ความรู้จากแพทย์ศรีพัฒน์

มะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก


ผศ.นพ.สุวรรณ แสนหมี่

ศัลยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านลำไส้ใหญ่และทวารหนัก

รหัสเอกสาร PI-IMC-295-R-00

 อนุมัติวันที่ 24 ธันวาคม 2563


ท่านเคยมีอาการเหล่านี้หรือไม่


-          มีการเปลี่ยนแปลงของการถ่ายอุจจาระ ทั้งขนาด รูปร่างหรือจำนวนครั้ง


-          รู้สึกปวดเบ่ง ต้องการไปถ่ายอุจจาระบ่อยครั้ง ทั้งๆ ที่ไม่มีอุจจาระที่ขับถ่ายจริงหรือออกมาเพียงเล็กน้อย


-          ถ่ายอุจจาระปนเลือด ทั้งแดงสดหรือดำคล้ำ


-          ถ่ายอุจจาระลำบาก ต้องเบ่งมาก และรู้สึกปวดถ่ายอยู่ หลังอุจจาระเสร็จ


-          ปวดบริเวณท้องน้อยเป็นพักๆ


-          อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร


-          น้ำหนักลด 5% ของน้ำหนักตัวใน 1 เดือน หรือ 10% ใน 3 เดือน



มะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนักคืออะไร

        มะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก (Colorectal Cancer) คือ เนื้อร้ายที่มีการเจริญเติบโตอย่างผิดปกติที่เกิดขึ้นในลำไส้ใหญ่หรือทวารหนัก จนก่อให้เกิดอาการลำไส้อุดตันขึ้น และมีความสามารถในการแพร่กระจายไปยังต่อมน้ำเหลืองในช่องท้องและอวัยวะต่างๆ (โดยเฉพาะตับและปอด)


สาเหตุของมะเร็งลำไส้ใหญ่

ยังไม่ทราบสาเหตุที่ชัดเจน แต่มีปัจจัยส่วนที่เกี่ยวข้อง ได้แก่


-          กรรมพันธุ์และพฤติกรรมการดำรงชีวิต


-          การรับประทานอาหารไขมันสูง สัดส่วนของผักหรือผลไม้น้อย


-          วิถีการดำรงชีวิต เช่น ความอ้วน การสูบบุหรี่


ในกรณีที่สงสัยว่าจะเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ จะมีการตรวจอะไรบ้าง


-          การตรวจหาเลือดในอุจจาระ


-          การส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่และตัดชิ้นเนื้อไปตรวจทางพยาธิวิทยา ในกรณีที่พบความผิดปกติ


-          การสวนแป้งและเอกซเรย์


-          การเอกซเรย์คอมพิวเตอร์



การรักษามะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก


มีการรักษาหลายวิธีร่วมกัน โดยขึ้นอยู่กับระยะโรคและสภาพผู้ป่วย


-          การผ่าตัด มีทั้งการผ่าตัดแบบเปิดและการผ่าตัดส่องกล้อง เพื่อทำการตัดลำไส้ส่วนที่มีมะเร็งทิ้งไป


-          การให้ยาเคมีบำบัด เพื่อกำจัดเซลล์มะเร็งที่หลงเหลือจากการผ่าตัดหรือในกรณีที่ไม่สามารถผ่าตัดออกได้


-          การให้รังสีรักษา โดยส่วนใหญ่จะให้ก่อนการผ่าตัดเพื่อลดขนาดของเนื้อร้าย หรือให้หลังการผ่าตัดเพื่อทำลายเซลล์มะเร็งที่เหลือเฉพาะที่


ข้อแนะนำและการปฏิบัติตัวเพื่อลดความเสี่ยงของการเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก


-          ทราบประวัติมะเร็งในครอบครัวและเครือญาติ


-          พบแพทย์เพื่อตรวจร่างกายหรือส่องกล้องทางเดินอาหารเมื่ออายุมากกว่าหรือเท่ากับ 50 ปี หรือเมื่อมีอาการสงสัยทันที


-          รับประทานอาหารที่มีไขมันต่ำและเพิ่มปริมาณของผักและผลไม้


-          ออกกำลังกายสม่ำเสมอ


-          ป้องกันหรือลดความอ้วน


-          งดสูบบุหรี่