ความรู้จากแพทย์ศรีพัฒน์

สารพันคำถามเรื่องต้อหิน



ผศ.พญ.ธิดารัตน์ ลีอังกูรเสถียร

จักษุแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านต้อหินและต้อกระจก

รหัสเอกสาร PI-IMC-294-R-00

อนุมัติวันที่ 24 ธันวาคม 2563


 “โรคต้อหิน” เป็นสาเหตุทำให้ตาบอดมากเป็นอันดับ 2 รองจากต้อกระจก แต่การตาบอดจากโรคต้อหิน เมื่อเกิดขึ้นแล้วจะเป็นแบบถาวร ไม่สามารถรักษาให้กลับมามองเห็นได้เหมือนต้อกระจก


โรคต้อหินคืออะไร


        โรคต้อหิน (Glaucoma) คือ โรคตาชนิดหนึ่งที่การระบายออกของน้ำเลี้ยงในลูกตาน้อยกว่าปกติ ทำให้ความดันในลูกตาสูงขึ้นจนกระทั่งกดทำลายขั้วประสาทตา (Optic disc) ทำให้มีความผิดปกติของลานสายตา จนกระทั่งตาบอดในที่สุด


อะไรคือสาเหตุของโรคต้อหิน


        ปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุการเกิดโรคที่ชัดเจน แต่พบกลุ่มที่มีความเสี่ยง คือ ผู้ที่มีความดันลูกตาสูงกว่าค่ามาตรฐานผู้สูงอายุ ผู้ที่มีญาติเป็นโรคต้อหิน นอกจากนี้ในกลุ่มผู้ป่วยโรคเบาหวาน โรคหัวใจและหลอดเลือด ทำให้เลือดไหลเวียนไปขั้วประสาทตาไม่ดี ผู้ที่มีสายตาสั้นหรือยาวมากๆ ผู้ที่เคยได้รับอุบัติเหตุทางตามาก่อน พบว่ามีความเสี่ยงในการเกิดต้อหินมากขี้น


อาการของโรคต้อหินเป็นอย่างไร


        ผู้ป่วยส่วนมากเป็น ต้อหินชนิดเรื้อรัง ซึ่งในระยะแรกของโรคจะไม่แสดงอาการชัดเจน คือ ไม่มีอาการปวด ไม่มีตามัว ไม่มีตาแดง โดยหากผู้ป่วยมีอาการตามัว และลานสายตาผิดปกติ เช่น มีแถบมืดดำเกิดขึ้นในลานสายตา หรือการมองเห็นแคบลง แสดงว่าโรคต้อหินนั้นเป็นระยะท้ายๆ แล้ว


        ต้อหินอีกชนิดหนึ่ง คือ ต้อหินชนิดเฉียบพลัน ซึ่งจะมีอาการชัดเจน คือ ปวดตามากทันทีโดยไม่สามารถบรรเทาอาการได้ด้วยยาแก้ปวด ตามัวลง ตาแดง มองเห็นสีรุ้งรอบดวงไฟ ร่วมกับมีอาการปวดศีรษะ คลื่นไส้และอาเจียนได้


        โรคต้อหินอาจแบ่งตามลักษณะทางกายวิภาค โดยใช้มุมตา ซึ่งเป็นบริเวณที่น้ำเลี้ยงลูกตาระบายออกจากตา โดยแบ่งเป็น ชนิดมุมตาเปิด จะพบว่าน้ำเลี้ยงลูกตาระบายออกจากบริเวณมุมตาได้น้อยกว่าปกติ และ ชนิดมุมตาปิดหรือแคบ จะมีความเสี่ยงต่อการที่น้ำเลี้ยงลูกตาระบายออกจากตาไม่ได้อย่างเฉียบพลัน ทำให้เกิดต้อหินชนิดเฉียบพลันได้


การรักษาโรคต้อหินทำได้อย่างไร


        โรคต้อหินไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ การรักษาเป็นเพียงการยับยั้งและชะลอโรคไม่ให้มีการสูญเสียการมองเห็นเพิ่มขึ้น ซึ่งการรักษาหลักของโรคต้อหิน คือ การลดความดันลูกตา โดยการหยอดและ/หรือรับประทานยา การรักษาด้วยเลเซอร์ และการผ่าตัด โดยขึ้นอยู่กับชนิดและระยะของโรคต้อหิน

 

 

โรคต้อหินสามารถป้องกันได้หรือไม่


        เราไม่สามารถป้องกันการเกิดโรคต้อหินได้ แต่สามารถป้องกันการเกิดภาวะตาบอดถาวรได้ หากได้รับการวินิจฉัยและรักษาโรคอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ระยะเริ่มต้น ดังนั้น การได้รับการตรวจวัดความดันลูกตา ตรวจขั้วประสาทตา และตรวจสุขภาพตาอื่นๆ จากจักษุแพทย์เป็นประจำเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง


เมื่อไหร่จึงควรเข้ารับการตรวจตาจากจักษุแพทย์


ประชาชนทั่วไปควรได้รับการตรวจสุขภาพตาจากจักษุแพทย์อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูง ดังนี้


-          อายุมากกว่า 40 ปี


-          มีญาติเป็นโรคต้อหิน


-          เคยได้รับอุบัติเหตุรุนแรงที่ตาและบริเวณใกล้เคียง


-          เคยมีการอักเสบภายในลูกตามาก่อน


-          ผู้ป่วยโรคหัวใจและหลอดเลือด


-          ผู้ป่วยเบาหวาน


-          ผู้ที่มีสายตาสั้นหรือยาวมากๆ

 


ข้อมูลอ้างอิง

ผศ.พญ.ธิดารัตน์ ลีอังกูรเสถียร . 2012 . คำถามน่ารู้เรื่องต้อหิน. ภาควิชาจักษุวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่. แหล่งข้อมูล:https://w1.med.cmu.ac.th/eye/index.php?option=com_content&view=article&id=178&catid=17. ค้นเมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2563.