ความรู้จากแพทย์ศรีพัฒน์

ผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังควรปฏิบัติตัวอย่างไร เมื่อยังไม่ได้รับการล้างไต


ผศ.นพ.ขจรศักดิ์  นพคุณ

แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคไต

รหัสเอกสาร PI-IMC-264-R-00

 

        โดยปกติไตจะเริ่มทำงานลดลงหรือเสื่อมลงตามธรรมชาติ เมื่ออายุ 30 ปีขึ้นไป ซึ่งหากไตเสื่อมลงอย่างช้าๆ ต่อเนื่อง หรือมีความผิดปกติของไตเกินกว่า 3 เดือน จะเรียกภาวะนี้ว่า โรคไตเรื้อรัง

 

        การรักษาผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังระยะสุดท้าย จำเป็นต้องได้รับการบำบัดทดแทนไต ซึ่งเป็นการขับของเสียและน้ำส่วนเกินออกจากร่างกาย โดยในปัจจุบันมีอยู่ 3 วิธี ได้แก่ การฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม การผ่าตัดปลูกถ่ายไต และการล้างไตทางหน้าท้อง ซึ่งการล้างไตทางหน้าท้อง ผู้ป่วยจะได้รับการผ่าตัดเพื่อใส่สายไว้ในช่องท้อง และมีสายโผล่ออกมาจากผนังหน้าท้องไว้เป็นทางสำหรับต่อกับถุงน้ำยาเองที่บ้าน โดยเฉลี่ย 4 ครั้งต่อวัน และต้องทำทุกวัน ในกรณีที่ผู้ป่วยช่วยตัวเองไม่ได้ พยาบาลจะฝึกให้ญาติสามารถทำแทนได้ โดยในระหว่างที่ผู้ป่วยยังไม่ได้รับการล้างไตนั้น จะต้องมีการปฏิบัติตัวที่ถูกต้อง ดังนี้

 

แนวทางการปฏิบัติของผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังที่ยังไม่ได้รับการล้างไต

1 .ควบคุมความดันโลหิตให้ต่ำกว่า 130-140/80-90 มิลลิเมตรปรอท ขึ้นกับระยะของโรคไตเรื้อรัง 


2. งดสูบบุหรี่


3. ควบคุมน้ำหนักตัวไม่ให้มากเกินไป และควรออกกำลังกายให้สม่ำเสมอ 


4. ถ้าเป็นเบาหวาน ควรควบคุมระดับน้ำตาลสะสมให้น้อยกว่า 7-7.5 %


5. ถ้ามีระดับไขมันในเลือดสูง ควรควบคุมระดับไขมันชนิด LDL ให้ต่ำกว่า 70-100 มก.ต่อเดซิลิตร

 

6. หลีกเลี่ยงการซื้อยารับประทานเอง โดยเฉพาะยาแก้ปวด ยาลูกกลอน ยาหม้อ ยาเมือง ( ถ้ามีอาการปวดสามารถรับประทานยาพาราเซตามอลได้ ) และต้องแจ้งแพทย์หรือเภสัชกรทุกครั้งเมื่อได้รับยาใดๆ ว่าตนเองเป็นโรคไตเรื้อรัง

 

7. ผู้ป่วยสตรีจะมีโอกาสในการตั้งครรภ์ลดลง อย่างไรก็ตามผู้ป่วยควรได้รับการคุมกำเนิด เนื่องจากการตั้งครรภ์อาจทำให้หน้าที่ไตเสื่อมลงได้ หากต้องการมีบุตร ควรปรึกษาแพทย์ผู้ดูแลก่อน

 

8. ผู้ที่มีอาการบวมหรือมีความดันโลหิตสูง ควรรับประทานอาหารที่มีเกลือโซเดียมต่ำ ( น้อยกว่า 2 กรัมต่อวัน ซึ่งเทียบเท่ากับเกลือแกง 1 ช้อนชา ) อาหารที่มีโซเดียมสูง ได้แก่ เกลือแกง น้ำปลา ซีอิ้ว ซอสปรุงรส ผงชูรส อาหารหมักดองหรืออาหารตากแห้ง รวมถึงอาหารแปรรูปต่างๆ

 

9. ควรจำกัดอาหารประเภทโปรตีน โดยรับประทานอาหารโปรตีนในระดับ 0.6 0.8 กรัม ต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัมต่อวัน และควรเลือกอาหารโปรตีนที่มีคุณภาพสูง เช่น เนื้อปลาและไข่ขาว ควรหลีกเลี่ยงเนื้อสัตว์แปรรูป เช่น แฮม กุนเชียง ไส้กรอก ( เนื้อวัว เนื้อหมูสับ หรือเนื้อไก่ 2 ช้อนโต๊ะ = ปลาตัวเล็ก 1 ตัว= ไข่ขาวต้ม 2 ฟอง = ลูกชิ้น 4 ลูก= กุ้งสุก 3 5 ตัว = โปรตีน 7 กรัม )

 

10. ควรหลีกเลี่ยงอาหารที่มีฟอสฟอรัสสูง ได้แก่ นมและผลิตภัณฑ์จากนม ไข่แดง เนย โยเกิร์ต ถั่วเมล็ดแห้งต่างๆ เต้าหู้ น้ำเต้าหู้ ขนมขบเคี้ยว น้ำอัดลม เบียร์ กาแฟ


11. ควรรับประทานเกลือโปตแตสเซียมให้พอเหมาะกับระดับโปแตสเซียมในเลือด (ระดับโปแตสเซียมในเลือดที่เหมาะสมอยู่ระหว่าง 3.5 5.5 มิลลิโมลต่อลิตร) ซึ่งอาหารที่มีปริมาณโปแตสเซียมสูงหรือต่ำ มีดังนี้

 

- อาหารที่มีโปแตสเซียมสูง เช่น ทุเรียน กล้วย กระท้อน แคนตาลูป ฝรั่ง มะละกอสุก ขนุน บร็อคเคอรี่ มันฝรั่ง มะขาม มะเขือเทศ น้ำลูกยอและผลไม้แห้งต่างๆ เช่น ลูกเกด ลูกพรุน

 

- อาหารที่มีโปแตสเซียมปานกลาง เช่น ส้มเขียวหวาน ส้มโอ มะม่วงดิบ แอปเปิ้ล สตอเบอรี่ ลางสาด เงาะ

 

- อาหารที่มีโปแตสเซียมต่ำ เช่น สับปะรด ชมพู่ องุ่นเขียว

 

12. ผู้ที่มีอาการบวม ควรดื่มน้ำไม่เกินวันละ 750 1,000 มิลลิลิตร หรือ 3 - 4 แก้ว

 

13. ควรรับประทานไขมันที่ได้จากพืช เช่น กะทิ น้ำมันมะพร้าว และหลีกเลี่ยงไขมันจากสัตว์ รวมทั้งอาหารทะเลและเครื่องในสัตว์ต่างๆ

 

14. เครื่องเทศที่สามารถใช้เพิ่มรสชาติของอาหารได้ เช่น หอม กระเทียม กระชาย ขิง ข่า ตะไคร้ ใบมะกรูด ใบโหระพา ใบกระเพรา มะนาว พริกไทย ใบสะระแหน่ ใบแมงลัก รากผักชี

 

 

เอกสารอ้างอิง

- กินอย่างไรเมื่อไตเสื่อม หน่วยวิชาโรคไต ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่