อ.พญ.จิตรลดา ศรีปัญญา
กุมารแพทย์
รหัสเอกสาร PI-IMC-259-R-01
อนุมัติวันที่ 12 ตุลาคม 2566
คุณพ่อคุณแม่รู้หรือไม่
พัฒนาการทางภาษาเป็นหนึ่งในพัฒนาการสี่ด้าน ซึ่งลูกน้อยสามารถเข้าใจภาษาและสื่อสารออกมาในรูปแบบต่างๆ
ได้ตั้งแต่แรกเกิด โดยความเข้าใจและการใช้ภาษาของลูกน้อย สามารถแสดงออกตั้งแต่วัยทารก
ดังตารางดังนี้
ตารางที่ 1 พัฒนาการทางภาษาและการพูดในด้านความเข้าใจและการใช้ภาษา
อายุ |
ความเข้าใจภาษา |
การใช้ภาษา |
1 เดือน |
เมื่อได้ยินเสียง เด็กจะสะดุ้ง ขยับตัว กระพริบตาหรือร้องไห้ |
เด็กร้องไห้เมื่อหิว เปียก ไม่สบายตัว |
3 เดือน |
เมื่อได้ยินเสียงแม่ใกล้ๆ เด็กจะยิ้มหรือนั่งฟัง |
ทำเสียงอ้อแอ้เมื่อพึงพอใจ |
6 เดือน |
หันไปมองยังที่มาของเสียงที่ไม่ดังนัก |
เล่นเสียงทีละพยางค์ กากา อาคา เริ่มเล่นเสียงต่างๆ |
9 เดือน |
ทำตามคำสั่งได้ เช่น บ๊ายบาย หยุดเล่นเมื่อถูกสั่งห้าม เช่น อย่า |
ทำเสียงโต้ตอบไม่เป็นภาษาเมื่อมีคนมาพูดด้วย เลียนแบบการเล่นเสียงของคนอื่น เลียนเสียงแปลกๆ เช่น สุนัขเห่า จิ้งจกร้อง |
12 เดือน |
หันไปหาเมื่อเรียกชื่อ เข้าใจคำพูดที่ได้ยินบ่อยๆ เช่น เอา ไม่เอา |
เริ่มพูดคำที่มีความหมายได้ 2-3 คำ เช่น แม่ หม่ำ ไป |
18 เดือน |
ชี้อวัยวะได้ 1-3 แห่ง เข้าใจศัพท์ได้ 50 คำ |
พูดคำที่มีความหมายได้ 10-20 คำ เช่น หมา แมว |
24 เดือน |
ชี้อวัยวะได้ 5 อย่าง เข้าใจคำถาม ทำตามคำสั่งง่ายๆ ได้ เช่น ไปเอารถมา นั่งลง |
พูดคำที่มีความหมายได้ 50-400 คำ |
เมื่อใดถือว่าเสี่ยงพูดช้า และเมื่อใดถือว่าเป็นเด็กพูดช้า
เด็กที่ถือว่ามีความเสี่ยงพูดช้า และเด็กที่ถือว่ามีภาวะพูดช้ากว่าปกติ สามารถสรุปได้ดังนี้
ภาวะเสี่ยงพูดช้า
- เด็กที่ไม่สามารถพูดคำที่มีความหมายได้เลย เมื่ออายุ 15 เดือน
- เด็กที่ไม่สามารถพูดเป็นคำที่มีความหมายอย่างน้อย
3 คำ เมื่ออายุ 18 เดือน
คำนิยามภาวะพูดช้า
- เด็กไม่สามารถพูดคำที่มีความหมายต่างกัน 2 คำ ต่อเนื่องกัน และพูดคำศัพท์น้อยกว่า 50 คำ เมื่ออายุ 24 เดือน
- เด็กไม่สามารถพูดประโยคที่สมบูรณ์หรือเด็กสามารถสื่อสารให้คนอื่นฟังรู้เรื่องน้อยกว่าร้อยละ 50 ของสิ่งที่เด็กพูด เมื่ออายุ 36 เดือน
สาเหตุการพูดช้า มี 4 ข้อ ดังต่อไปนี้
1. การได้ยินผิดปกติ (Hearing Impairment) ซึ่งมักพบได้ในเด็ก 1-2 คน ต่อประชากร 1,000 คน โดยอาจแบ่งเป็น 2 รูปแบบ คือ เด็กที่มีปัญหาการได้ยินผิดปกติเพียงบางส่วน พบว่ามักมีปัญหาพูดไม่ชัด แต่พัฒนาการทางภาษาใกล้เคียงเด็กปกติ และเด็กที่มีปัญหาการได้ยินผิดปกติชัดเจน เช่น หูหนวกตั้งแต่กำเนิดหรือจากสาเหตุอื่นๆ เช่น การติดเชื้อแต่กำเนิด (Torch infection)ฯลฯ จะพบว่ามีพัฒนาการทางภาษาล่าช้า หรือไม่สามารถพูดได้ และมักใช้ภาษาท่าทางในการสื่อความหมาย
