อ.นพ.ทัศนัย วนรัตน์วิจิตร
กุมารแพทย์
รหัสเอกสาร PI-IMC-283-R-00
อนุมัติวันที่ 24 ธันวาคม 2563
เมื่อเข้าสู่ฤดูหนาว นอกจากอากาศเย็นสบายแล้ว สิ่งที่ต้องระวัง คือ การเจ็บป่วย โดยเฉพาะในเด็ก ซึ่งโรคยอดฮิตที่มักระบาดในหน้าหนาวมีหลายโรค และสามารถติดต่อกันได้ง่าย พ่อแม่ผู้ปกครองควรหมั่นสังเกตอาการของลูก หากพบว่ามีอาการผิดปกติหรือเจ็บป่วย ควรรีบพาไปพบแพทย์
ฤดูกาลที่เปลี่ยนแปลง ทำให้สภาพอากาศเปลี่ยนแปลง ซึ่งความชื้นและความหนาวเย็นจะทำให้เชื้อโรคเจริญเติบโตได้ดี มีชีวิตอยู่ในสิ่งแวดล้อมได้นานขึ้น จึงมักพบการระบาดของโรคต่างๆ ในระยะนี้ โดย 5 โรคยอดฮิตในหน้าหนาว ถือเป็นโรคที่อยู่ในกลุ่มโรคติดต่อ ดังนั้น การดูแลสุขภาพเด็กให้แข็งแรง สมบูรณ์ จะช่วยป้องกันโรคได้
โรคไข้หวัดใหญ่ (Influenza )
โรคไข้หวัดใหญ่เป็นสาเหตุของโรคติดต่อทางระบบทางเดินหายใจที่เกิดจากติดเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ (Influenza) การระบาดส่วนใหญ่เกิดช่วงฤดูหนาว ในขณะที่ประเทศเขตร้อนเกิดได้ตลอดปี ทำให้ช่วงเกิดการระบาดไม่แน่นอน โดยมีระยะฟักตัวประมาณ 2 วัน (อยู่ในช่วง 1- 4 วัน) ผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่ส่วนใหญ่จะแพร่เชื้อให้ผู้อื่นในช่วง 3-4 วันแรก ผู้ใหญ่ที่แข็งแรงอาจจะสามารถเริ่มแพร่เชื้อให้ผู้อื่นก่อนมีอาการ 1 วัน และจนถึง 5-7 วัน เด็กและผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำอาจจะแพร่เชื้อนานกว่า 7 วัน
อาการไข้หวัดใหญ่มักจะดีขึ้นภายใน 2-3 วัน จนถึง 2 สัปดาห์ แต่บางคนมีอาการแทรกซ้อน เช่น ไซนัสอักเสบ หูชั้นกลางอักเสบ ปอดอักเสบ ซึ่งเป็นอาการแทรกซ้อนไข้หวัดใหญ่ ที่เกิดจากเชื้อไข้หวัดใหญ่เองหรือเกิดจากการติดเชื้อร่วมกันของเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่กับเชื้อแบคทีเรีย และสามารถนำไปสู่การติดเชื้อที่รุนแรงได้
ในบางรายอาจมีอาการแทรกซ้อนที่รุนแรง เช่น กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ สมองอักเสบ กล้ามเนื้ออักเสบ (หรืออวัยวะต่างๆ ล้มเหลว เช่น ระบบหายใจ และไตล้มเหลว คนที่มีโรคประจำตัว เช่น หอบหืด (Asthma) อาจจะมีอาการกำเริบหลังจากติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ได้ คนไข้ที่เป็นโรคหัวใจเรื้อรัง และโรคเรื้อรังอาจจะมีอาการแย่ลง รวมทั้งคนที่มีร่างกายแข็งแรงก็สามารถติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ได้
โรคอีสุกอีใส (Chickenpox)
โรคอีสุกอีใส หรือโรคสุกใส เกิดจากเชื้อไวรัสวาริเซลลา (Varicella virus) ซึ่งสามารถติดต่อได้ง่ายและมักระบาดในช่วงฤดูหนาว โดยติดต่อทางการหายใจและสารคัดหลั่ง เช่น พูดคุย ไอ จาม หรือการสัมผัสผู้ป่วย เช่น การสัมผัสถูกตุ่มแผลสุกใส เป็นต้น และการใช้สิ่งของร่วมกันกับผู้ป่วย เช่น ที่นอน หมอน ผ้าเช็ดหน้า ผ้าเช็ดตัว ผ้าห่ม ซึ่งอาจเปื้อนตุ่มแผลของผู้ป่วย ระยะเวลาหลังจากได้รับเชื้อจนเกิดอาการ ใช้เวลา 10-21 วัน โรคนี้พบมากในเด็ก แต่ผู้ใหญ่จะมีอาการรุนแรงกว่าในเด็ก
