ความรู้จากแพทย์ศรีพัฒน์

การเลือกใช้คอนแทคเลนส์ให้ถูกวิธี




ผศ.พญ.เหมือนพลอย นิภารักษ์

จักษุแพทย์

รหัสเอกสาร PI-IMC-251-R-00

 อนุมัติวันที่ 22 ตุลาคม 2563


        คอนแทคเลนส์หรือเลนส์สัมผัส (Contact lens) มีลักษณะเป็นแผ่นพลาสติกใส รูปกระทะ แผ่นบาง มีความหนาประมาณ 1 มิลลิเมตร เส้นผ่าศูนย์กลาง 7-15 มิลลิเมตร มีความโค้งใกล้เคียงกับความโค้งของ

ตาดำ มีการปรับความโค้งทั้งด้านในและด้านนอกให้มีกำลังหักเหของแสงขนาดต่างๆ ตามกำลังของความผิด ปกติของสายตา และอาศัยน้ำตาที่ฉาบบางๆ อยู่บนผิวตา ทำหน้าที่ยึดเลนส์ให้ติดกับกระจกตา และ

สามารถขยับเลนส์ได้เมื่อกลอกตาไปมา


        เดิมคอนแทคเลนส์นั้น เลนส์จะมีลักษณะใส ไร้สี ผลิตขึ้นมาเพื่อช่วยในการแก้ปัญหาสายตา ทั้งสายตาสั้น สายตายาว และสายตาเอียง แต่ปัจจุบันมีการผลิตคอนแทคเลนส์แบบสีขึ้นมา โดยนิยมใช้ในด้าน

ความสวยงามของดวงตา  เช่น ใส่เพื่อเปลี่ยนสีของดวงตา หรือทำให้ตาดำขยายใหญ่และกลมโตกว่าปกติ

 

คอนแทคเลนส์มีกี่ชนิด

จากข้อมูลของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา อธิบายว่า คอนแทคเลนส์ แบ่งเป็น 2 ชนิด คือ


1.คอนแทคเลนส์ชนิดนิ่ม (Soft Contact Lenses) มีลักษณะเป็นแผ่นพลาสติก นุ่ม ยืดหยุ่น และยอมให้ออกซิเจนผ่านได้ จึงอาจทำให้ใช้ได้ง่ายและรู้สึกสบายกว่าใส่คอนแทคเลนส์ชนิดแข็ง โดยใช้วัสดุเป็นซิลิโคน

ไฮโดรเจล (Silicone Hydrogels) เพื่อให้ดวงตาได้รับออกซิเจนมากขึ้นขณะใส่ ซึ่งมีหลากหลายรูปแบบ เช่น แบบรายวัน รายสัปดาห์ รายเดือน และรายปี รวมทั้งชนิดที่ใช้แล้วทิ้ง (Disposable Contact

Lenses) ชนิดที่ระบุระยะเวลาการใช้ เมื่อครบกำหนดต้องเปลี่ยนใหม่ เช่น ชนิด Daily หมายถึง การสวมใส่ได้ในแต่ละวัน หรือไม่เกิน 12 ชั่วโมง และชนิด Extended สามารถ สวมใส่ได้ติดต่อกันตามระยะเวลาที่

ระบุ เช่น 7 วัน ถึง 30 วัน แล้วทิ้ง แต่ไม่แนะนำให้ใส่ในขณะนอนหลับเด็ดขาด


2. คอนแทคเลนส์ชนิดแข็ง ที่ก๊าซสามารถซึมผ่านได้ (Rigid Gas Permeable หรือ RGP Contact Lenses) สามารถใช้ได้นานกว่าและยากต่อการเกาะติดของคราบสกปรก อีกทั้งให้ภาพที่ชัดและละเอียด

มากกว่า แต่ไม่สะดวกสบายในการสวมใส่เท่ากับชนิดนิ่ม โดยเฉพาะในระยะเริ่มแรกของการสวมใส่คอนแทคเลนส์ชนิดแข็งนี้ อาจต้องใช้เวลาถึง 1-2 สัปดาห์เพื่อให้เกิดความคุ้นเคยในการสวมใส่

 


ข้อควรรู้ในการใส่คอนแทคเลนส์


        การใส่คอนแทคเลนส์ นอกจากช่วยแก้ปัญหาสายตาและเพื่อความสวยงามแล้ว หากใส่ไม่ถูกวิธี อาจทำให้เกิดปัญหาต่อดวงตา เช่น ตาอักเสบ ติดเชื้อ หรือภาวะตาแห้งได้  ดังนั้น ผู้ที่จะใส่คอนแทคเลนส์ ควรปฏิบัติ ดังนี้


-          ไม่ควรใช้คอนแทคเลนส์ร่วมกับผู้อื่น


-          หมั่นรักษาความสะอาด ล้างมือบ่อยๆ ตัดเล็บให้สั้น และล้างมือทุกครั้งก่อนใส่คอนแทคเลนส์


-          ห้ามใส่นอนและใส่ว่ายน้ำ เพราะอาจทำให้ติดเชื้อ


-          ห้ามใช้เกินระยะเวลาที่กำหนด และปฏิบัติตามคำแนะนำในคู่มือหรือฉลากอย่างเคร่งครัด


-          หากเกิดอาการผิดปกติ เช่น เจ็บหรือปวดตาเป็นอย่างมาก ร่วมกับอาการแพ้แสง ตามัวลง น้ำตาไหลมาก ตาแดง ให้หยุดใช้และรีบไปพบจักษุแพทย์



-          ควรได้รับการตรวจตาจากจักษุแพทย์เป็นระยะๆ เพื่อตรวจเช็คสายตา แม้ไม่มีอาการผิดปกติ

 

 

ข้อมูลอ้างอิง


- ศูนย์สื่อสารองค์กรและนักศึกษาเก่าสัมพันธ์ . (2020) . จักษุแพทย์ มช. แนะวิธีใช้ คอนแทคเลนส์อย่างปลอดภัย . มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ . แหล่งข้อมูล : https://www.cmu.ac.th/th/article/5bc220ed-d019-48cc-90ca-363e09865172

- อย. (2019) . สิ่งที่ควรรู้เกี่ยวกับคอนแทคเลนส์หรือเลนส์สัมผัส . สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา . แหล่งข้อมูล : https://shorturl.asia/9QZ6q .