ความรู้จากแพทย์ศรีพัฒน์

โรคหัวใจในเด็ก



ผศ.นพ.กฤช มกรแก้วเกยูร

กุมารแพทย์โรคหัวใจ

รหัสเอกสาร PI-IMC-266-R-00

อนุมัติวันที่ 26 พฤศจิกายน 2563



        อาการของโรคหัวใจสามารถพบได้ในเด็ก ซึ่งหากสังเกตพบบุตรหลานของท่านมีอาการเขียวที่ริมฝีปาก ลิ้น ปลายนิ้วมือนิ้วเท้า หายใจหอบ เหนื่อยง่าย หัวใจเต้นเร็ว ควรรีบพามาพบแพทย์ เพราะนั่นอาจเป็นสัญญาณเตือนของโรคหัวใจในเด็ก


        โรคหัวใจในเด็ก อาจแบ่งได้เป็น 2 ประเภท คือ โรคหัวใจแต่กำเนิด ซึ่งพบได้บ่อย โดยสาเหตุที่แท้จริงยังไม่ทราบแน่ชัด อาจเกิดจากความผิดปกติในการสร้างอวัยวะที่ไม่สมบูรณ์ของตัวอ่อนในครรภ์ หรือจากการติดเชื้อระหว่างตั้งครรภ์ หรือจากสาเหตุอื่น และโรคหัวใจในเด็กที่เกิดขึ้นภายหลัง ซึ่งเป็นโรคหัวใจที่เกิดขึ้นหลังคลอด โดยมีสาเหตุจากการติดเชื้อหรืออื่นๆ เช่น โรคหัวใจรูมาติก โรคคาวาซากิ โรคกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ โรคเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ


เด็กที่เป็นโรคหัวใจ มีอาการอย่างไรบ้าง

        โรคหัวใจในเด็ก อาจพบว่ามีอาการที่สามารถสังเกตได้ หรือในบางรายอาจไม่แสดงอาการใดเลย โดยอาการแสดงของโรคหัวใจในเด็กที่พบได้บ่อย คือ


        อาการเขียว พบว่ามีสีม่วงคล้ำบริเวณริมฝีปาก ลิ้น ปลายนิ้วมือนิ้วเท้า เนื่องจากการไหลเวียนของเลือดผิดปกติในหัว ใจพิการแต่กำเนิด ทำให้เลือดที่มีออกซิเจนต่ำไปเลี้ยงร่างกาย บางคนอาจมีเขียวมากขึ้นเวลาร้อง เวลาเล่นมากๆ หรือตื่นนอนตอนเช้า ถ้าเป็นมากๆ อาจพบว่ามีหายใจแรง ตัวอ่อน และไม่รู้สึกตัวได้ เด็กที่มีอาการเขียวมาเป็นระยะเวลานานๆ อาจพบปลายนิ้วปุ้มเหมือนกระบองและเล็บงุ้มลง


        หายใจหอบหรือเหนื่อยง่าย ในทารกหรือเด็กเล็กที่เป็นโรคหัวใจ ในขณะดูดนมอาจมีอาการเหนื่อยง่าย มีเหงื่อออกมาก ทำให้ต้องหยุดดูดเป็นระยะ หากทารกต้องใช้เวลาดูดนมมื้อหนึ่งนานเกิน 30 นาที ทารกนั้นอาจมีความผิดปกติได้ ส่วนในเด็กวัยเรียน อาจพบอาการเหนื่อยง่ายเวลาเล่นหรือออกกำลังกาย และในรายที่เป็นมาก ขณะพักก็พบว่ามีอาการเหนื่อยหอบและหายใจเร็วได้


        เจริญเติบโตช้า เด็กที่มีอาการของโรคหัวใจ บางคนจะพบว่าตัวเล็ก ส่วนสูงและน้ำหนักเพิ่มช้ากว่าเกณฑ์มาตรฐานเนื่องจากหัวใจต้องทำงานหนัก จึงต้องใช้พลังงานสูงและพลังงานที่ได้รับจากอาหารมักจะไม่เพียงพอ

 

        ใจสั่นหรือหัวใจเต้นเร็ว ในเด็กปกติพบว่าจะมีหัวใจเต้นเร็วขึ้นได้เมื่อออกกำลังกายหรือมีไข้สูง แต่หากพบว่าเด็กมีหัวใจเต้นเร็วหรือใจสั่นในขณะพัก อาจมีคลื่นไฟฟ้าผิดปกติเกิดขึ้นในหัวใจ อาการเหล่านี้อาจเป็นๆหายๆ ดังนั้น เมื่อเด็กมีอาการใจสั่น อาจใช้การจับชีพจรหรือเอามือคลำหน้าอกเด็กเพื่อนับอัตราการเต้นของหัวใจต่อหนึ่งนาที ถ้าหัวใจเต้นเร็วกว่า 180 ในทารก, 140 ในเด็กเล็ก หรือ 100 ในเด็กโต ควรพาไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาภาวะผิดปกตินั้น แต่ทั้งนี้แนะนำให้จับชีพจรโดยบุคลากรการแพทย์ จะได้อัตราการเต้นของหัวใจที่แน่นอนกว่า


        หน้ามืดเป็นลม หากมีอาการเป็นลมบ่อย และมีใจสั่นร่วมด้วย หรืออาการหน้ามืดเกิดในขณะออกกำลังกาย อาจมีสาเหตุมาจากโรคหัวใจได้


        โรคหัวใจในเด็ก เป็นภาวะที่เด็กหลายคนไม่สามารถบอกได้ว่ามีอาการเช่นไร พ่อแม่ผู้ปกครองควรหมั่นสังเกตอาการบุตรหลานว่ามีความผิดปกติหรือไม่ หากสงสัยหรือพบความผิดปกติ ควรรีบพาไปพบแพทย์เพื่อการตรวจวินิจฉัยและการรักษาที่ถูกต้อง



 

ข้อมูลอ้างอิง

- ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ . บุตรหลานของท่านเป็นโรคหัวใจหรือไม่ . ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ .