ความรู้จากแพทย์ศรีพัฒน์

เคล็ดลับการดูแลอาหารสำหรับผู้ป่วยสมองเสื่อม




อ.นพ.อดิศักดิ์ กิตติสาเรศ

แพทย์ผู้เชี่ยวชาญระบบประสาทและสมอง

รหัสเอกสาร PI-IMC-235-R-00

อนุมัติวันที่ 24 กันยายน 2563


        อาหารเป็นเรื่องใกล้ตัวและสัมพันธ์กับการดำรงชีวิตของมนุษย์ ดังจะเห็นได้ว่า สุขภาพจะดีหรือไม่ สามารถปรับได้ง่ายๆ ด้วยการปรับการรับประทานอาหาร ซึ่งนอกจากเป็นส่วนหนึ่งของการรักษาโรคและอาการเจ็บป่วยแล้ว ยังเป็นส่วนสำคัญสำหรับบุคคลทั่วไปในการป้องกันโรคอีกด้วย ในผู้ป่วยโรคสมองเสื่อมนั้น การได้รับประทานอาหารที่ดีและมีประโยชน์ ในปริมาณที่เหมาะสม จะทำให้ผู้ป่วยมีสุขภาพที่ดีไปได้ยาวนาน นอกจากนี้การจัดตกแต่งอาหารให้สวยงาม น่าสนใจ การมีกิจกรรมร่วมกันในมื้ออาหาร ก็เป็นอีกส่วนหนึ่งที่จะช่วยให้อาการของโรคดีขึ้นด้วย 




รับประทานอย่างไรให้เหมาะสม 


การดูแลและจัดการด้านอาหารสำหรับผู้ป่วยโรคสมองเสื่อม อาจแบ่งได้ 3 ระยะ ดังนี้ 



ระยะแรก สามารถให้รับประทานอาหารทางปาก ดูแลสุขภาพช่องปากและฟันอย่างสม่ำเสมอ จัดอาหารที่เคี้ยวง่าย มีความหลากหลายของสารอาหารและพลังงานที่เหมาะสม หากมีปัญหาสามารถให้รับประทานในปริมาณน้อยแต่บ่อยครั้ง สามารถแบ่งอาหารเป็น 4-8 มื้อต่อวัน ตามความเหมาะสม จัดบรรยากาศให้เป็นไปในแบบที่ผู้ป่วยชอบและคุ้นเคย 



ระยะกลาง ในการรับประทานอาหาร อาจจะเริ่มมีปัญหาในการรับประทานอาหาร บางรายลืมอิ่ม คือ รับประทานอาหารแล้วจำไม่ได้ จะขอรับประทานเพิ่ม และในบางรายเป็นในแบบตรงกันข้าม คือ ลืมหิว คิดว่าตนเองรับประทานไปแล้ว ปฏิเสธอาหารทั้งวัน ทำให้มีอาการผ่ายผอมลง ปัญหาในช่วงนี้อาจแก้โดยการจัดอาหารในปริมาณพอเหมาะที่ผู้ป่วยรับได้หรือควรจะรับประทาน แล้วให้รับประทานอาหารหลายมื้อมากขึ้น หากสังเกตเห็นว่าน้ำหนักมากไป ก็จัดอาหารพลังงานต่ำ เช่น ผักและผลไม้ให้เพิ่ม ในขณะที่หากดูว่าขาดพลังงาน ก็ควรจัดอาหารที่มีพลังงานสูงหรืออาหารเสริมทางการแพทย์ควบคู่ไปด้วย 


 

ระยะสุดท้าย ผู้ป่วยเริ่มมีปัญหาด้านการกลืนอาหาร นอนติดเตียง ต้องการการดูแล การจัดอาหารทางสายยาง ให้มีสารอาหาร วิตามิน และพลังงานที่เพียงพอ 



 

เคล็ดลับการจัดการและดูแลผู้ป่วยช่วงการรับประทานอาหาร 



-        ประเมินความสามารถในการเคี้ยวและกลืนของผู้ป่วย เพื่อกำหนดความหยาบหรือละเอียดของอาหารอย่างเหมาะสม 


-        ให้ผู้ป่วยเลือกทานอาหารที่ตนเองชอบ โดยเลือกเป็นอาหารชนิดที่คุ้นเคย 


-        ถ้าผู้ป่วยมีโรคที่ต้องจำกัดเกลือและน้ำตาล ควรเก็บอาหารรสหวานจัด เค็มจัดหรือเครื่องปรุงเก็บใส่ตู้ไว้ให้มิดชิด


