ความรู้จากแพทย์ศรีพัฒน์

การปวดศีรษะแบบคลัสเตอร์ (Cluster Headache)


อ.นพ.อดิศักดิ์ กิตติสาเรศ

แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคระบบประสาทและสมอง

รหัสเอกสาร PI-IMC-272-R-00

อนุมัติวันที่ 26 พฤศจิกายน 2563

 

        อาการปวดศีรษะเรื้อรังนั้น หลายคนรู้จักแต่โรคไมเกรน หรือกลัวการมีก้อนเนื้องอกในศีรษะ แต่จริงๆแล้วยังเกิดได้จากอีกหลายโรค โรคหนึ่งที่น่าสนใจ คือ การปวดศีรษะร่วมกับมีอาการตาแดง มีน้ำมูก น้ำตาไหล หรือตาบวมร่วมด้วย ซึ่งเกิดจากการที่มีความผิดปกติของระบบประสาทอัตโนมัติร่วมด้วย อาการในกลุ่มนี้มีความสำคัญอย่างยิ่ง คือ จำเป็นต้องแยกโรคนี้จากการปวดศีรษะอื่นที่เกิดจากความผิดปกติในศีรษะ และอาจจำเป็นต้องตรวจเอ็กซเรย์เพื่อหาความผิดปกติในสมองเพิ่ม

 

         การปวดศีรษะแบบคลัสเตอร์ (Cluster Headache) คือ อาการปวดศีรษะที่เกิดมาจากการมีความผิดปกติของระบบประสาทอัตโนมัติไตรเจอร์มินอล (Trigeminal autonomic cephalalgias) และการทำงานของต่อมไฮโพทาลามัส (Hypothalamus) ที่ควบคุมนาฬิกาชีวิต (Biological clock) โรคนี้มักพบในเพศชายมากกว่าเพศหญิง อาการปวดมีความรุนแรง ลักษณะปวดซีกเดียวหรือครึ่งซีก ในบริเวณกระบอกตาลึกๆ หลังตา หรือบริเวณขมับ การปวดแต่ละครั้งเป็นเวลานานประมาณ 15 นาที ถึง ชั่วโมง โดยจะปวดลักษณะมาเป็นชุดๆ ติดต่อกันทุกวัน หรือติดต่อกันหลายสัปดาห์ โดยมักจะปวดในช่วงระยะเวลาเดียวกันของทุกปี นอกจากนั้นยังพบร่วมกับอาการอื่นด้วย ได้แก่ น้ำตาไหล น้ำมูกไหล ลืมตาลำบาก ตาแดง คัดจมูกด้านเดียวกับที่ปวด หนังตาบวม เหงื่อออกที่หน้าและหน้าผาก

 

อาการที่พบร่วมในขณะที่มีการปวดศีรษะคลัสเตอร์

- เหงื่ออกที่หน้าผาก

- มีอาการตาบวม

- ตาแดง น้ำตาไหล

- คัดจมูก

 

ต่างอย่างไรกับไมเกรน ?

        การปวดศีรษะของไมเกรน เกิดจากความผิดปกติของระบบไฟฟ้าที่ผิวสมอง ทำให้สมองถูกกระตุ้นได้ง่ายและไวกว่าปกติ เมื่อมีการปวดแล้วจะมีการรับรู้ที่ระบบประสาทรับความรู้สึกที่เพิ่มมากกว่าปกติ ทำให้รู้สึกถึงการเต้นของหลอดเลือด เกิดอาการปวดขึ้น มักปวดบริเวณขมับร้าวไปกระบอกตา ลักษณะตุ๊บๆ เหมือนหลอดเลือดเต้น มักเป็นทีละข้างสลับไปมาได้ นอกจากนี้ยังไม่อยากได้กลิ่น ได้ยินเสียงหรือรับแสง โดยส่วนใหญ่ผู้ป่วยจะพักไปนอนเพื่อให้หลีกเลี่ยงจากสิ่งกระตุ้นต่างๆ ก็จะดีขึ้น อาจมีอาการร่วมอื่นๆ ที่พบบ่อย คือ การเห็นแสงเป็นเส้นซิกแซกผิดปกติ การคลื่นไส้อาเจียน เมื่อมีอาการเรื้อรังจะมีความถี่และความรุนแรงเพิ่มขึ้น อาจมีลักษณะอาการปวดเปลี่ยนลักษณะและอาการแสดงอื่นๆ ร่วมได้ เช่น เจ็บที่หนังศีรษะเวลาถูกสัมผัส นอกจากนี้ยังเพิ่มความเสี่ยงการเกิดโรคหลอดเลือดสมองในผู้หญิงอีกด้วย

 

การตรวจวินิจฉัย

          เมื่อมีอาการปวดศีรษะที่ต้องสงสัยว่าเป็นแบบคลัสเตอร์ ท่านควรพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคระบบประสาทและสมอง เพื่อทำการซักประวัติและตรวจร่างกาย หากต้องสงสัยว่าท่านเป็นโรคปวดศีรษะคลัสเตอร์หรือเป็นการปวดที่คล้ายคลัสเตอร์ (Cluster-like headache) ท่านจะได้รับคำแนะนำในการตรวจเพิ่มเติมทางห้องปฏิบัติการ และการเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์สมอง (CT-brain) หรือเอ็กซเรย์สะท้อนคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าสมอง (MRI brain) การฉีดสีเพื่อดูหลอดเลือดสมองตามความเหมาะสม เพื่อช่วยในการแยกจากโรคที่สำคัญอื่นๆ เช่น โรคหลอดเลือดโป่งพอง (Vascular aneurysm) , ก้อนในหัวสมอง(Brain tumor) และโรคอื่นๆ


การรักษาอาการปวดศีรษะคลัสเตอร์

        การรักษาโรคปวดศีรษะคลัสเตอร์ในระยะฉับพลันมีการให้ออกซิเจน การฉีดยาบรรเทาอาการปวดทางหลอดเลือดดำ และการฉีดยาชาเฉพาะที่ เพื่อบรรเทาอาการปวดที่รุนแรง และพิจารณารักษาโดยการผ่าตัดตามความเหมาะสมสำหรับผู้ป่วยแต่ละราย แต่สิ่งสำคัญที่สุด คือ ผู้ป่วยต้องหมั่นสังเกตตัวเองว่ามีสิ่งใดเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดอาการ และพยายามหลีกเลี่ยงต่อสิ่งกระตุ้นนั้น เพื่อเป็นเกราะป้องกันไม่ให้เกิดความทรมานจากการปวดศีรษะคลัสเตอร์ เมื่อมีอาการต้องสงสัย ควรรีบรับการตรวจรักษา เพื่อแยกจากโรคที่มีอาการคล้ายกันเพื่อจะได้หายจากอาการปวด อันจะนำมาซึ่งคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น