ผศ.พญ.กมรวรรณ กตัญญูวงศ์
กุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบประสาท
รหัสเอกสาร PI-IMC-261-R-00
อนุมัติวันที่ 26 พฤศจิกายน 2563
โรคทูเร็ตต์คืออะไร
โรคทูเร็ตต์ หรือ Tourette syndrome (TS) หมายถึง โรคที่แสดงอาการกระตุกของกล้ามเนื้อหลายๆ มัดพร้อมๆ กัน และ/ร่วมกับมีการเปล่งเสียงออกมาจากลำคอหรือจากจมูก โดยเปล่งเสียงเป็นคำที่มี/ไม่มีความหมาย และเสียงที่เปล่งออกมาอาจเกิดร่วมกับอาการกระตุกของกล้ามเนื้อ หรือเกิดขึ้นต่างช่วงเวลากันได้ ทั้งนี้ อาการของ TS จะเกิดขึ้นเองทันที ไม่ได้เกิดจากยาหรือสารกระตุ้นต่อระบบประสาทหรือโรคทางกายอื่นๆ และส่วนใหญ่มักเกิดอาการซ้ำๆ รวด เร็ว ไม่รู้ตัว และอยู่นอกเหนือการควบคุม หรือหากผู้ป่วยตั้งใจควบคุม จะสามารถทำได้ในช่วงสั้นๆ เท่านั้น
ลักษณะของความรุนแรงหรือตำแหน่งกล้ามเนื้อที่เกิดอาการกระตุกสามารถจะเปลี่ยนแปลงไม่ซ้ำตำแหน่งได้โดย TS เริ่มแสดงอาการในวัยเด็ก (ก่อนอายุ 18 ปี) และเป็นเกือบทุกวัน บางรายเว้นระยะห่างออกไป แต่ไม่เกิน 3 เดือนก็จะมีอาการกลับมาเป็นใหม่ ซึ่งส่งผลต่อบุคลิกภาพ อาจทำให้ถูกล้อเลียน หรือคนใกล้ชิดเกิดความรำคาญ ทำให้ผู้ป่วยขาดความมั่นใจ และมีปัญหาในการปรับตัวและเข้าสังคม
โรค Tourette syndrome และ Tics เกี่ยวข้องกันอย่างไร
จากการศึกษาข้อมูลของวารสารสมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทยกล่าวว่า มีรายงานผู้ป่วยทูเร็ตต์เป็นครั้งแรก ณ ประเทศฝรั่งเศส ปี ค.ศ.1885 โดย George Gilles de la Tourette ซึ่งนายแพทย์ท่านนี้ได้อธิบายถึงลักษณะของผู้ป่วยที่มีอาการกระตุกของกล้ามเนื้อ พร้อมเปล่งเสียงคำหยาบคาย (Coprolalia) และพูดทวนคำ (Echolalia) จึงเป็นที่มาของชื่อโรคว่า Tourette ตามชื่อแพทย์
Tics คือ อาการกระตุกซ้ำๆ ของกล้ามเนื้อโดยไม่ได้ตั้งใจ มักเป็นที่ใบหน้า คอ ไหล่ มีอาการขยิบตา กระตุกมุมปาก หน้าผากย่น ยักไหล่ ส่ายหัวไปมา สะบัดคอ ซึ่งถ้ามีอาการกระตุกกล้ามเนื้อตามที่กล่าวมา จะเรียกว่า Motor tics หากผู้ป่วยมีการเปล่งเสียงแปลกๆ เช่น ทำเสียงกระแอม เสียงจมูกฟุดฟิด เสียงคล้ายสะอึก พูดติดอ่างหรือพูดซ้ำๆ เลียนเสียงพูดที่ผิดปกติ เหล่านี้จะเรียกว่า Vocal tics
อาการและอาการแสดง
อาการแสดงของโรคนี้ แบ่งได้เป็น 2 แบบ ดังนี้
