ความรู้จากแพทย์ศรีพัฒน์

สตรีตั้งครรภ์ควรทำอะไรบ้าง


ศ.พญ.สายพิณ พงษธา

สูตินรีแพทย์

รหัสเอกสาร PI-IMC-281-R-01

อนุมัติวันที่ 12 ตุลาคม 2566


เมื่อรู้ว่าตั้งครรภ์ คุณแม่หลายท่าน อาจจะไม่แน่ใจว่าต้องทำอะไรบ้าง โดยมีข้อแนะนำถึงวิธีการปฏิบัติตัวสำหรับสตรีตั้งครรภ์ ดังนี้

 

สุขศึกษาทั่วไป

-        ดูแลรักษาฟัน ถ้ามีฟันผุให้ปรึกษาทันตแพทย์

-        ใส่เสื้อผ้าหลวมๆ สวมใส่สบาย ใส่รองเท้าที่ถนัดและทรงตัวได้ดี

-        งดการดื่มสุราและบุหรี่

-        มีเพศสัมพันธ์ได้ปกติตลอดการตั้งครรภ์ ยกเว้นในครรภ์ที่มีความเสี่ยงสูง เช่น เลือดออกทางช่องคลอด ครรภ์แฝด ประวัติการตั้งครรภ์ที่ไม่ดีมาก่อน เช่น แท้งเป็นอาจิณ ประวัติการคลอดก่อนกำหนด น้ำเดิน รกเกาะต่ำ

 

การออกกำลังกายและการทำงาน

-        ปฏิบัติงานประจำวันได้ตามปกติ

-        ออกกำลังกายได้พอสมควร อย่างน้อย 30 นาทีต่อวัน ถ้าเคยออกกำลังมาก่อนตั้งครรภ์ สามารถทำต่อได้ในขณะตั้งครรภ์ แต่รายที่ยังไม่เคยทำมาก่อน ไม่ควรเริ่มต้นการออกกำลังกายที่หนักเกินไปในขณะตั้งครรภ์

-        ไม่ควรทำงานหนัก หรือออกกำลังกายชนิดหักโหม การออกกำลังกายที่เหมาะสม ไม่มีผลต่อการแท้ง อาจช่วยย่นระยะการเบ่งคลอด และลดการผ่าตัดทำคลอด

-        ภาวะบางอย่างต้องจำกัดการออกกำลังกาย เช่น ความดันโลหิตสูงจากการตั้งครรภ์ โรคหัวใจ โรคปอด ครรภ์แฝด ทารกโตช้าในครรภ์ แท้งคุกคาม มีเลือดออกจากช่องคลอด รกเกาะต่ำ เป็นต้น หากมีความเสี่ยงขณะตั้งครรภ์ หรือมีข้อสงสัยต่างๆ ควรปรึกษาแพทย์

 

การเดินทาง

-        การเดินทางโดยรถยนต์ ให้ใช้เข็มขัดขณะขับขี่อย่างถูกวิธี คือ Three-point-restrains คือ พาดจากหัวไหล่ผ่านมากลางร่องอก และลงมาด้านข้างสะโพก เส้นด้านล่างที่พาดในแนวนอนจะคาดผ่านสะโพกใต้ท้องเหนือกระดูกต้นขา หากท้องใหญ่ขึ้น

         หรือความยาวเข็มขัดนิรภัยไม่พอควรหลีกเลี่ยงการเดินทางโดยรถยนต์ หญิงตั้งครรภ์ไตรมาส 3 หรืออายุครรภ์ 7-9 เดือน ที่มีอาการเจ็บครรภ์หรือมดลูกหดรัดตัวบ่อยๆ ไม่ควรขับรถเอง

-        การเดินทางโดยเครื่องบิน สามารถเดินทางได้จนถึง 36 สัปดาห์ และระหว่างเดินทางควรมีการลุกเดินอย่างน้อยชั่วโมงละครั้ง เพื่อลดความเสี่ยงของลิ่มเลือดอุดตัน

 

การฉีดวัคซีนขณะตั้งครรภ์

-        วัคซีนที่ให้ได้ในขณะตั้งครรภ์ เช่น วัคซีนไข้หวัดใหญ่ (Influenza) วัคซีนคอตีบ ไอกรน บาดทะยัก (Tdap) วัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบบี (Hepatitis B)

-        วัคซีนที่ห้ามให้ในขณะตั้งครรภ์ เช่น วัคซีนป้องกันไวรัสหัดเยอรมัน (Rubella) คือ วัคซีน MMR (Measles-mumps-rubella) ซึ่งจะแนะนำให้ฉีดก่อนการตั้งครรภ์อย่างน้อย 3 เดือน หากยังไม่มีภูมิต้านทาน

 

 

การรับประทานอาหาร

-        รับประทานอาหารได้ทุกอย่างที่มีประโยชน์ครบ 5 หมู่ เช่น เนื้อสัตว์ ข้าว นม ไข่ ผลไม้ ควรงดอาหารรสจัดและเค็มเกินไป และควรหลีกเลี่ยงขนมหวานในปริมาณมาก โดยเฉพาะผู้ที่เป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์ และผู้ที่มีน้ำหนักตัวมาก

 

นอกจากนั้น หากมีอาการผิดปกติ ควรรีบไปพบแพทย์ ซึ่งอาการผิดปกติ ได้แก่

 อาการที่ต้องไปพบแพทย์ก่อนนัด

-        คลื่นไส้อาเจียนมาก

-        มีไข้ หรือไม่สบายอื่นๆ

-        เลือดออกทางช่องคลอด หรือตกขาวมากผิดปกติ

-        ปัสสาวะน้อยหรือปัสสาวะแสบขัด

-        ปวดศีรษะ ตาพร่ามัว จุกเสียดยอดอก

-        บวมมากตามมือ เท้า หรือหน้า

-        ทารกในครรภ์ดิ้นน้อยลง

 

อาการที่ต้องรีบไปโรงพยาบาลทันที

-        เลือดออกปริมาณทางช่องคลอด

-        ปวดท้องมาก

-        น้ำเดิน ลักษณะ คือ มีน้ำใสไหลออกจากช่องคลอดปริมาณมาก อาบขา หรือกลั้นไม่ได้

-        เจ็บครรภ์ถี่หรือปวดเกร็งท้อง

-        ทารกในครรภ์ดิ้นน้อยลง

 

ข้อมูลอ้างอิง

พญ.ธัญญลักษณ์  วงศ์ลือชา. คำแนะนำแก่สตรีตั้งครรภ์ . ศูนย์ศรีพัฒน์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ . แหล่งข้อมูล : https://sriphat.med.cmu.ac.th/th/knowledge-158. ค้นเมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2563.