ความรู้จากแพทย์ศรีพัฒน์

อาหารกับโรคหัวใจและหลอดเลือด



อ.พญ.พิธพร วัฒนาวิทวัส

แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านต่อมไร้ท่อ เบาหวาน ไทรอยด์

รหัสเอกสาร PI-IMC-269-R-00

อนุมัติวันที่ 26 พฤศจิกายน 2563


          โรคหัวใจและหลอดเลือด สามารถจำแนกได้หลายชนิด แต่ที่เกี่ยวข้องกับโภชนาการหลักๆ คือ โรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด โรคหลอดเลือดแดงแข็ง โรคหลอดเลือดสมอง และโรคหัวใจล้มเหลว โดยอาหารที่เกี่ยวข้องกับโรคหัวใจและหลอดเลือด (Cardiovascular disease) มีดังนี้


โรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด (Myocardial infarction) โรคหลอดเลือดแดงแข็ง (Atherosclerosis) และโรคหลอดเลือดสมอง (Stroke)

        เน้นบริโภคอาหารกลุ่มเดียวกับโรคไขมันในเลือดสูง คือ จำกัดอาหารกลุ่มไขมัน เพราะสาเหตุหลักเกิดจากไขมันส่วนเกินจากการรับประทานอาหาร แล้วไปอุดตันบริเวณหลอดเลือด ซึ่งไขมันในเลือดแบ่งได้เป็น 2 กลุ่ม คือ คอเลสเตอรอล (Cholesterol) และ ไตรกลีเซอไรด์ (Triglyceride) โดยคอเลสเตอรอลสามารถแยกเป็น ไขมันดี (HDL-c) มีหน้าที่นำไขมันในเลือดไปทำลายที่ตับ กับ ไขมันร้าย (LDL-c) มีหน้าที่นำไขมันที่ตับไปกระจายตามหลอดเลือดต่างๆ ดังนั้น หากLDL-c สูง จะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะไขมันอุดตันในหลอดเลือดได้

 

อาหารแบบไหน เพิ่มไขมันในเลือด

        กลุ่มไขมันที่ควรหลีกเลี่ยง แบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ  ไขมันอิ่มตัว (Saturated fatty acid) ได้แก่ ไขมันจากสัตว์ น้ำมันหมู น้ำมันวัว น้ำมันมะพร้าว น้ำมันปาล์ม กะทิ ครีมนมสด เนยสด และ ไขมันทรานส์ (Trans fatty acid) คือ น้ำมันที่มีกรดไขมันไม่อิ่มตัวผ่านกระบวนการเติมไฮโดรเจนเข้าไป (Partially hydrogenated oils) แล้วเปลี่ยนรูป ซึ่งพบในอุตสาหกรรมอาหาร/ขนม เพื่อเพิ่มความกรอบในอาหาร ทำให้ไม่เหม็นหืนง่าย แต่มีราคาถูก มักใช้เป็นส่วนประกอบของเนยขาว เนยเทียม มาการีน ขนมเบเกอรี่ เค้ก คุกกี้ ขนมกรุบกรอบ ดังนั้น หากลดการบริโภคขนมเบเกอรี่ ก็จะช่วยลดการได้รับไขมันทรานส์ด้วย


        นอกจากไขมันที่ควรหลีกเลี่ยงแล้ว ยังมีกลุ่มไขมันที่ช่วยลดไขมันร้าย LDL-c และไขมันไตรกลีเซอไรด์ รวมทั้งช่วยคงไขมันดี HDL-c ในร่างกาย ซึ่งไขมันที่ควรเพิ่ม คือ ไขมันไม่อิ่มตัว (Unsaturated fatty acid) ได้แก่ น้ำมันมะกอก น้ำมันคาโนลาน้ำมันรำข้าว น้ำมันเมล็ดชา น้ำมันดอกทานตะวัน น้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันข้าวโพด

 

โรคหัวใจล้มเหลว (Congestive heart failure)

        เน้นรับประทานอาหารกลุ่มเดียวกับ โรคความดันโลหิตสูง คือ การจำกัดโซเดียมต่ำกว่า 2,000 มก.ต่อวัน , จำกัดน้ำและของเหลว 1.4-1.9 ลิตรต่อวัน ,  เสริมวิตามินบี 6 บี 12 และโฟเลต รวมทั้งควรบริโภคอาหารที่มีธาตุแมกนีเซียมเพิ่มเติม


หลักบริโภคอาหารเพื่อยับยั้งโรคความดันโลหิตสูง (DASH diet)

        DASH (Dietary Approaches to Stop Hypertension) diet คือ แนวทางการบริโภคอาหารเพื่อลดความดันโลหิตสูง หลักการบริโภค คือ ลดบริโภคอาหารที่มีเกลือโซเดียม ไขมันอิ่มตัว ไขมันทรานส์และคอเลสเตอรอล และเพิ่มบริโภคใยอาหาร โปรตีน แคลเซียม โปแทสเซียมและแมกนีเซียม เพื่อช่วยลดความดันโลหิตสูง ร่วมกับการออกกำลังกาย ซึ่งหลักการบริโภคอาหารเพื่อยับยั้งโรคความดันโลหิตสูงนี้ สามารถช่วยลดการเกิดโรคหัวใจล้มเหลวได้

 


ข้อมูลอ้างอิง

นายณัฏฐากรรธ์ ลอยเลิศ . (2020) . อาหารกับโรคเบาหวาน (Diabetes Mellitus) . คู่มืออาหารและโภชนาการกลุ่มโรคเมตาบอลิก (Metabolic syndrome and nutrition) .