อ.นพ.ณัฐพล เลาหเจริญยศ
แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคไต
รหัสเอกสาร PI-IMC-268-Rev.01
อนุมัติวันที่ 31 พฤษภาคม 2567
ฟอสฟอรัสเป็นแร่ธาตุสำคัญที่ช่วยให้กระดูกและฟันแข็งแรง และมีอยู่ในร่างกายเป็นจำนวนมากในรูปของฟอสเฟต ( Phosphate ) ซึ่งหากร่างกายมีระดับฟอสเฟตสูงหรือต่ำเกินไป อาจก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพต่างๆ ได้
ฟอสเฟต (Phosphate) เป็นแร่ธาตุชนิดหนึ่งที่ทำงานร่วมกับแคลเซียม มีหน้าที่เป็นโครงสร้างของกระดูกและฟัน เป็นส่วนประกอบของเยื่อหุ้มเซลล์และใช้ในกระบวนการเมตาบอลิซึมของร่างกาย โดยปกติเมื่อร่างกายได้รับฟอสเฟตจากการรับประทานอาหาร ฟอสเฟตส่วนใหญ่จะถูกดูดซึมที่บริเวณลำไส้เล็กและเข้าไปในกระแสเลือด เมื่อฟอสเฟตเข้าไปในกระแสเลือด ส่วนหนึ่งจะเข้าไปสะสมในกระดูก ฟอสเฟตส่วนเกินจะถูกขับออกจากร่างกายทางปัสสาวะ และส่วนน้อยขับออกทางอุจจาระ โดยระดับฟอสเฟตปกติในเลือด จะมีค่า 2.5 – 4.5 mEq/L (มิลลิอิควิวาเลนท์ต่อลิตร) ซึ่งผู้ที่เป็นโรคไตเรื้อรัง ประสิทธิภาพในการขับฟอสเฟตจะลดลง จึงทำให้เกิดการคั่งของฟอสเฟตในเลือด
หากระดับฟอสเฟตต่ำในเลือด จะทำให้ร่างกายอ่อนเพลีย เบื่ออาหาร กล้ามเนื้ออ่อนแรง
หากระดับฟอสเฟตสูงในเลือด จะมีอาการคันตามผิวหนัง หลอดเลือดแดงแข็ง มีก้อนแคลเซียมเกาะตามเนื้อเยื่อ เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจ สมอง และโรคหลอดเลือด ทำให้เกิดภาวะต่อมพาราไทรอยด์โต กระดูกบางและเปราะ
ผู้ป่วยโรคไตเรื้อรัง ควรลดการทานอาหารที่มีฟอสเฟตสูง
เนื่องจากผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังจะมีประสิทธิภาพในการขับฟอสเฟตออกทางปัสสาวะลดลง จึงต้องระมัดระวังการรับ ประทานอาหาร เพื่อไม่ให้มีระดับฟอสเฟตในเลือดสูงเกินไป ทั้งนี้ เมื่อระดับฟอสเฟตในเลือดอยู่ที่ 5.0- 5.4 mEq/L (มิลลิอิควิวาเลนท์ต่อลิตร) ต้องลดการทานอาหารที่มีฟอสเฟตสูง ดังนี้
อาหารที่มีฟอสเตฟสูง
- นมและผลิตภัณฑ์ เช่น นมสดรสจืด นมสดรสหวาน นมพร่องมันเนย นมขาดมันเนย นมข้น นมผง นมปรุงแต่ง (กลิ่นรส) นมเปรี้ยว โยเกิร์ตชนิดข้นและชนิดดื่มได้ คัสตาร์ดครีม ชีส ช็อกโกแลต และเนยแข็งทุกชนิด ไอศครีม หากอยากรับประทานไอศครีม สามารถเลือกเป็นไอศครีมหวานเย็นที่ทำจากน้ำหวาน หรือไอศครีมที่ทำจากน้ำผลไม้ (ซอร์เบท์) หากไม่มีปัญหาเรื่องโพแทสเซียมสูง
- ถั่วเมล็ดแห้งและผลิตภัณฑ์ เช่น ถั่วเขียว ถั่วแดง ถั่วดำ ถั่วคั่ว ถั่วทอด เนยถั่ว นมถั่วเหลือง กระยาสารท เต้าฮวย และเต้าหู้ ลูกชุบ (ถั่วเขียวบด) เป็นต้น
- เมล็ดพืชแห้ง ธัญพืชและผลิตภัณฑ์ เช่น เมล็ดแตงโม เมล็ดฟักทอง เมล็ดดอกทานตะวัน ข้าวบาร์เล่ย์มอลต์ เมล็ดมะม่วงหิมพานต์ อัลมอนด์ แมคคาเดเมีย ข้าวโอ๊ต ข้าวกล้อง ข้าวสาลีลูกเดือย งาดำ เครื่องดื่มธัญพืชต่างๆ
- อาหารโปรตีนสูงบางชนิด เช่น เครื่องในสัตว์แมลง ไข่แดงและอาหารที่ทำจากไข่แดง ทองหยิบ ทองหยอด ฝอยทอง สังขยา บะหมี่ มายองเนส สลัดครีม
