ความรู้จากแพทย์ศรีพัฒน์

ก้อนผิดปกติที่คอ




ผศ.นพ.กีรติ วัชราชันย์

ศัลยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญระบบศรีษะ คอและเต้านม

รหัสเอกสาร PI-IMC-255-R-00

 อนุมัติวันที่ 22 ตุลาคม 2563


       

        ผู้ป่วยที่มีลักษณะของคอที่ผิดปกติหรือสังเกตภายนอกแล้วพบว่ามีลักษณะเป็นก้อนที่คอ ซึ่งอาจมีหลายรูปแบบ หลายขนาด ตั้งแต่เล็กมากไม่สามารถมองเห็นด้วยตาเปล่าแต่สัมผัสได้ ไปจนถึงขนาดใหญ่ที่สังเกตได้ ซึ่งก้อนเนื้อที่คอนั้นอาจเป็นเนื้องอกธรรมดา หรือมีความเสี่ยงที่อาจกลายเป็นเนื้อร้ายได้



        การเกิดก้อนที่คออาจมีหลายรูปแบบ แต่สาเหตุหลักแบ่งได้เป็น 2 ส่วน คือ ก้อนของต่อมน้ำเหลืองและก้อนของต่อมไทรอยด์ โดยก้อนที่ต่อมน้ำเหลือง ส่วนใหญ่แล้วมีสาเหตุมาจากต่อมน้ำเหลืองอักเสบ ซึ่งเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียหรือการติดเชื้อไวรัส และเกิดจากโรคมะเร็งหรือเซลล์มะเร็งบริเวณศีรษะ ลำคอ รวมทั้งต่อมไทรอยด์และลุกลามมาที่ต่อมน้ำเหลือง


        ส่วนก้อนที่ต่อมไทรอยด์นั้น แบ่งเป็นก้อนแบบไม่อันตราย หรือที่เรียกกันว่า คอพอกธรรมดา ซึ่งสาเหตุของการเกิดคอพอกธรรมดานั้นเกิดจากหลายปัจจัย โดยส่วนหนึ่งมาจากอาหารบางอย่าง เช่น การรับประทานกะหล่ำปลีมากเกินไป อาจทำให้เกิดคอพอกได้ รวมทั้งการขาดไอโอดีน ยาบางชนิด และต่อมไทรอยด์อักเสบเรื้อรัง ส่วนก้อนที่ต่อมไทรอยด์อีกแบบหนึ่ง คือ มะเร็งของต่อมไทรอยด์ ซึ่งมีได้หลายชนิด

 

ก้อนที่ต่อมไทรอยด์


        สาเหตุการเกิดก้อนที่ต่อมไทรอยด์ในอดีต พบว่าเกิดจากการบริโภคเกลือที่ไม่มีไอโอดีน ทำให้ร่างกายได้รับไอโอดีนไม่เพียงพอ โดยพื้นที่ที่พบการเกิดก้อนที่ต่อมไทรอยด์ได้มาก คือ ภาคอีสานและภาคเหนือ แต่ในปัจจุบันอุบัติการณ์ที่เกิดจากการขาดไอโอดีนนั้นลดลง จึงพบว่าการเกิดคอพอกธรรมดานั้นพบได้น้อยลง ทั้งนี้ จะพบการเกิดคอพอกธรรมดาในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย

 


ก้อนที่ต่อมไทรอยด์แบบไหน เสี่ยงเป็นมะเร็ง


หากมีก้อนที่ต่อมไทรอยด์ ร่วมกับมีปัจจัยเหล่านี้ อาจเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งได้ คือ


-        การที่มีญาติสายตรงเป็นมะเร็งของต่อมไทรอยด์มาก่อน 


-        การที่มีประวัติได้รับการฉายรังสีบริเวณศีรษะและลำคอ  


-        ก้อนที่มีประวัติว่าโตเร็ว

 

-        การที่มีก้อนมีอาการกดเบียดหรือลุกลามอวัยวะข้างเคียง เช่น มีเสียงแหบ กลืนลำบาก หรือหายใจลำบาก


 

การวินิจฉัยและการรักษา

        ผู้ป่วยที่มีก้อนที่คอ โดยเฉพาะก้อนที่ต่อมไทรอยด์ เมื่อมาพบแพทย์ที่โรงพยาบาล แพทย์จะทำการซักประวัติและตรวจร่างกาย จากนั้นจะทำการคลำต่อมไทรอยด์และวัดขนาดก้อน รวมทั้งคลำต่อมน้ำเหลืองบริเวณคอ และส่งตรวจอัลตร้าซาวด์เพื่อดูรูปร่างลักษณะของก้อนว่าเป็นอย่างไร จากนั้นจะส่งตรวจ การทำงานของต่อมไทรอยด์ โดยการเจาะเลือด หากผลการตรวจทั้งหมดมีแนวโน้มสงสัยเป็นก้อนเนื้อที่ไม่ดี แพทย์จะใช้เข็มเล็กๆ เจาะเอาเซลล์ไปตรวจ ซึ่งข้อมูลที่ได้จะนำมาประมวลผล หากก้อนนั้นมีลักษณะไม่อันตราย แพทย์อาจใช้วิธีการรักษาโดยการสังเกตอาการของก้อนว่ามีการเปลี่ยนแปลงหรือไม่อย่างไร แต่หากผลตรวจออกมาว่าเป็นเนื้อไม่ดี หรือมีข้อบ่งชี้ในการผ่าตัด แพทย์จะแนะนำการรักษาด้วยการผ่าตัดต่อมไทรอยด์ออก