ความรู้จากแพทย์ศรีพัฒน์

การนับลูกดิ้นสำคัญอย่างไร




ศ.พญ.สายพิณ พงษธา

สูตินรีแพทย์

รหัสเอกสาร PI-IMC-276-R-01

อนุมัติวันที่ 12 ตุลาคม 2566

        การดิ้นของทารกในครรภ์มารดา มีความสำคัญในการบ่งบอกถึงสุขภาพที่แข็งแรงของทารก โดยการที่ทารกดิ้นน้อยลง อาจสันนิษฐานว่าอยู่ในภาวะอันตราย เช่น การขาดออกซิเจน หรืออื่นๆ ดังนั้น การนับการดิ้นของทารกมีประโยชน์อย่างมากในการช่วยค้นหาสัญญาณความผิดปกติของทารก เพื่อที่สูติแพทย์จะได้ให้ความช่วยเหลือก่อนที่ทารกจะเกิดอันตรายถึงชีวิต


          วิธีการนับลูกดิ้นมีประโยชน์ในการประเมินสุขภาพของทารกในครรภ์ ซึ่งทำได้ง่าย สะดวก ไม่มีอันตรายหรือข้อห้าม รวมทั้งสามารถทำได้เองทุกสถานที่ และไม่มีค่าใช้จ่าย



การนับการดิ้นของทารกคืออะไร

       การเคลื่อนไหวของทารกในครรภ์หรือการนับลูกดิ้น เป็นสัญญาณอย่างหนึ่งที่บ่งบอกถึงสุขภาพของทารกในครรภ์ของท่าน โดยปกติแล้วทารกจะเคลื่อนไหวทุกวัน ซึ่งแสดงว่าทารกมีสุขภาพแข็งแรงดี แต่ในภาวะที่ผิดปกติ การเคลื่อนไหวของทารกจะลดน้อยลง หรือก่อนที่จะหยุดไป หมายความว่าก่อนที่ทารกจะเสียชีวิต มักจะนำมาด้วยการเคลื่อนไหวของทารกที่น้อยลงก่อน ดังนั้น การนับลูกดิ้นจึงมีประโยชน์อย่างมากในการประเมินสุขภาพของทารกในครรภ์


      การดิ้นของทารกในช่วงแรกจะเฉลี่ยประมาณ 200 ครั้ง/วัน ซึ่งค่อนข้างห่าง แต่เมื่ออายุครรภ์มากขึ้น จะดิ้นถี่ขึ้น ประมาณ 500 ครั้ง/วัน และเป็นการดิ้นที่แรง จนเมื่ออายุครรภ์ 36-37 สัปดาห์ ทารกจะดิ้นเบาลงและลดลง ประมาณ 282 ครั้ง/วัน โดยลักษณะการดิ้น ได้แก่ การเตะ ยืดตัว หรือบิดตัว และพบว่าทารกจะดิ้นมากขึ้นในช่วงเวลากลางคืน



 นับอย่างไร

       การนับลูกดิ้นสามารถทำได้ในทุกสถานที่ แม้ขณะทำงานอยู่  โดยอาจเป็นครึ่งวันเช้า ตั้งแต่เวลา 08.00 – 12.00 น. เพื่อสังเกตการณ์เคลื่อนไหวของทารก แล้วจดบันทึกไว้ เมื่อครบ 10 ครั้งแล้ว ซึ่งส่วนใหญ่จะใช้เวลาไม่เกิน 1 ชั่วโมง คุณแม่ก็สามารถทำกิจวัตรประจำวันตามปกติได้ โดยมีข้อสังเกต ดังนี้


- ถ้าทารกเคลื่อนไหวน้อยกว่า 10 ครั้ง ภายใน 4 ชั่วโมง แสดงว่าทารกในครรภ์ อาจอยู่ในภาวะอันตรายให้รีบมาโรงพยาบาลโดยด่วน เพื่อรับการตรวจสุขภาพทารก

- หากไม่สามารถนับในช่วงเช้าได้ อาจนับลูกดิ้นในช่วงเวลาอื่นได้ เช่น ช่วงบ่าย ช่วงเย็น


- คุณแม่ควรนับลูกดิ้นทุกวันไปจนกระทั่งคลอด


- การนับลูกดิ้น จะเริ่มเมื่อถึงอายุครรภ์ที่เหมาะสม คือ อายุครรภ์ประมาณ 28 สัปดาห์เป็นต้นไป

 

ข้อมูลอ้างอิง

-          ศ.พญ.สายพิณ พงษธา . คำแนะนำการนับลูกดิ้น . ศูนย์ศรีพัฒน์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ . แหล่งข้อมูล : https://sriphat.med.cmu.ac.th/th/knowledge-257 . ค้นเมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2563 .

-          รศ.ดร.นพ.ดิฐกานต์ บริบูรณ์หิรัญสาร . การนับลูกดิ้น . คู่มือบันทึกสุขภาพแม่ตั้งครรภ์และลูกน้อย : 6-7.


สามารถติดตามช่องทางเพิ่มเติมได้ที่

• Call center : 0-5393-6900-1
• LINE Official : https://lin.ee/h3Wxyp3
• Facebook : https://bit.ly/2Kid6X9
• Youtube : https://bit.ly/3anQsH6
• Twitter : https://bit.ly/3eACDJ2
• Instagram: https://bit.ly/2VnrTGo
• Blockdit : https://bit.ly/2VqvL9D
• Website: http://sriphat.med.cmu.ac.th


หรือเพิ่มเพื่อนใน LINE ด้วยคิวอาร์โค้ด