ผศ.พญ.เหมือนพลอย นิภารักษ์
จักษุแพทย์
รหัสเอกสาร PI-IMC-252-R-00
อนุมัติวันที่ 22 ตุลาคม 2563
อุบัติเหตุต่อดวงตาเป็นสิ่งที่พบได้บ่อย เช่น การมีสิ่งแปลกปลอมเข้าตา ซึ่งอาจติดอยู่ที่ผิวตาหรือเข้าไปภายในลูกตา รวมทั้งการกระทบกระแทก ทั้งจากของไม่มีคมหรือของมีคมทิ่มแทงลูกตา โดยอาจเกิดจากการทำงานที่มีความเสี่ยง หรือการทะเลาะวิวาท ซึ่งหากอุบัติเหตุนั้นมีผลกระทบต่อส่วนหลังของลูกตา มักก่อให้เกิดผลกระทบอย่างรุนแรงต่อสายตา จนอาจสูญเสียการมองเห็นได้
อุบัติเหตุหรือสิ่งแปลกปลอมเข้าตา ที่พบบ่อย ได้แก่
กระจกตาถลอก
มักพบหลังจากสิ่งแปลกปลอมเข้าตา เช่น ถูกฟางข้าว หรือใบไม้บาดตา เป็นต้น โดยจะมีอาการระคายเคือง เหมือนมีสิ่งแปลกปลอมอยู่ภายในตาตลอดเวลา ปวดตามาก ลืมตาไม่ขึ้น ตาแดงและน้ำตาไหล
การรักษา แพทย์อาจให้ยาหยอดตาปฏิชีวนะและน้ำตาเทียม หรือใช้ยาขี้ผึ้งปฏิชีวนะป้ายตาและปิดตาไว้ตลอด 24 ชั่วโมง และนัดตรวจติดตามอาการอีกครั้ง โดยปกติอาการจะดีขึ้นใน 1-2 วัน
สิ่งแปลกปลอมบริเวณตาดำ (กระจกตา)
สาเหตุเกิดจากเศษโลหะต่างๆ ที่พุ่งมาด้วยความเร็ว เช่น จากการทุบ การตอก ซึ่งลักษณะส่วนใหญ่จะฝังลึก ทำให้เกิดแผลที่กระจกตา หรือทำให้กระจกตาทะลุได้
ข้อควรปฏิบัติสำหรับกรณีนี้ คือ ควรได้รับการตรวจอย่างละเอียดและตรวจสายตาด้วย เพื่อดูว่ามีการมองเห็นเสียไปหรือไม่ และไม่ควรเขี่ยสิ่งแปลกปลอมออกเอง เพราะอาจทำให้กระจกตาทะลุและเป็น
อันตรายมากขึ้น หากเป็นสิ่งแปลกปลอมขนาดเล็ก ติดที่ผิวกระจกตา วิธีที่ดีที่สุด คือ ล้างตาให้สะอาด อาจใช้ผ้าปิดตาข้างที่มีสิ่งแปลกปลอมไว้เบาๆ แล้วรีบนำส่งโรงพยาบาล เพื่อให้จักษุแพทย์ตรวจหาสิ่งแปลก
ปลอมด้วยเครื่องมือและดำเนินการเขี่ยออก หลังจากนั้นแพทย์อาจให้ป้ายตาหรือหยอดยาตามแพทย์สั่ง
สิ่งแปลกปลอมเข้าไปในเยื่อบุตา
มีสาเหตุจากฝุ่นละอองหรือเศษผงต่างๆ เข้าตา เช่น แมลง ฝุ่น หรือขน ฯลฯ ซึ่งทำให้มีอาการตาแดง เคืองตา แสบตา น้ำตาไหล ลืมตาไม่ขึ้น
ข้อควรปฏิบัติสำหรับกรณีมีสิ่งแปลกปลอมเข้าเยื่อตา ให้ล้างตาด้วยน้ำสะอาดหรือน้ำยาล้างตา อาจลืมตาในน้ำแล้วกลอกตาไปมา เพื่อให้สิ่งแปลกปลอมหลุดออกมา แต่ถ้าพบว่าสิ่งแปลกปลอมยังไม่ออก
และไม่ได้ฝังลึก สามารถเขี่ยออกได้ด้วยผ้าสะอาด แต่ถ้ามีเลือดออกรอบๆ
บริเวณเยื่อตา ควรมาพบจักษุแพทย์เพื่อตรวจอย่างละเอียดอีกครั้ง เพราะหากมีเลือดออก
