ความรู้จากแพทย์ศรีพัฒน์

การตรวจสุขภาพตา



อ.นพ.ธนภัทร เชาว์วิศิษฐ์เสรี

จักษุแพทย์

รหัสเอกสาร PI-IMC-298-R-00

อนุมัติวันที่ 24 ธันวาคม 2563

 

        นอกจากการตรวจสุขภาพร่างกายเป็นประจำแล้ว การตรวจสุขภาพตาก็มีความสำคัญไม่น้อยกว่ากัน ด้วยเพราะอายุที่มากขึ้น ส่งผลให้อวัยวะต่างๆ ในร่างกายมีประสิทธิภาพลดลงหรือเกิดความเสื่อมตามวัย “ดวงตา” ถือเป็นหนึ่งในอวัยวะที่มีการเปลี่ยนแปลงตามวัยและส่งผลกระทบต่อคุณภาพการดำเนินชีวิต จึงเป็นเหตุผลสำคัญที่ควรมีการตรวจสุขภาพตา โดยเฉพาะในผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน ที่จำเป็นต้องติดตามเฝ้าระวังภาวะแทรกซ้อน เช่น เบาหวานขึ้นตา อันก่อให้เกิดการสูญเสียการมองเห็นแบบถาวรได้


        การตรวจสุขภาพตา มีวัตถุประสงค์เพื่อตรวจคัดกรองโรคทางตาที่พบบ่อย ซึ่งอาจนำไปสู่คุณภาพชีวิตที่ลดลงและการสูญเสียการมองเห็นชั่วคราวหรือถาวร โดยโรคทางตาบางโรคอาจไม่มีอาการแสดงในระยะเริ่มต้น ดังนั้น การตรวจสุขภาพตาอย่างสม่ำเสมอแม้ยังไม่มีอาการผิดปกติ จะสามารถคัดกรองโรคตาตั้งแต่ยังไม่มีอาการหรือมีอาการเพียงเล็กน้อย เพื่อป้องกันการสูญเสียการมองเห็นที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต

 

การตรวจตา

การวัดระยะการมองเห็น (Visual Acuity)

        เป็นการตรวจประเมินความคมชัดในการมองเห็น เพื่อเป็นข้อมูลติดตามความสามารถในการมอง เห็นแต่ละครั้งที่มาพบแพทย์ โดยผู้เข้ารับการตรวจทุกท่านจะได้วัดระยะการมองเห็นก่อนการเข้าตรวจกับจักษุแพทย์


การวัดค่าสายตาด้วยเครื่องตรวจอัตโนมัติ (Auto refraction)

        เป็นการตรวจวัดค่าสายตาว่ามีภาวะสายตาสั้น สายตายาว หรือสายตาเอียงเบื้องต้น ด้วยเครื่องตรวจค่าสายตา


การตรวจคัดกรองตาบอดสี (Color test)

        เป็นการตรวจเบื้องต้นเพื่อประเมินหาความผิดปกติของเส้นประสาทตาหรือจอประสาทตา ที่อาจส่งผลให้ผู้ป่วยสูญเสียการมองเห็นหรือแยก แยะสีต่างๆ โดยอาจเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น โรคความผิดปกติของจอประสาทตาหรือเส้นประสาทตา การได้รับยาหรือสารพิษที่มีผลต่อดวงตา เป็นต้น


การตรวจวัดความดันลูกตา (Tonometer)

        เป็นการวัดความดันภายในดวงตาด้วยวิธีและอุปกรณ์มาตรฐาน เพื่อใช้ประเมินความเสี่ยงของโรคต้อหิน ซึ่งส่งผลให้ความดันในตาสูงขึ้น และเกิดการทำลายเส้นประสาทของดวงตาและการมองเห็นตามมา


การตรวจลานสายตา (Visual field) 

        เป็นการตรวจความกว้างในการการมองเห็นภาพ ด้วยเครื่องตรวจลานสายตาโดยเฉพาะ สำหรับประเมินว่ามีขอบเขตการมองเห็นที่ลดลงหรือบกพร่องในการมองเห็นที่ตำแหน่งใดหรือไม่ ซึ่งช่วยในการวินิจฉัยติดตามการรักษาหรือการเปลี่ยนแปลงของตัวโรค ได้แก่ โรคต้อหิน โรคจอประสาทตา ความผิดปกติของเส้นประสาทตา หรือความผิดปกติที่เกิดขึ้นในสมอง เช่น โรคหลอดเลือดสมอง หรือเนื้องอกในสมองมีผลต่อระบบการมองเห็น เป็นต้น