- อาหารที่บริโภคได้ทั้งกระดูก เช่น กุ้งแห้ง ปลากรอบ ปลาเล็กปลาน้อย ครีบปลา
- อาหารเนื้อสัตว์แปรรูป เช่น ไส้กรอก แฮม ลูกชิ้น (ใส่ฟอสเฟตเพื่อให้มีลักษณะหยุ่นๆ)
- อาหารทะเลแช่แข็ง เช่น กุ้ง ปลาทะเล แล่เป็นชิ้นแล้วแช่แข็ง
- เครื่องดื่มสีเข้ม เช่น กาแฟ ชา เครื่องดื่มโกโก้ เบียร์
- อาหารที่ทำจากยีสต์ เช่น ขนมปังปอนด์ โดนัท ขนมอบ เบเกอรี่ เค้ก แป้งซาลาเปา หมั่นโถว
- อาหารที่มีลักษณะเป็นผง เช่น น้ำตาลป่น นมผง เกลือป่น ครีมผง ผงเครื่องดื่มสำเร็จรูปต่างๆ (ใส่ฟอสเฟตเพื่อไม่ให้จับตัวกันเป็นก้อน)
- น้ำอัดลม
โดยเฉพาะโคล่า จะใช้กรดฟอสฟอริก เป็นส่วนประกอบเพื่อคงสภาพ หากผู้ป่วยโรคไตอยากดื่มเครื่องดื่มอัดก๊าซ
สามารถเลือกดื่มโซดาผสมน้ำหวานแทนได้ เนื่องจากในโซดาไม่มีกรดฟอสฟอริก
ฟอสเฟตที่อยู่ในรูปสารสังเคราะห์ ที่เป็นสารปรุงแต่งอาหารหรือสารกันบูด ในอาหารแปรรูป อาหารสำเร็จรูปและเครื่องดื่มต่างๆ ร่างกายสามารถดูดซึมได้มากกว่าฟอสเฟตที่มาจากอาหารธรรมชาติ ทำให้ระดับฟอสเฟตในเลือดสูงขึ้นได้เร็วกว่า
ฟอสฟอรัสในอาหารกับผู้ป่วยโรคไตระยะสุดท้ายที่รับการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม
ผู้ที่เป็นโรคไตเรื้อรังที่ได้รับการบำบัดทดแทนไตด้วยการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม มักมีภาวะฟอสเฟตในเลือดสูง ร่างกายจะรักษาระดับฟอสเฟตให้อยู่ในระดับปกติ โดยมีตัวช่วย คือ แคลเซียมและฮอร์โมนพาราไทรอยด์ (เมื่อเกิดภาวะฟอสเฟตในเลือดสูง จะกระตุ้นต่อมพาราไทรอยด์ให้ผลิตฮอร์โมนพาราไทรอยด์เพื่อเพิ่มการขับฟอสเฟตออกทางปัสสาวะมากขึ้นฮอร์โมนพาราไธรอยด์ยังเร่งการสลายแคลเซียมในกระดูกเข้าสู่กระแสเลือดเพื่อเพิ่มระดับแคลเซียมในเลือดซึ่งมักจะต่ำในผู้ป่วยโรคไตเรื้อรัง ผลของการย่อยสลายแคลเซียมออกมาจะทำให้กระดูกบางและมีความผิดปกติของกระดูกในที่สุด) สำหรับการฟอกเลือดสามารถกำจัดฟอสเฟตในเลือดได้ไม่มากนัก ยังคงต้องควบคุมการรับประทานอาหารที่มีฟอสเฟตสูงร่วมด้วย หากผู้ป่วยยังควบคุมระดับฟอสเฟตไม่ได้ แพทย์จะพิจารณาให้ยาจับฟอสเฟตเพื่อให้จับกับฟอสเฟตในทางเดินอาหาร ลดการดูดซึมฟอสเฟตเข้ากระแสเลือดต่อไป
การควบคุมระดับฟอสเฟตในเลือดให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม โดยการควบคุมอาหาร การทานยาจับฟอสเฟต ร่วมกับการฟอกเลือด จะช่วยป้องกันการเกิดภาวะแทรกซ้อนต่างๆ และลดอัตราเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด
ข้อมูลอ้างอิง
- นพ.ณัฐพล เลาหเจริญยศ . อาหารและฟอสฟอรัส . ศูนย์ศรีพัฒน์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ . แหล่งข้อมูล : http://sriphat.med.cmu.ac.th/th/knowledge-63 .
- ปิยวรรณ กิตติสกุลนาม . พ.ศ.2560. โภชนาการในผู้ป่วยที่ได้รับการฟอกเลือด . ปิยวรรณ กิตติสกุลนาม,โภชนาการในผู้ป่วยโรคไต . หน้า 114-117 .