อาการของโรคเริ่มด้วยมีไข้ ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยร่างกาย 1-2 วัน เบื่ออาหาร หลังจากไข้จะมีผื่นแดงเม็ดเล็กๆ มีอาการคัน ประมาณ 2-3 ชั่วโมงต่อมาจะกลายเป็นตุ่มน้ำพองใสและเป็นตุ่มน้ำขุ่น มีขนาดใหญ่และแตกได้ง่าย หรือแห้งเป็นสะเก็ด จะพบผื่นทุกระยะเกิดขึ้นในเวลาเดียวกัน ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะของโรคอีสุกอีใส และตุ่มจะมากขึ้นเรื่อยๆ พบมากตรงบริเวณลำตัวก่อนลามไปที่คอ หน้า ศีรษะ แขนขา และพบได้ทั้งตัว รวมทั้งเยื่อบุในช่องปาก ลำคอ หรือเยื่อบุตา
โรคอีสุกอีใสจะมีระยะแพร่เชื้อ คือ ประมาณ 1-2 วันก่อนมีผื่นขึ้นจนถึงระยะผื่นตกสะเก็ดจนแห้งทั้งหมด เมื่อหายแล้วเชื้อไวรัสจะคงอยู่ในร่างกายโดยหลบอยู่ในปมประสาท และร้อยละ 15 เกิดเป็นงูสวัดในหลายปีต่อมา เมื่อภาวะภูมิคุ้มกันของร่าง กายต่ำลง
โรคมือเท้าปาก (Hand Foot Mouth Disease)
โรคมือเท้าปาก เป็นโรคที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัส สายพันธุ์ที่พบบ่อย ได้แก่ Coxsackievirus A16 และ Enterovirus 71 ซึ่งโรคนี้มักพบได้ในวัยทารกและเด็กที่มีอายุน้อยกว่า 5 ปี อย่างไรก็ตามสามารถพบได้ในเด็กโตและผู้ใหญ่ด้วยเช่นกัน อาการแสดงที่พบ ได้แก่ ไข้ เบื่ออาหาร เจ็บคอ อ่อนเพลีย โดย 1-2 วันหลังจากที่ผู้ป่วยมีไข้ จะเริ่มมีแผลหรือเจ็บบริเวณปากหรือในปาก (ซึ่งเรียกว่าโรค Herpangina) และจะมีผื่นลักษณะคล้ายจุดขนาดเล็กสีแดงบริเวณฝ่ามือฝ่าเท้า บางครั้งอาจพบในลักษณะตุ่มพองเกิดขึ้นได้ ในกรณีเด็กเล็กบางคนสามารถพบภาวะขาดสารน้ำ/สารอาหารร่วมด้วย เนื่องจากมีอาการเจ็บบริเวณแผลในปากจึงทำให้สามารถรับประทานอาหารได้น้อย ทำให้ได้รับสารน้ำ/สารอาหารไม่เพียงพอ
โรคนี้มีระยะฟักตัว 3-6 วัน การติดต่อส่วนใหญ่เกิดจากได้รับเชื้อไวรัสเข้าสู่ปากโดยตรง สามารถแพร่ติดต่อง่ายในช่วงสัปดาห์แรกของการเจ็บป่วย โดยเชื้อไวรัสติดมากับมือหรือของเล่นที่เปื้อนน้ำลาย น้ำมูก น้ำจากตุ่มพองและแผล หรืออุจจาระของผู้ป่วย และเกิดจากการไอจามรดกัน โดยหายใจเอาเชื้อที่แพร่กระจายจากละอองฝอยของผู้ป่วย สำหรับการติดเชื้อจากอุจจาระจะเกิดได้ในระยะที่เด็กมีอาการทุเลาจนกระทั่งหายป่วยแล้วประมาณ 1 เดือน
โรคหัด (Measles or Rubeola)
โรคหัด เกิดจากเชื้อไวรัส (Measles virus) มีระยะฟักตัว 11-12 วัน ทำให้มีอาการไข้สูง ไอ มีน้ำมูก และตาแดง มีน้ำตาไหล หลังจากมีอาการ 2-3 วัน อาจตรวจพบจุดสีขาวบริเวณกระพุ้งแก้ม (Koplik spots) และหลังจากมีอาการ 3-5 วัน เรื่มมีผื่นที่บริเวณใบหน้า ไรผมแล้วกระจายลงมาที่คอ ลำตัว แขน ขาและฝ่าเท้า หลังจากมีผื่นขึ้นยังมีไข้ต่อ อาจมีถ่ายเหลวหรืออาการชักจากไข้สูง
