ความรู้จากแพทย์ศรีพัฒน์

นอนกรนในผู้ใหญ่ แตกต่างอย่างไรกับนอนกรนในเด็ก



รศ.พญ.นันทิการ์ สันสุวรรณ

แพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางด้านหูคอจมูก

รหัสเอกสาร PI-IMC-278-R-00

อนุมัติวันที่ 26 พฤศจิกายน 2563


         “กรน” คือ เสียงที่เกิดจากการสั่นสะเทือนของอวัยวะทางเดินหายใจส่วนต้น เช่น เพดานอ่อน ลิ้นไก่ ผนังคอหอยและลิ้น เมื่อมีการอุดกั้นของทางเดินหายใจส่วนต้น ทำให้ลมหายใจผ่านลงไปไม่สะดวก ซึ่งสามารถเกิดได้ทั้งในเด็กและในผู้ใหญ่


          นอนกรนสามารถแบ่งได้เป็น 2 ประเภท ดังนี้ การนอนกรนธรรมดา คือ มีการตีบแคบลงของทางเดินหายใจขณะนอนหลับบางส่วน ทำให้เกิดเสียงรบกวนแก่ผู้ร่วมห้องนอน ซึ่งจัดเป็นชนิดไม่อันตราย และ การนอนกรนที่มีการหยุดหายใจร่วมด้วย เนื่องจากการอุดกั้นของทางเดินหายใจขณะนอนหลับ ทำให้เกิดการหยุดหายใจ ร่างกายได้รับออกซิเจนไม่เพียงพอ จึงทำให้เสียงกรนไม่สม่ำเสมอ อาจมีการสะดุ้งตื่น กลั้นหายใจ หายใจแรง หรือสำลักร่วมด้วย

 

นอนกรนในผู้ใหญ่แตกต่างอย่างไรกับนอนกรนในเด็ก

        ปัญหานอนกรนในผู้ใหญ่ มักเกิดจากการที่มีน้ำหนักตัวเกินเกณฑ์มาตรฐานหรือว่าโรคอ้วน โดยความรุนแรงของโรคจะสัมพันธ์กับน้ำหนักตัว หากลดน้ำหนักได้ ความรุนแรงของโรคก็จะลดลง หากปล่อยให้น้ำหนักเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ความรุนแรงของโรคหรือการดำเนินโรคก็จะเป็นไปเรื่อยๆ รวมทั้งในผู้ที่มีอายุน้อยและมีความดันโลหิตสูง ควรจะได้รับการตรวจบันทึกข้อมูลขณะหลับเพิ่มเติม เพื่อหาสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการนอนกรน


        ส่วนการนอนกรนในเด็ก มักเกิดจากต่อมทอนซิลและต่อมอะดีนอยด์โต เนื่องมาจากการเจ็บป่วย เป็นไข้บ่อย ต่อมทอนซิลและต่อมอะดีนอยด์เป็นเนื้อเยื่อน้ำเหลือง เมื่อไหร่ที่มีไข้หรือป่วยเป็นหวัด เนื้อเยื่อเหล่านี้จะโตขึ้นเรื่อยๆ หากมีอาการเป็นประจำจะทำให้ต่อมเหล่านี้ไม่มีการยุบตัว เมื่อต่อมทอนซิลและอะดีนอยด์โตมากขึ้นเรื่อยๆ จะขวางทางเดินหายใจ ทำให้ทางเดินหายใจตีบแคบลง เด็กจะต้องใช้แรงในการหายใจมากขึ้น เพื่อผ่านรูแคบๆ ทำให้เกิดเสียงกรนขึ้น

 

