ความรู้จากแพทย์ศรีพัฒน์

6 เคล็ดลับกับการฝึกวินัยการรับประทานอาหารของเด็ก




อ.นพ.อานุภาพ ฤทธิ์เพ็ญ

กุมารแพทย์

รหัสเอกสาร PI-IMC-274-R-00

อนุมัติวันที่ 26 พฤศจิกายน 2563

 

        การรับประทานหรือการกินอาหารต่างๆ เป็นหนึ่งในกิจกรรมพื้นฐานที่มนุษย์ทุกคนทำเป็นกิจวัตร เพื่อให้ร่างกายได้รับสารอาหารและพลังงานเพียงพอต่อการดำรงชีวิตประจำวัน สำหรับผู้ใหญ่เองนั้นการรับประทานอาจจะเป็นเรื่องง่าย แต่กับเด็กเอง หากไม่ได้รับการฝึกวินัยที่ดี อาจจะทำให้มีปัญหาในการรับประทาน จนส่งผลต่อการเจริญเติบโตได้



        อาหาร คือ สิ่งที่บริโภคเข้าไปแล้วให้ประโยชน์แก่ร่างกาย ทำให้ร่างกายเจริญเติบโต ซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ และให้พลังงานแก่ร่างกาย โดยอาหารที่รับประทานไปนั้นต้องไม่มีพิษภัยหรือให้โทษแก่ร่างกาย การให้เด็กได้ฝึกวินัยการกินและได้รับอาหารอย่างพอเหมาะตั้งแต่ขวบปีแรก จะช่วยให้มีพฤติกรรมการกินที่ดีและเติบโตสมวัย เป็นผลดีต่อสุขภาพระยะยาวต่อไปในอนาคต ซึ่งมีคำแนะนำการฝึกวินัย 6 ข้อ ดังนี้



 

6  เคล็ดลับกับการฝึกวินัยการรับประทานอาหารของเด็ก


 

1. ไม่ควรรับประทานก่อนมื้ออาหาร  ซึ่งการดื่มนม ทานขนมหรือผลไม้ ใกล้กับมื้ออาหารมากเกินไป อาจจะทำให้เกิดความอิ่ม เมื่อถึงมื้ออาหาร เด็กจะไม่ยอมรับประทานอาหาร ดังนั้น พ่อแม่หรือผู้ปกครองควรงดขนมหรือผลไม้ ก่อนถึงมื้ออาหารประมาณ 30 นาทีในเด็กเล็ก หรือประมาณ 60 นาทีในเด็กโต ซึ่งเมื่อเด็กมีความหิว จะสามารถรับประทานได้ดีโดยอัตโนมัติ



 

2. นั่งรับประทานพร้อมหน้ากัน โดยการนั่งรับประทานพร้อมกันกับผู้ปกครอง จะช่วยสร้างบรรยากาศที่ดีให้กับเด็ก เด็กจะมีอารมณ์ร่วมในการรับประทานที่ดีมากขึ้น ผู้ปกครองไม่ควรอุ้ม หรือหากเด็กเดินหรือวิ่ง ไม่ควรเดินตามป้อนอาหาร เพราะจะทำให้เสี่ยงต่อการสำลักอาหารได้


3. ฝึกให้รับประทานเอง โดยไม่บังคับ ซึ่งพ่อแม่หรือผู้ปกครองอาจป้อนเองบางส่วน และเริ่มฝึกให้เด็กรับประทานเองบางส่วน วิธีนี้เรียกว่า เทคนิคการกินแบบ Double spoon โดยถึงแม้ว่าเด็กจะทำให้เลอะเทอะเปรอะเปื้อนบ้าง แต่ถือเป็นการฝึกให้เด็กเริ่มรับผิดชอบตนเอง ทำให้เด็กมีความมั่นใจและภูมิใจในตนเองด้วย รวมทั้งหากมื้อไหนที่เด็กไม่ยอมรับประทาน ผู้ปกครองก็ไม่ควรบังคับ


4. ฝึกรับประทานอาหารหลากหลายให้ครบ 5 หมู่ ผู้ปกครองควรเตรียมอาหารให้ครบ 5 หมู่ และมีความหลากหลายเพื่อให้เด็กได้รับโภชนาการที่เหมาะสม หากมีอาหารประเภทไหนที่เด็กรับประทานได้น้อยหรือไม่ยอมทาน ผู้ปกครองอาจจะใช้อาหารทดแทนได้ เช่น เด็กไม่ยอมรับประทานเนื้อหมู ก็อาจะเลือกใช้อาหารโปรตีนประเภทอื่นทดแทน เช่น ไข่  ไก่ หรือปลา โดยอาหารที่เด็กทานได้น้อยนั้น จะนำกลับมาให้เด็กค่อยๆ ฝึกทานทีละนิด เมื่อเด็กคุ้นชินกับรสชาติ ก็จะสามารถรับประทานอาหารนั้นๆ ได้มากขึ้น


5. ไม่ควรมีสิ่งจูงใจอื่นบนโต๊ะอาหาร ผู้ปกครองไม่ควรใช้ของเล่นหรือเปิดหน้าจอให้เด็กดู ไม่ว่าจะเป็นทีวี มือถือ หรือแท็บเล็ต เพื่อเป็นสิ่งจูงใจ ล่อใจ ให้เด็กรับประทานอาหาร เพราะเด็กจะสนใจสิ่งเหล่านั้นมากกว่า จนทำให้รับประทานอาหารมื้อนั้นได้น้อยกว่าที่ควรจะเป็น หรือในบางรายอาจจะไม่ยอมทานเลย หากไม่ได้เล่นหรือดูทีวี


6. จำกัดเวลาทานให้เหมาะสม การรับประทานที่ดีไม่ควรใช้เวลามากเกินไป โดยปกติควรใช้เวลาประมาณ 30 นาที เพราะหากเด็กติดนิสัยรับประทานช้า เมื่อถึงวัยที่ต้องเข้าโรงเรียน จะทำให้ทานอาหารไม่ทัน ไม่ว่าจะเป็นมื้อเช้าหรือเที่ยง ส่งผลทำให้ได้รับสารอาหารและพลังงานไม่พียงพอ


        การฝึกวินัยการรับประทานที่ดี อาจจะยากในช่วงเริ่มต้น แต่หากเด็กได้รับการฝึกอย่างสม่ำเสมอ รวมทั้งได้รับกำลังใจจากผู้ปกครอง โดยการให้คำชมและรอยยิ้ม เพื่อเป็นแรงเสริมด้านบวกเมื่อทานได้ดี และไม่ดุด่าว่ากล่าว อันเป็นแรงกดดันด้านลบเมื่อเด็กทานได้น้อย จะทำให้เด็กได้เรียนรู้และซึมซับวินัยการรับประทานที่ดีได้ ซึ่งจะมีผลต่อการเจริญเติบโตและสุขภาพที่ดีในอนาคต