ความรู้จากแพทย์ศรีพัฒน์

ช็อกโกแลต ซีสต์




นพ.ณัฐพัชร์  จันทรสกา

สูตินรีแพทย์

รหัสเอกสาร PI-IMC-248-R-00

อนุมัติวันที่ 22 ตุลาคม 2563


        ช็อกโกแลตซีสต์ (Chocolate Cyst) คือ โรคที่มีภาวะการเจริญเติบโตของเซลล์เยื่อบุโพรงมดลูกขึ้นผิดที่ มีอาการแสดงโดยเกิดลักษณะของถุงน้ำขึ้นที่รังไข่หรืออวัยวะข้างเคียง นิยมเรียกว่า ช็อกโกแลตซีสต์

เพราะลักษณะภายในของถุงน้ำจะมีของเหลวคล้ายกับช็อกโกแลตเหลวอยู่ในนั้น ซึ่งเชื่อว่าเกิดจากเลือดประจำเดือนไหลย้อนกลับในอุ้งเชิงกราน จนเกิดการสะสมและกลายเป็นถุงน้ำ เมื่อเลือดค้างอยู่ก็จะกลาย

เป็นสีน้ำตาล และในแต่ละเดือนช่วงระหว่างมีเลือดระดูหรือประจำเดือน อาจพบว่าถุงน้ำนี้มีขนาดใหญ่เพิ่มขึ้นด้วย



สาเหตุ

        โดยปกติเลือดระดูหรือประจำเดือนจะไหลออกมาทางช่องคลอด และมีเลือดบางส่วนไหลผ่านท่อนำไข่เข้าไปในอุ้งเชิงกราน แต่การเกิดช็อกโกแลตซีสต์ พบว่าเกิดจากการไหลย้อนกลับของเลือดระดูที่ไหล

ย้อนเข้าไปในอุ้งเชิงกรานผ่านทางท่อนำไข่ ซึ่งเลือดระดูจะมีเซลล์เยื่อบุโพรงมดลูกอยู่ โดยในสตรีปกติสามารถกำจัดเซลล์เยื่อบุโพรงมดลูกเหล่านี้ได้ แต่ในบางรายไม่สามารถทำลายเยื่อบุโพรงมดลูกได้ ทำให้

เซลล์เหล่านี้หลุดลอกและไปฝังตัวเจริญเติบโตตามจุดต่างๆ ในอุ้งเชิงกรานและรังไข่ สะสมไปตามทุกรอบระดูและอาจจะกลายเป็นถุงน้ำ เมื่อเวลาผ่านไปน้ำซึ่งเป็นส่วน ประกอบในถุงเลือดจะถูกดูดซึมกลับ ทำให้

เลือดในถุงมีลักษณะเข้มขึ้น และเมื่อค้างอยู่นานๆ ก็จะกลายเป็นสีน้ำตาล มีลักษณะเหมือนช็อกโกแลต จึงมักเรียกว่า ถุงน้ำช็อกโกแลต หรือ ช็อกโกแลตซีสต์



อาการของช็อกโกแลตซีสต์และแตกต่างอย่างไรกับปวดประจำเดือน


        อาการเด่นของช็อกโกแลตซีสต์ คือ อาการปวดท้องประจำเดือน หรือปวดท้องน้อยขณะมีเพศสัมพันธ์ ปวดท้องน้อยเรื้อรัง หรือคลำเจอก้อน นอกจากนี้การเริ่มปวดประจำเดือนจะเริ่มปวดในช่วงที่อายุมาก

ขึ้น โดยไม่เคยปวดมาก่อนหรือปวดมากขึ้นเรื่อยๆ จนไม่อาจทนได้ อาการแสดงเหล่านี้อาจมีภาวะเสี่ยงของการเกิดเซลล์เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่หรือช็อกโกแลตซีสต์ได้ ดังนั้น อาจกล่าวได้ว่าการแสดงอาการ

ปวดมีความสัมพันธ์กับอายุที่เพิ่มขึ้น ซึ่งแตกต่างจากการปวดประจำเดือนปกติ คือ ในสตรีอายุน้อยบางรายมักมีอาการปวดท้องเวลามีประจำเดือน โดยเริ่มมีอาการปวดตั้งแต่เริ่มเป็นประจำเดือนครั้งแรก และ

ปวดเท่าเดิม ไม่ได้รุนแรงขึ้น จะเรียกอาการนี้ว่า การปวดประจำเดือนธรรมดา



ารตรวจวินิจฉัยและการรักษา


        การตรวจวินิจฉัยนั้น แพทย์จะทำการซักประวัติ ตรวจร่างกาย และตรวจภายใน รวมทั้งตรวจอัลตราซาวด์ หรือในผู้ป่วยบางรายอาจต้องตัดชิ้นเนื้อเพื่อตรวจทางพยาธิวิทยา ทั้งนี้ ในส่วนของการรักษา

แพทย์อาจแนะนำให้ยารับประทาน ฉีดยา หรือผ่าตัด ซึ่งอาจผ่าตัดเฉพาะถุงน้ำออก หรือบางกรณีอาจต้องเอามดลูกหรือรังไข่ออกด้วย และที่สำคัญการดูแลรักษาช็อกโกแลตซีสต์ จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องติดตาม

การรักษาอย่างต่อเนื่อง เพราะมีโอกาสที่จะกลับมาเป็นซ้ำใหม่หลังจากรักษาช็อกโกแลตซีสต์หายไปแล้วก็ตาม

 


ข้อมูลอ้างอิง

-        ผศ.นพ.วิโรจน์ สหพงษ์. ช็อกโกแลต ซีส คืออะไร . แหล่งข้อมูล : http://kbsportgarment.tarad.com/webboard_639389_29982_th?lang=th.

-        อ.นพ.ศรีเธียร เลิศวิกูล. ไขข้อข้องใจกับโรคช็อกโกแลต ซีส . ภาควิชาสูตินรีเวช คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล . แหล่งข้อมูล: https://med.mahidol.ac.th/atrama/sites/default/files/public/pdf/column/@rama4_E01.pdf