การวินิจฉัยหาสาเหตุและข้อสังเกตที่ควรมาพบแพทย์

        การวินิจฉัยภาวะนอนกรนในผู้ใหญ่ เพื่อหาสาเหตุว่าอาการนอนกรนนั้นมีการหยุดหายใจขณะหลับร่วมด้วยหรือไม่ จำเป็นจะต้องตรวจบันทึกข้อมูลขณะหลับด้วยเครื่องมือพิเศษ และจำเป็นจะต้องตรวจบันทึกในเวลากลางคืน เพื่อตรวจสอบว่าความรุนแรงของการหยุดหายใจนั้นมีความรุนแรงมากหรือน้อย และเพื่อทราบว่าระดับออกซิเจนตกไปมากน้อยเพืยงใด นอก จากนี้การตรวจหาสาเหตุที่ทำให้เกิดการอุดกั้นของทางเดินหายใจ เช่น การตรวจในช่องจมูก ช่องปาก ก็จะเป็นประโยชน์ เพื่อหาตำแหน่งของการอุดกั้นของทางเดินหายใจ


        ในเด็กที่มีปัญหานอนกรน หากเสียงกรนไม่สม่ำเสมอ ขาดหาย หรือมีการหายใจสะดุด บางรายอาจจะมีการหายใจเเรง อกบุ๋ม ควรจะรีบมาปรึกษาแพทย์ นอกจากนี้เด็กบางคนอาจจะมีการสะดุ้งตื่นกลางดึก ร้องไห้โยเยโดยไม่ทราบสาเหตุ ซึ่งเป็นอาการที่บ่งบอกถึงว่ามีการขาดออกซิเจน ควรได้รับการตรวจเพิ่มเติม นอกจากนี้เด็กบางรายที่มีน้ำหนักน้อยหรือมากกว่าเกณฑ์ ควรได้รับการตรวจอย่างละเอียด


การรักษา

        การรักษานอนกรนในผู้ใหญ่มีหลากหลายวิธี ในกรณีที่มีอาการทางจมูกหรือจมูกอักเสบภูมิแพ้ร่วมด้วย การรักษาด้วยยาแก้แพ้หรือยาพ่นจมูกจะทำให้อาการกรนลดน้อยลง ในผู้ป่วยที่มีต่อมทอนซิลโต การรักษาด้วยการผ่าตัดต่อมทอนซิลจะช่วยได้มาก หากผู้ป่วยมีอาการไม่มาก การรักษาแบบการจี้ด้วยคลื่นความถี่วิทยุภายในช่องปาก จะช่วยลดความรุนแรงของการนอนกรนให้น้อยลง ผู้ป่วยนอนหลับอิ่มมากขึ้น สามารถตื่นตอนเช้าด้วยอาการที่สดชื่น แต่ในกรณีที่เป็นรุนแรงมาก แพทย์อาจรักษาด้วยการใส่เครื่องอัดอากาศขณะหลับ เครื่องนี้จะช่วยดันอากาศเข้าไป ซึ่งจะเปิดทางเดินหายใจ ทำให้หายใจได้สะดวก และไม่มีเสียงกรน ซึ่งผู้ป่วยจะได้รับออกซิเจนอย่างเพียงพอ ทำให้ตื่นตอนเช้าสดชื่น และไม่มีเสียงกรนรบกวนผู้ที่นอนด้วย


        การรักษานอนกรนในเด็ก มีทั้งการรักษาด้วยการใช้ยา และการรักษาด้วยการผ่าตัด การรักษาทางยาจะใช้เมื่อมีอาการทางจมูกอักเสบภูมิแพ้ร่วมด้วย หรือมีอาการไซนัสอักเสบ กรณีที่เด็กมีการอักเสบติดเชื้อบ่อย อาจจะต้องใช้ยาปฏิชีวนะ ซึ่งการรักษาภูมิแพ้มีส่วนช่วยในการแก้ไขอาการนอนกรนได้ หากปัจจัยทางภูมิแพ้เป็นปัจจัยเสริม โดยการรักษาภูมิแพ้จะทำให้ต่อมอะดีนอยด์ที่โตฝ่อลงได้ และอาการนอนกรนลดลงได้ ในกรณีที่อาการไม่มากนัก แต่หากมีอาการรุนแรงหรือหากใช้ยาไม่ได้ผล แพทย์อาจพิจารณารักษาด้วยการผ่าตัด


ข้อมูลอ้างอิง

วีดีโอเรื่อง นอนกรนในผู้ใหญ่ โดย รศ.พญ.นันทาร์ สันสุวรรณ https://www.youtube.com/watch?v=q-J_fGj48vI