ความรู้จากแพทย์ศรีพัฒน์

คลอดก่อนกำหนดสำคัญอย่างไร ต่อความปลอดภัยของมารดาและทารก


ศ.พญ.สายพิณ พงษธา

สูตินรีแพทย์

รหัสเอกสาร PI-IMC-280-R-01

อนุมัติวันที่ 12 ตุลาคม 2566


        ภาวะคลอดก่อนกำหนด ถือเป็นปัญหาสำคัญอย่างหนึ่งของคนไทย โดยพบภาวะนี้ได้ 12% ซึ่งการเจ็บครรภ์คลอดก่อนกำหนด เป็นสาเหตุที่ทำให้ทารกคลอดออกมาก่อนกำหนด ส่งผลให้โอกาสที่ทารกจะเสียชีวิตหรือทุพพลภาพมีมากขึ้น

 

การคลอดก่อนกำหนดคืออะไร

        การคลอดก่อนกำหนด คือ การคลอดก่อนที่อายุครรภ์ตั้งแต่ 20 สัปดาห์ แต่ยังไม่ถึง 37 สัปดาห์ 

 

ภาวะคลอดก่อนกำหนดสำคัญอย่างไร

        ความสำคัญของภาวะคลอดก่อนกำหนด จะเน้นไปที่ทารก เนื่องจากทารกที่คลอดออกมาก่อนเวลาอันควร ร่างกายยังไม่มีความสมบูรณ์พร้อมเต็มที่ โดยเฉพาะหากคลอดออกมาในขณะที่มารดามีอายุครรภ์น้อยมากๆ โอกาสที่ทารกจะมีชีวิตอยู่รอดได้ภายในช่วงขวบปีแรกก็จะน้อยตามไปด้วย


        ในกรณีที่ทารกมีชีวิตรอด มักจะมีปัญหาที่ติดตามมา เช่น ภาวะเลือดออกในสมอง การเจริญของปอดไม่สมบูรณ์เต็มที่ และอาจพัฒนาไปเป็นภาวะปอดเรื้อรังได้ นอกจากนั้นจะมีปัญหาเรื่องของการติดเชื้อได้ง่าย ปัญหาเรื่องการสูญเสียการมองเห็นจากสายตาที่ผิดปกติ และพัฒนาการด้านสมองและสติปัญญาต่างๆ ก็อาจล่าช้ากว่าเด็กทั่วไป

 

ปัจจัยเสี่ยงของภาวะคลอดก่อนกำหนด

        ปัจจัยเสี่ยงของภาวะคลอดก่อนกำหนด มีทั้งทราบสาเหตุและไม่ทราบสาเหตุ โดยเป็นปัจจัยเสี่ยงของมารดา และปัจจัยเสี่ยงของทารก

        ปัจจัยเสี่ยงของมารดา เช่น ปากมดลูกสั้น การตั้งครรภ์แฝด (สามารถทำนายได้ว่า ประมาณ 60% จะมีภาวะคลอดก่อนกำหนด) ครรภ์ที่แล้วเคยคลอดก่อนกำหนดมาก่อน ในครรภ์นี้จะเพิ่มความเสี่ยงอีกหลายเท่า มารดามีเลือดออกทางช่องคลอดในไตรมาสที่สองของการตั้งครรภ์ มีความผิดปกติของรก เช่น รกเกาะต่ำ รกลอกตัวก่อนกำหนด หรือมีภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ เช่น ความดันโลหิตสูง ภาวะครรภ์เป็นพิษ ภาวะติดเชื้อของมารดา ส่วนปัจจัยเสี่ยงของทารก เช่น ภาวะความพิการของทารก หรือการเจริญเติบโตช้าในครรภ์

 

ปฏิบัติตัวอย่างไร เพื่อป้องกันภาวะการคลอดก่อนกำหนด

        การปฏิบัติตัวของมารดา ถึงแม้จะมีปัจจัยเสี่ยงหรือไม่มีปัจจัยเสี่ยงก็ตาม คือ การฝากครรภ์ตั้งแต่อายุครรภ์ยังน้อย และมาฝากครรภ์ตามนัดอย่างสม่ำเสมอ รวมทั้งปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ พักผ่อนอย่างเพียงพอ ดูแลเรื่องการรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ และมีปริมาณเหมาะสม นอกจากนั้น ต้องไม่เสพสารเสพติดทั้งหลาย เช่น บุหรี่ แอลกอฮอล์ หรือสารเสพติดอื่นๆ


        กรณีที่มีปัญหาหรือมีอาการผิดปกติ เช่น มีภาวะปวดท้องน้อยอย่างรุนแรง ปวดหน่วงมาก หรือมดลูกมีการบีบรัดตัวเป็นจังหวะๆ อย่างสม่ำเสมอ อย่างน้อยทุก 10-15 นาที หากมีภาวะเลือดออกทางช่องคลอด หรือมีน้ำคร่ำแตก ควรรีบมาโรงพยาบาลทันที เนื่องจากหากมีภาวะการเจ็บครรภ์คลอดก่อนกำหนด และมาโรงพยาบาลอย่างรวดเร็ว จะสามารถให้การรักษาได้ทันท่วงที เช่น การให้ยาระงับการเจ็บครรภ์ และยากระตุ้นการทำงานของปอดทารก