ความรู้จากแพทย์ศรีพัฒน์

ผื่นภูมิแพ้ในเด็ก



อ.พญ.ชนันภรณ์ วิเศษวิทยเวช

กุมารแพทย์

รหัสเอกสาร PI-IMC-243-R-01

อนุมัติวันที่ 12 ตุลาคม 2566


        โรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนังในเด็กนั้น เกิดจากความผิดปกติของโครงสร้างชั้นผิวหนังกำพร้า ที่เกี่ยวข้องกับความผิดปกติของยีนส์ ในการสร้างสารที่ชื่อว่า สารเซราไมด์ (Ceramide) ซึ่งตำแหน่งที่พบผื่นภูมิแพ้ในเด็กแต่ละช่วงวัยจะแตกต่างกัน โดยในเด็กแรกเกิดจนถึง 2 ปี มักจะพบบริเวณแก้มและข้อศอก ข้อเข่าด้านนอก ส่วนเด็กที่มีอายุมากกว่า 2 ปีขึ้นไป มักจะเป็นบริเวณข้อพับแขนด้านใน ข้อเข่าด้านในและตามซอกคอ

 

อาการเป็นแบบไหน และเกี่ยวอย่างไรกับการแพ้

        จากข้อมูลของสมาคมโรคภูมิแพ้ โรคหืด และวิทยาภูมิคุ้มกันแห่งประเทศไทย อธิบายว่า ผิวหนังโดยทั่วไปของผู้ป่วยจะค่อนข้างแห้ง โดยอาการและอาการแสดงของโรคจะแตกต่างกันในแต่ละกลุ่มอายุของผู้ป่วย ซึ่งแบ่งออกได้เป็น 3 กลุ่ม ดังนี้

 

1. วัยทารก

        พบระหว่างอายุ 2 เดือนถึง 2 ปี ส่วนใหญ่จะเริ่มมีอาการเมื่ออายุ 2 เดือนขึ้นไป โดยมักพบผื่นแดงคัน มีตุ่มแดงและตุ่มน้ำเล็กๆ อยู่ในผื่นแดงนั้น หากตุ่มน้ำแตกออกจะมีน้ำเหลืองหรือตกสะเก็ด และอาจพบร่องรอยจากการเกาหรือขัดถู โดยเฉพาะบริเวณที่ทารกคืบ คลาน ถูไถ สัมผัสกับพื้นหรือที่นอน ผื่นอาจลุกลามไปยังผิวหนังบริเวณอื่นๆ ของร่างกาย เช่น ลำตัว ข้อศอก เข่า ในรายที่เป็นมากๆ ผื่นอาจเกิดทั่วร่างกายได้



2. วัยเด็ก

         พบในอายุระหว่าง 2-12 ปี โดยพบบ่อยที่บริเวณรอบคอ ข้อพับด้านในของแขนและขา เมื่อโรครุนแรงอาจลุกลามไปยังผิวหนังส่วนอื่นๆ ได้ ซึ่งผื่นจะเป็นตุ่มนูนแดงแห้งๆ มีขุยเล็กน้อย โดยไม่พบตุ่มน้ำแตกแฉะเหมือนวัยทารก แต่มีอาการคัน ผู้ป่วยมักเกาจนเกิดรอยถลอกหรืออาจเกิดการติดเชื้อแบคทีเรียในรอยโรคได้



3. วัยรุ่นและวัยผู้ใหญ่

        มักพบผื่นบริเวณรอบคอ ข้อพับแขน ขา คล้ายที่พบในเด็กโต ในรายที่เป็นมากๆ ผื่นจะเกิดทั่วร่างกายได้เช่นกัน ผู้ป่วยโรคนี้มีแนวโน้มที่จะเกิดผิวหนังอักเสบบริเวณมือได้ง่าย

 


การรักษา

        ผื่นภูมิแพ้เกิดจากความผิดปกติของโครงสร้างชั้นผิวหนัง ซึ่งสามารถเกิดกับเด็กทุกคนและสามารถหายได้หลังได้รับการดูแล เช่น การรักษาความสะอาดและความชุ่มชื้นของผิว รวมถึงการพบแพทย์ เพื่อรับคำปรึกษาในการดูแลและการใช้ยา โดยหากพบว่าลูกมีอาการผื่นภูมิแพ้ คุณพ่อคุณแม่สามารถให้การดูแล ดังนี้


