ความรู้จากแพทย์ศรีพัฒน์

สายตายาวตามวัยหรือภาวะสายตาผู้สูงอายุ



ผศ.พญ.ธิดารัตน์ ลีอังกูรเสถียร

จักษุแพทย์

รหัสเอกสาร PI-IMC-262-R-00

อนุมัติวันที่ 26 พฤศจิกายน 2563


        เมื่ออายุ 40 ปีขึ้นไป ท่านอาจพบว่าการอ่านหนังสือจะต้องยื่นมือออกไปให้สุดแขน การร้อยด้ายเข้ารูเข็มทำได้ลำบากมากขึ้น รวมถึงการมองสิ่งต่างๆ ในระยะใกล้ เช่น สมาร์ทโฟน แท็บเล็ต ให้ได้ชัด ต้องถือห่างจากตัวมากขึ้น หากมีอาการเหล่านี้ ท่านอาจเริ่มมีปัญหาสายตายาวตามวัยหรือภาวะสายตาผู้สูงอายุ (Presbyopia)


        ภาวะสายตายาวตามวัยหรือภาวะสายตาผู้สูงอายุ มักเกิดในผู้สูงอายุ และจะเริ่มมีอาการเมื่ออายุประมาณ 40 ปี โดยมีสาเหตุจากกลไกการเพ่ง (Accommodation) ลดลงตามอายุ ซึ่งกลไกการเพ่งเป็นกลไกทางตาที่เกิดขึ้นเวลาจ้องมองวัตถุที่อยู่ใกล้ๆ โดยเมื่อมองวัตถุที่ใกล้ เช่น อ่านหนังสือ จะเกิดการหดตัวของกล้ามเนื้อที่ช่วยในการเพ่ง (Ciliary muscle) ส่งผลให้เลนส์ตา ซึ่งเป็นเลนส์นูน เปลี่ยนแปลงรูปร่างจนมีลักษณะป่อง ผิวโค้งมากขึ้น และรวมแสงได้มากขึ้น ช่วยโฟกัสแสงไปตกบนจอรับภาพ (Retina) พอดี ทำให้การมองเห็นภาพชั


        ทั้งนี้ กลไกการเพ่งจะค่อยๆ ลดลงตามอายุ โดยจะลดลงชัดเจนเมื่ออายุประมาณ 40 ปี ซึ่งเกิดจากเลนส์ตามีความยืดหยุ่นน้อยลง ทำให้ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงรูปร่างให้ป่องและโค้งมากขึ้นดังเดิมได้ ดังนั้น เวลามองวัตถุที่ใกล้ จึงไม่สามารถโฟกัสแสงไปตกบนจอรับภาพได้ แต่แสงจะตกเลยไปด้านหลังของจอรับภาพ ทำให้เห็นภาพไม่ชั


สายตายาวตามวัย แก้ไขได้อย่างไร


        การแก้ไขสายตายาวตามวัย สามารถทำได้หลายวิธี เช่น การใส่แว่นตา การใส่คอนแทคเลนส์ การผ่าตัด แต่โดยมากแพทย์จะแนะนำให้ใส่แว่นตา โดยเลนส์ที่นำมาแก้ไข จะเป็นเลนส์นูนที่ช่วยโฟกัสแสง ซึ่งแว่นตาที่แนะนำมี 3 แบบ ดังนี้


 

-          แว่นชัดระยะเดียว ใส่แล้วมองเห็นเฉพาะที่ใกล้ เช่น เฉพาะการอ่านหนังสือ แต่หากมองไกลหรือลุกขึ้นเดินต้องถอดออก ซึ่งแว่นประเภทนี้อาจไม่สะดวก เนื่องจากต้องใส่หรือถอด ตามระยะที่ต้องการมอง


 

-          แว่น 2 ชั้น แบบมีรอยต่อ ซึ่งใส่แล้วมองชัดทั้งระยะใกล้และไกล แต่มีข้อเสีย คือ เห็นรอยต่อ อาจทำให้ภาพลักษณ์ดูสูงวัยมากขึ้น


 

-          แว่นชัดหลายระยะ ไม่มีรอยต่อ ใส่แล้วสามารถมองเห็นทั้งระยะใกล้ ระยะกลาง และระยะไกล

 

 


ข้อมูลอ้างอิง

ผศ.พญ.ธิดารัตน์ ลีอังกูรเสถียร . (2012) . สายตายาว . ภาควิชาจักษุวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ . แหล่งข้อมูล : https://w1.med.cmu.ac.th/eye/index.php?option=com_content&view=article&id=177:2012-07-16-14-53-14&catid=17&Itemid=394 . ค้นเมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2563 .