1. Simple motor tics คือ การกระตุกของกล้ามเนื้อ เช่น กระพริบตา ยักไหล่ สะบัดหัว กำหมัด แสยะยิ้ม เป็นต้น ในบางรายอาจมีอาการกระตุกที่กล้ามเนื้อหน้าท้องได้ แต่พบได้ไม่บ่อยนัก พบบ่อยในเด็กหรือวัยรุ่น และพบในเพศชายมากกว่าหญิง 3-5 เท่า โดยผู้ป่วยอาจไม่รู้ตัวว่าเป็นโรคและไม่สามารถควบคุมได้ อาการจะเป็นมากขึ้นขณะมีความ เครียด วิตกกังวล หรือประหม่า และอาการจะน้อยลงหรือหายไปขณะนอนหลับหรือมีสมาธิกับกิจกรรมบางอย่าง ซึ่ง Motor tics ในกลุ่มนี้มักไม่ก่อให้เกิดปัญหาในการดำรงชีวิต
2. แบบ Tourette syndrome (TS) หรือ Gilles
de la Tourette’s syndrome (GTS) ผู้ป่วยจะมีทั้ง
Motor tics และ Vocal tics ซึ่ง TS
ชนิดนี้มักก่อให้เกิดปัญหาในการดำรงชีวิตเป็นอย่างมาก ทั้งนี้ พบว่าผู้ป่วยมักเริ่มเป็นเมื่ออายุ
5-6 ปี และอาการมักรุนแรงที่สุดเมื่ออายุ 11-12 ปี จากนั้นจะค่อยๆ ลดลงเมื่อผู้ป่วยโตขึ้น จนเมื่ออายุประมาณ 18 ปี ผู้ป่วยประมาณครึ่งหนึ่งสามารถหายได้ โดยอาจมีอาการอยู่บ้าง แต่ผลต่อการดำรงชีวิตลดลง
สาเหตุ
ยังไม่ทราบสาเหตุที่แท้จริงของโรค เชื่อว่ามีปัจจัยด้านพันธุกรรมมาเกี่ยวข้อง
หรือมีความไม่สมดุลของสารสื่อประสาทในสมองบางตัว โดยปัจจัยกระตุ้นที่ทำให้อาการเพิ่มขึ้น คือ หวาดกลัว ตกใจ เสียใจ เครียดหรือเหนื่อย
การวินิจฉัย
อาศัยประวัติและอาการแสดงที่พบ ไม่จำเป็นต้องมีการตรวจพิเศษ หรือตรวจเลือดเพิ่มเติม
การรักษา
แพทย์จะให้การรักษาโดยการบำบัดรักษา อาจเป็นรูปแบบการบำบัดความคิดและพฤติกรรม รวมทั้งการรักษาด้วยวิธีอื่นๆ เพื่อควบคุมอาการ เช่น การใช้ยาบางชนิดแบบรับประทาน การฉีด Botulinum toxin เข้ากล้ามเนื้อเพื่อลดอาการกระตุกของตา คอหรือไหล่ เป็นต้น นอกจากนั้นแพทย์อาจสืบค้นความเป็นไปได้ของโรคจิตเวชในเด็กอื่นๆ เช่น โรคสมาธิสั้น โรคย้ำคิดย้ำทำ ซึ่งสามารถพบร่วมกันได้กับ Tourette syndrome
การดำเนินโรค
การรักษา TS ที่เกิดขึ้นในวัยเด็ก จะตอบสนองดีกว่า TS ที่เริ่มเกิดขึ้นในวัยผู้ใหญ่
ข้อมูลอ้างอิง
· บทความเรื่องลักษณะทางคลินิกของ Tourette’s disorder ในเด็กไทย วารสารสมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย
http://www.psychiatry.or.th/JOURNAL/463/v4633.htm
· Gunduz A, Okun MS.A Review and Update on Tourette Syndrome:Where Is the Field Headed?Curr Neurol Neurosci Rep (2016) 16: 37
· Stern JS. Tourette’s syndrome andits borderland. Pract Neurol 2018;18:262–270