สิ่งแปลกปลอมนั้นอาจทะลุเข้าตา
ตาถูกกระแทกอย่างแรงหรือถูกกระทบกระแทกโดยของไม่มีคม
บริเวณตาข้างนั้นจะบวม เขียวคล้ำ และกดเจ็บ รวมทั้งอาจทำให้เกิดเลือดออกหรือมีการฉีกขาดของเนื้อเยื่อภายในลูกตาได้ และหากมีอาการกระดูกเบ้าตาแตกหรือหัก จะทำให้การมองเห็นภาพไม่ชัดหรือ
เห็นภาพซ้อนได้
เมื่อตาถูกกระแทกเช่นนี้ ควรพิจารณาก่อนว่า ผนังลูกตาอาจจะฉีกขาดหรือไม่ โดยหากมีอาการตามัวลงทันทีหลังเกิดอุบัติเหตุ ปวดตาอย่างรุนแรง หรือมีเลือดไหลออกจากตา แสดงว่าอาจมีภาวะผนังลูก
ตาฉีกขาด ควรรีบนำตัวส่งพบแพทย์ทันที ห้ามขยี้หรือกดตาจะยิ่งทำให้ความเสียหายรุนแรงขึ้น แต่หากไม่ได้มีอาการที่สงสัยว่าผนังลูกตาฉีกขาด สามารถทำการปฐมพยาบาลเบื้องต้นโดยการล้างแผลให้สะอาด
ปิดตาไว้ให้ยาแก้ปวด แล้วจึงไปพบแพทย์ เนื่องจากอาจจะมีอันตรายตามมา เช่น กล้ามเนื้อที่ใช้กลอกตาไปมาถูกกดทับ ซึ่งจะทำให้ตาบอดได้
ในส่วนของการรักษา แพทย์จะรักษาตามอาการและลักษณะของบาดแผล เช่น ใช้ยาหยอดตาเพื่อรักษาอาการอักเสบ หรือยาลดความดันตา ในรายที่มีความดันตาสูงแทรกซ้อน หรือหากมีการฉีกขาดของ
จอตา อาจใช้การรักษาด้วยการยิงเลเซอร์เพื่อป้องกันจอตาหลุดลอก
การถูกของมีคมทิ่มแทงลูกตา
อาจทำให้ผนังลูกตาฉีกขาด หรือเลนส์ตา หรือจอตาฉีกขาด และมีสิ่งแปลกปลอมตกค้างภายในลูกตาได้ รวมทั้งอาจมีเชื้อโรคเข้าไปและเกิดการติดเชื้อรุนแรงได้ ควรรีบไปพบแพทย์ทันที
การรักษาเบื้องต้นแพทย์อาจเย็บซ่อมผนังลูกตาที่ฉีกขาด และตรวจตาอย่างละเอียด เพื่อดูสิ่งแปลกปลอมตกค้างหรือการติดเชื้อภายในลูกตา ในผู้ป่วยบางรายอาจต้องพิจารณาผ่าตัดเพิ่มเติมหลายครั้ง
ตามความผิดปกติที่ตรวจพบ
อย่างไรก็ตาม อุบัติเหตุทางตาเป็นสิ่งที่ป้องกันได้ หากทำงานใดๆ ที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุต่อดวงตา เช่น ตัดหญ้า ตอกตะปู หรือเจียรเหล็ก ควรสวมแว่นนิรภัยเพื่อป้องกันดวงตาอยู่เสมอ ซึ่งควร
เป็นแว่นที่ทำการวัสดุโพลีคาร์บอเนต ที่มีความเหนียว แข็งแรง ทนทาน ไม่แตกง่าย และออกแบบมาให้คลุมได้รอบดวงตา
ข้อมูลอ้างอิง
รศ.นพ.ดิเรก ผาติกุลศิลา . (พ.ศ.2554) . อุบัติเหตุต่อดวงตา . ภาควิชาจักษุวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ . แหล่งที่มา : https://w1.med.cmu.ac.th/eye/index.php?option=com_content&view=article&id=58:2011-12-30-03-19-54&catid=17:knowleadge&Itemid=394 .