1. การดูแลให้ความชุ่มชื้นแก่ผิวหนังของลูกน้อย

        โดยไม่ควรอาบน้ำบ่อยเกินไป เนื่องจากการอาบน้ำบ่อยจะทำให้ผิวยิ่งแห้ง ควรอาบน้ำวันละ 1-2 ครั้ง เช้า – เย็น และไม่ควรอาบน้ำที่อุ่นจัดหรือเย็นจัด รวมทั้งเวลาที่เหมาะสมในการอาบน้ำให้ลูก ควรอยู่ในช่วงระหว่าง 2-5 นาที


2. การเลือกใช้ผลิตภัณฑ์สำหรับเด็ก

        การดูแลผิวของลูก ควรเลือกใช้ผลิตภัณฑ์มีความเป็นกรดอ่อนๆ หรือว่าเป็นกลาง หลังจากอาบน้ำเสร็จให้ใช้ผ้าเช็ดตัวซับหมาดๆ อย่าถูแรงเกินไป เพื่อไม่ให้เกิดการบาดเจ็บต่อผิวหนัง และทาโลชั่นทันทีภายใน 3 นาทีแรกหลังอาบน้ำเสร็จ เพื่อเปิดเกล็ดผิว ช่วยให้ผิวสามารถซึมซับโลชั่นที่ให้ความชุ่มชื้นเข้าไปได้ง่ายขึ้น

 

3. ยารักษา

        บางกรณีแพทย์อาจแนะนำให้ใช้ยา ซึ่งการใช้ยาขึ้นอยู่กับสภาพผิวและความรุนแรงของโรค สำหรับบริเวณผิวอ่อนๆ เช่น ผิวหน้า ตามซอกแขน ซอกขา ข้อพับ ขาหนีบ อาจใช้ผลิตภัณฑ์หรือตัวยาที่มีความรุนแรงระดับอ่อน ส่วนบริเวณผิวหนังที่หนาขึ้น เช่น ส้นเท้า ข้อเข่าด้านนอก ข้อศอกด้านนอก ก็จะใช้กลุ่มที่มีความรุนแรงระดับปานกลางหรือความรุนแรงมากขึ้น ส่วนโลชั่นที่เลือกใช้ก็มีความสำคัญเช่นกัน คือ ควรเลือกโลชั่นที่ให้ความชุ่มชื้นและเหมาะสมสำหรับโรคภูมิแพ้ผิวหนัง และควรมีสารเซราไมด์ (Ceramide) เป็นส่วนผสม เพื่อช่วยปรับสมดุลของผิว

        แต่หากลูกมีการอาการผื่นทางผิวหนัง ร่วมกับผื่นลมพิษ และมีอาการคันตามผิวหนัง ใบหน้าร้อนและแดง รวมทั้งอาการบวมที่ปากและตา หลังจากการรับประทานอาหาร หรืออาการที่บ่งบอกว่ามีการแพ้อาหาร ควรรีบพาไปพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยสาเหตุของอาการ เพื่อสามารถทำการรักษาได้อย่างรวดเร็วและถูกต้อง ทั้งนี้ เพื่อป้องกันการเกิดอาการที่รุนแรง ที่อาจส่งผลให้หัวใจหยุดเต้นและอันตรายถึงชีวิตได้

 

ข้อมูลอ้างอิง

- พญ.ชนันภรณ์ วิเศษวิทยเวช. วีดีโอเรื่องโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนังอักเสบในเด็ก. https://www.youtube.com/watch?v=v2swX7-9E-o.

.นพ. เกียรติ รักษ์รุ่งธรรม. โรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง. สมาคมโรคภูมิแพ้ โรคหืด และวิทยาภูมิคุ้มกันแห่งประเทศไทย. http://allergy.or.th/2016/resources_expert_detail.php?id=109. ค้นเมื่อวันที่ 30 กันยายน 2563.