-        จัดปริมาณอาหารและสัดส่วนอาหารให้เหมาะสม

 

-        ปรับอุณหภูมิอาหารให้เหมาะสม 


-        อาหารบนโต๊ะควรมี 2-3 อย่าง ควรใช้จานสีเรียบ สีแตกต่างจากสีโต๊ะอาหาร 


-        ช้อนส้อมมีด ควรมีด้ามใหญ่ จับถือสะดวก 


-        แบ่งอาหารให้พอดีคำ เตรียมใส่ช้อนไว้ เน้นให้ตักเอง หากสามารถทำเองได้ 


-        ปรับเวลารับประทานอาหารให้เหมาะสมกับการพักผ่อน นอนหลับและออกกำลังกาย

 

-        พยายามคงบรรยากาศสิ่งแวดล้อมเดิมๆ ของการรับประทานอาหาร เช่น เวลา ตำแหน่งโต๊ะ เก้าอี้ อุปกรณ์ที่ใช้เป็นประจำ 


-        จัดสิ่งแวดล้อมที่เอื้อในการรับประทาน ไม่มืดหรือสว่างเกินไป และไม่ร้อนหรือหนาวไป 


-        ปิดทีวีหรือลดเสียงที่รบกวน เสริมสร้างบรรยากาศที่ผู้ป่วยชอบ ช่วงผู้ป่วยรับประทานอาหาร 


-        มองว่ามื้ออาหารเป็นเวลาที่จะสร้างความสัมพันธ์กับผู้ป่วย คนในครอบครัวร่วมรับประทานอาหารด้วยกัน 


-        เฝ้าดูผู้ป่วยขณะรับประทานอาหาร เพื่อช่วยเหลือเมื่อจำเป็น รวมทั้งเฝ้าระวังการสำลักน้ำและอาหาร 


-        ไม่ตำหนิ เมื่อผู้ป่วยทำอาหารหกเลอะเทอะ 


-        ไม่ควรเร่งผู้ป่วยให้รับประทานอาหารเร็ว 


-        ดูแลให้ผู้ป่วยได้ดื่มน้ำพอเพียงในแต่ละวัน 


-        อาจมีกิจกรรมให้ผู้ป่วยมีส่วนร่วมในการทำอาหารที่ทำง่ายๆ มุ่งความสำเร็จ เช่น การทำแซนวิช การห่อเกี๊ยว การปั้นแป้ง 




อาหารประเภทไหน ช่วยป้องกันและชะลออาการของโรคสมองเสื่อม 


-        โอเมก้า 3 (Omega 3) โดยจะพบมากในปลาทะเล เช่น ปลาทู ปลาทูน่า ปลาซาบะ ปลาแซลมอน ปลาโอ (รับประทาน 2-3 ครั้งต่อสัปดาห์) 


-        อาหารต้านอนุมูลอิสระ (Antioxidant) เนื่องจากอนุมูลอิสระเป็นพิษต่อเซลล์ในร่างกาย รวมทั้งเซลล์สมอง พบมากในลูกพรุน สตรอเบอรี่ บลูเบอรี่ ลูกม่อน ผลทับทิม แอปเปิ้ล เป็นต้น สำหรับเครื่องเทศพบมากในพริก พริกไทย กระเทียม ขิง 


-        โคลีน (Choline) เป็นสารอาหารที่จำเป็นต่อการสร้างสารสื่อประสาทที่เรียกว่า อะเซทิลโคลีน พบมากในถั่วเหลือง ไข่แดง ถั่วลิสง ผักใบเขียว ธัญพืชและถั่วเมล็ดแห้ง ปลา จมูกข้าวสาลี ข้าวโอ๊ต ข้าวกล้อง กล้วย ข้าวโพด เครื่องในสัตว์ กะหล่ำปลี และกะหล่ำดอก 


-        อาหารในกลุ่มแป้ง (Carbohydrate) ควรเน้นเป็นกลุ่มที่มีโครงสร้างเชิงซ้อน เช่น ข้าวกล้อง ข้าวซ้อมมือ ข้าวโอ๊ต และธัญพืช 


-        วิตามินและเกลือแร่เสริม (Vitamins and Mineral supplements) รับประทานอย่างเหมาะสม (ตามที่แพทย์พิจารณา) 


 

เพียงดูแลอาหารในชีวิตประจำวันให้เหมาะสม ก็จะช่วยให้ตัวเราเองและผู้ที่เราดูแลแข็งแรง มีสุขภาพที่ดีขึ้นได้