหลั่งจากผนังช่องคลอดและเซลล์เยื่อบุผนังช่องคลอดที่หลุดลอกออกมา
- เซลล์จากปากมดลูกและมูกจากต่อมที่ปากมดลูก
- Serous transudate และโปรตีนจากผนังช่องท้อง เยื่อบุโพรงมดลูก และท่อนำไข่
- แบคทีเรียในช่องคลอด ที่เรียกว่า Doderlein bacilli ซึ่งสร้างกรดแลคติคจากกลัยโคเจนของเยื่อบุผนังช่องคลอด
- เม็ดเลือดขาว
ตกขาวผิดปกติ (Pathological leukorrhea)
มักมีปริมาณมาก หรือมีกลิ่น และมีลักษณะผิดปกติ เช่น มีลักษณะเป็นหนอง มูกปนหนอง หรือเป็นฟอง และมักมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น คัน แสบ ร้อนบริเวณปากช่องคลอด ซึ่งตกขาวผิดปกติ เกิดได้จากหลายสาเหตุ ดังนี้
- ช่องคลอดอักเสบติดเชื้อ
เป็นสาเหตุที่พบได้บ่อยที่สุดของตกขาวผิดปกติ
- ช่องคลอดอักเสบจากสาเหตุที่ไม่ติดเชื้อ โดยอาจเกิดจากการแพ้สารระคายเคือง การฝ่อตัวของเยื่อบุช่องคลอดโดยมีการอักเสบร่วม (Atrophic vaginitis) จากการขาดฮอร์โมนเอสโตรเจน
- ปากมดลูกอักเสบ จากสาเหตุต่าง ๆ เช่น ติดเชื้อหนองใน ติดเชื้อคลาไมเดีย (Chlamydia) หรือการติดเชื้อเริม
- พยาธิสภาพอื่น ๆ บริเวณอวัยวะสืบพันธุ์ เช่น ปากมดลูกมีติ่งเนื้องอก (Polyp) หูดหงอนไก่ เนื้องอกหรือมะเร็งของมดลูก ปากมดลูกและผนังช่องคลอด ซึ่งมักจะเกิดการติดเชื้อ Anaerobe ซ้ำร่วมด้วย
- ภาวะรูรั่ว (Fistula) เช่น รูรั่วระหว่างช่องคลอดและกระเพาะปัสสาวะ (Vesicovaginal fistula) หรือรูรั่วระหว่างช่องคลอดและลำไส้ตรง (Rectovaginal fistula) เหล่านี้เป็นสาเหตุทำให้เกิดตกขาวผิดปกติเรื้อรังได้
อาการแบบไหน บอกได้ว่าผิดปกติ
สาเหตุของอาการตกขาวผิดปกติที่พบได้บ่อย 3 อับดับแรก คือ ภาวะช่องคลอดอักเสบจากเชื้อแบคทีเรีย (Bacterial vaginosis) ช่องคลอดอักเสบจากเชื้อพยาธิ (Trichomoniasis) และ การติดเชื้อราในช่องคลอด (Vulvovaginal candidiasis) ซึ่งมีอาการที่คล้ายคลึงและแตกต่างกัน ดังนี้
ภาวะช่องคลอดอักเสบจากเชื้อแบคทีเรีย (Bacterial vaginosis)
หมายถึง ภาวะที่มีการเปลี่ยนแปลงชนิดของแบคทีเรียปกติ
จากชนิดแลคโตบาซิลลัส (Lactobacilli)
กลายเป็นแบคทีเรียชนิดอื่นมาแทนที่ ทำให้เกิดอาการผิดปกติและเกิดตกขาวขึ้น โดยผู้ป่วยจะมาพบแพทย์ด้วยอาการตกขาวผิดปกติ มีอาการคัน
มีกลิ่นเหม็นเหมือนคาวปลาหลังจากมีเพศสัมพันธ์ ส่วนอาการปัสสาวะแสบขัด
เจ็บขณะมีเพศสัมพันธ์
การอักเสบในช่องคลอดหรืออาการแสบร้อนบริเวณปากช่องคลอดพบได้น้อย
ช่องคลอดอักเสบจากเชื้อพยาธิ (Trichomoniasis)
หรือพยาธิในช่องคลอด เกิดจากการติดเชื้อโปรโตซัว ซึ่งติดต่อจากการมีเพศสัมพันธ์ โดยผู้ป่วยมาพบแพทย์ด้วยอาการตกขาว มีลักษณะคล้ายหนอง มีกลิ่นเหม็น ร่วมกับอาการแสบร้อนและคันบริเวณปากช่องคลอดและช่องคลอด ปัสสาวะแสบขัด เจ็บปวดเวลามีเพศสัมพันธ์ (Dyspareunia) หรือเลือดออกหลังร่วมเพศ ส่วนอาการที่มีลักษณะจำเพาะของการติดเชื้อชนิดนี้ คือ ตกขาวมีสีเขียว เป็นฟองและมีกลิ่นเหม็น เมื่อตรวจภายในจะพบการอักเสบ บวมแดงบริเวณปากช่องคลอด ช่องคลอด
การติดเชื้อราในช่องคลอด (Vulvovaginal candidiasis)
ส่วนใหญ่เกิดจากการติดเชื้อ Candida albican ซึ่งในบางรายอาจตรวจพบเชื้อราในช่องคลอดโดยไม่มีอาการได้ โดยปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรคนี้ ได้แก่ โรคเบาหวาน ซึ่งผู้ป่วยโรคเบาหวานจะติดเชื้อราในช่องคลอดได้ง่าย , การใช้ยาปฎิชีวนะเป็นเวลานาน ทำให้มีการทำลายเชื้อปกติที่อยู่ในช่องคลอดและมีการติดเชื้อราได้ง่ายมากขึ้น รวมทั้งการมีระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนสูงขึ้น ทำให้มีการติดเชื้อราในช่องคลอดได้ง่ายมากขึ้น เช่น การใช้ยาคุมกำเนิด ภาวะตั้งครรภ์ การได้รับฮอร์โมนเอสโตรเจนจากภายนอก และภาวะภูมิคุ้มกันต่ำ เช่น การติดเชื้อเอดส์ หรือการได้รับยาสเตียรอยด์
ผู้ป่วยมักมาด้วยอาการคันบริเวณปากช่องคลอด แต่อาจมีอาการแสบร้อนในช่องคลอด
ปัสสาวะแสบขัดหรือการเจ็บเวลามีเพศสัมพันธ์ เมื่อตรวจภายใน พบว่าจะมีการบวมแดงบริเวณปากช่องคลอดและช่องคลอด
ลักษณะตกขาวเหมือนแป้งเปียก
การตรวจวินิจฉัยและการรักษา
แพทย์จะทำการซักประวัติ ตรวจร่างกายและตรวจภายใน รวมทั้งอาจส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการ เช่น การย้อมกรัม การเพาะเชื้อ ในส่วนของการรักษา แพทย์อาจพิจารณาให้ยารับประทาน หรือยาเหน็บ หรือยาในรูปแบบครีม
ข้อมูลอ้างอิง
รศ.พญ.จารุวรรณ แซ่เต็ง .
(2018) . ภาควิชาสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ . แหล่งข้อมูล
:
https://w1.med.cmu.ac.th/obgyn/index.php?option=com_content&view=article&id=1413:icm-vaginal-discharge-and-vaginal-bleeding&catid=127&Itemid=1010
. ค้นเมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2563 .