โรคนี้มีระยะเวลาแพร่เชื้อ 4 วันก่อนและ 4 วันหลังจากมีผื่น ติดต่อได้ง่ายโดยการสูดดมฝอยละออง (Droplets) ของสารคัดหลั่ง โดยการไอ จาม หายใจรดกัน และเชื้อหัดสามารถอยู่ในอากาศแพร่เชื้อ (Airborne) ได้นานถึง 2 ชั่วโมง แม้ว่าผู้ติดเชื้อจะออกจากบริเวณนั้นแล้ว โดยอาการแทรกซ้อนที่พบบ่อย ได้แก่ หูชั้นกลางอักเสบ ปอดอักเสบ กล่องเสียงหลอดคอและหลอดลมอักเสบ ท้องเสีย และสมองอักเสบ ส่วนกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดอาการแทรกซ้อนจากการติดเชื้อหัด ได้แก่ เด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี โดยเฉพาะเด็กอายุต่ำกว่า 1 ปี ผู้ใหญ่ที่อายุมากกว่า 20 ปีหญิงตั้งครรภ์และผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง
โรคติดเชื้อไวรัส RSV (Respiratory syncytial virus)
เป็นสาเหตุที่พบบ่อยของหลอดลมฝอยอักเสบ (Bronchiolitis) ปอดบวมจากเชื้อไวรัส (Viral pneumonia) ในเด็กต่ำกว่าอายุ 1ปี และเป็นสาเหตุสำคัญของการติดเชื้อระบบทางเดินหายใจในเด็กอายุน้อยกว่า 5 ปี
RSV มี 2 สายพันธุ์ คือ RSV-A และ RSV-B ทำให้เป็นแล้วเป็นซ้ำได้ ในการระบาดแต่ละครั้งเป็นการติดเชื้อซ้ำอย่างน้อย 10-20% มีการระบาดทุกปีในช่วงฤดูฝนถึงต้นฤดูหนาว เป็นเวลา 4-5 เดือน การระบาดมักจะเป็นช่วงเดียวการระบาดของเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่
โรคนี้มีระยะฟักตัวประมาณ 3-5 วัน ส่วนการติดต่อ ระยะเวลาที่แพร่เชื้อขึ้นอยู่กับความรุนแรงและภูมิคุ้มกันแต่ละคนเด็กส่วนใหญ่ที่มีทางเดินหายใจส่วนล่างอักเสบ ยังสามารถแพร่กระจายเชื้อได้ 1-2 สัปดาห์ หลังจากออกจากโรงพยาบาลมีหลักฐานยืนยันว่าไวรัสนี้สามารถแพร่กระจายเชื้อได้มากกว่าหรือเท่ากับ 3 สัปดาห์
ไวรัสสามารถแพร่กระจายได้จากละอองฝอยทางอากาศและการสัมผัสสิ่งของที่ปนเปื้อนเชื้อ การเว้นระยะห่าง 6 ฟุตเพียงพอในการป้องกันการติดต่อทางอากาศ
อาการแสดงทางคลินิก
มีไข้ อาการจาม คัดจมูก น้ำมูกไหล หลังจากนั้น 1-3 วัน จะมีอาการไอ หลังจากเริ่มไอมักจะมีอาการของหลอดลมฝอยอักเสบ (Bronchiolitis) อาจจะมีหูชั้นกลางอักเสบหรือมีการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน ถ้าอาการเป็นมากขึ้นจะมีอาการไอมากและหายใจลำบาก ร่วมกับมีการหายใจเร็ว มีหน้าอกบุ๋ม กระสับกระส่าย ตัวเขียว
เด็กที่มีอายุระหว่าง 6 สัปดาห์ถึง 7 เดือน มักจะมีการติดเชื้อในทางเดินหายใจส่วนล่าง มีความรุนแรงตั้งแต่เป็นหลอดลมฝอยอักเสบ (Bronchiolitis) ปอดบวม (Bronchopneumonia) หลังจากอายุ 1 ปี พบหลอดลมฝอยอักเสบน้อยลง
การติดเชื้อในผู้ใหญ่หรือเด็กโตที่มีร่างกายแข็งแรง อาการมักไม่รุนแรง หายเองได้
อาการที่บ่งบอกว่ามีอาการรุนแรงมีอันตรายถึงชีวิต ได้แก่ อาการตัวเขียว หายใจเร็วมากกว่า 70 ครั้งต่อนาทีกระสับกระส่าย หยุดหายใจ
การป้องกัน
ทำได้โดยการฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ อีสุกอีใสและโรคหัด แต่ยังไม่มีวัคซีนป้องกันโรคมือเท้าปาก และโรคติดเชื้อไวรัส RSV
การป้องกันที่ดีที่สุด คือ
- เด็กที่ป่วยควรอยู่บ้าน ไม่ควรไปโรงเรียน
- ใส่หน้ากากอนามัย
- ล้างมือบ่อยๆ
- ทำความสะอาดข้าวของเครื่องใช้ ไม่ให้ใช้ร่วมกัน โดยเฉพาะที่โรงเรียน
- ห้องเรียนจะต้องมีอากาศถ่ายเทได้ดี