2. ปัญหาพัฒนาการล่าช้าโดยรวม ซึ่งมักพบว่ามีพัฒนาการด้านอื่นล่าช้าด้วย และทำให้เด็กเรียนรู้การพูดและการใช้ภาษาช้าทั้งนี้ แพทย์อาจแนะนำให้ใช้การตรวจคัดกรองพัฒนาการเป็นหลัก
3. ภาวะออทิสติก (Autistic Spectrum Disorder) ซึ่งอาจสังเกตภาวะผิดปกติ 3 อย่าง คือ ไม่สนทนา ไม่พาที ไม่ชี้นิ้ว โดยเด็กที่มีแนวโน้มเป็นออทิสติกมักจะมีปัญหา คือ การสื่อสารโดยใช้ท่าทาง การมีอารมณ์ร่วมกับผู้อื่นและทักษะการเล่นที่ช้ากว่าวัย
4. พัฒนาการทางภาษาผิดปกติ (Developmental language disorder - DLD) หรือ ความบกพร่องเฉพาะด้านภาษา แบ่งเป็น 3 กลุ่ม ดังนี้
- กลุ่มที่มีพัฒนาการทางภาษาด้านการพูดช้ากว่าวัยแต่เพียงอย่างเดียว (Isolated expressive language disorder) ซึ่งมีความบกพร่องในการเปล่งเสียงในภาษาพูด หรือเริ่มพูดช้ากว่าวัยเดียวกัน แต่เมื่อพูดได้จะสามารถสื่อสารและการเรียนรู้ได้ทันเด็กวัยเดียวกัน
- กลุ่มที่มีความผิดปกติของพัฒนาการทางภาษาที่มีการแสดงออกและความเข้าใจภาษาล่าช้า (Mix receptive-expressive language disorder) ซึ่งมักมีความล่าช้าในการเรียนรู้และเข้าใจในคำศัพท์ เช่น ใช้ศัพท์ไม่ถูกความหมาย พูดสลับคำในประโยคที่ยาวหรือซับซ้อน
- กลุ่มที่มีความผิดปกติของพัฒนาการของสมองชั้นสูงในการใช้ภาษา (Higher order processing disorder) ความผิดปกตินี้ทำให้เกิดความบกพร่องในการใช้คำศัพท์และการใช้ภาษาอย่างเหมาะสมกับกาละเทศะ ซึ่งส่งผลต่อการเข้าสังคมและการสื่อสารกับผู้อื่น
นอกจากนี้พบว่าปัจจัยที่มีผลต่อการพูดช้าในปัจจุบัน คือ การให้เด็กดูจอ ไม่ว่าจะเป็นสมาร์ทโฟน แทปเลต โทรทัศน์ คอมพิวเตอร์ หรืออื่นๆ ซึ่งอาจกล่าวได้ว่า “จอ” ไม่ใช่พี่เลี้ยงเด็ก ดังนั้น จึงไม่ควรปล่อยให้ลูกดูจอเพียงลำพังหรือใช้เวลากับหน้าจอมากเกินไป เพราะจอเป็นการสื่อสารแบบทางเดียว และไม่ได้ช่วยทำให้ลูกพูดเร็วขึ้น โดย อ.พญ.จิตรลดา ให้คำแนะนำ ดังนี้
- ก่อน 2 ปี ไม่ควรให้ลูกดูจอทุกชนิดเด็ดขาด
- หลังจาก 2 ปี ให้ดูได้ แต่จำกัดเวลา วันละ 1 ชั่วโมง และผู้ปกครองควรนั่งดูด้วย เพื่อเลือกสื่อที่เหมาะสมกับเด็ก และให้คำแนะนำขณะดูจอ
แนวทางการให้ความช่วยเหลือ
- พ่อแม่ผู้ปกครองควรออกเสียงพูดให้ชัดเจน เป็นแบบอย่างที่ดีให้เด็ก
- พูดในสิ่งที่เด็กสนใจ
- ให้เด็กเรียนรู้ภาษาผ่านกิจกรรมการเล่น เช่น การอ่านนิทาน ชี้ให้ดูรูปในนิทาน อ่านสิ่งที่เด็กสนใจและงดดูจอทุกชนิด
วิธีฝึกการพูดเบื้องต้น
- ฝึกให้เด็กพูดในสภาพแวดล้อมที่เป็นธรรมชาติ
- การตั้งคำถามกับเด็กอย่างเหมาะสม เช่น เรียกว่าอะไร ตอนนี้อยู่ไหน เรากำลังทำอะไรอยู่
- เป็นผู้ฟังที่ดี เวลาเด็กพูดให้เราจ้องหน้า มองตา ตั้งใจฟังในสิ่งที่เด็กต้องการสื่อสาร
- ขยายความในส่วนของเด็ก เพื่อเติมคำพูดให้สมบูรณ์