ความรู้จากแพทย์ศรีพัฒน์

เคล็ดลับการให้อาหารเสริมลูกน้อย




รศ.พญ.วัชรี ตันติประภา

กุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านทารกแรกเกิดและการดูแลทารก

รหัสเอกสาร PI-IMC-237-R-00

 อนุมัติวันที่ 24 กันยายน 2563


        การให้อาหารเสริมแก่ลูกน้อย อาจเป็นบททดสอบความอดทนอันหนึ่งของคุณพ่อคุณแม่ เพราะการยอมรับอาหารของเด็กแต่ละคนอาจจะไม่เหมือนกัน ลองมาดูเทคนิคการให้อาหารเสริมตามคำแนะนำเบื้องต้นดังนี้



 

1. ผู้ป้อนอาหารอาจเป็นคุณแม่ คุณพ่อ คุณยาย หรือผู้ที่มีความสัมพันธ์อันดีกับลูกน้อย ระหว่างป้อนควรพูดคุยสบตาและป้อนด้วยความนุ่มนวล



2. ฝึกลูกให้ตอบสนองต่อความหิวและความอิ่มอย่างเหมาะสม โดยหัดสังเกตและกระตุ้นให้ลูกกินอาหารเมื่อเริ่มแสดงอาการหิว พยายามให้อาหารเป็นมื้อเป็นเวลาแต่ไม่ควรบังคับจนเคร่งครัด หลังอายุ 1 ปี ควรมีอาหารมื้อหลัก 3 มื้อและของว่างไม่เกิน 2 มื้อ  ให้มื้อหลักห่างจากมื้อนมหรือของว่างประมาณ 2 ชั่วโมง ใช้เวลาป้อนในแต่ละมื้อประมาณ 15-20 นาที แต่ไม่นานกว่า 30 นาที และไม่ควรให้กินจุบจิบระหว่างมื้อ



3. จัดสิ่งแวดล้อมเพื่อให้ลูกสนใจการกินอาหาร ลดสิ่งที่เบี่ยงเบนความสนใจระหว่างการกิน เช่น



- จัดให้นั่งกินเป็นที่เป็นทาง ไม่เดินตามป้อน



- ให้กินพร้อมกับสมาชิกอื่นในครอบครัว



- ไม่ให้ดูโทรทัศน์ เล่นโทรศัพท์ แทปเลตหรือของเล่นต่างๆ ระหว่างการกินอาหาร




4. ฝึกลูกให้ช่วยเหลือตัวเองในการกินให้เหมาะกับพัฒนาการตามวัย เช่น


- อายุ 6 เดือนขึ้นไป จะเริ่มจิบน้ำจากแก้วได้บ้าง อายุ 9 เดือนขึ้นไป ให้หัดดูดน้ำจากหลอดได้ ควรฝึกให้เลิกกินนมขวดเมื่ออายุ 1-1 ปีครึ่ง หรืออย่างช้าไม่เกิน 2 ปี 


       

- อายุ 8-10 เดือน ลูกจะชอบหยิบของเข้าปาก เริ่มชอบอาหารที่มีลักษณะและรสชาติใหม่ๆ ลองให้ถืออาหารที่ไม่แข็ง เช่น ฟักทอง มันนึ่ง กินเอง



- อายุ 10-12 เดือน ใช้นิ้วหัวแม่มือและนิ้วชี้ได้ดีขึ้น อาจลองให้ใช้ช้อนตักอาหารกินเองได้บ้าง



- หลังอายุ 1 ปี ควรเริ่มปล่อยให้ตักอาหารกินเอง แม้จะยังหกเลอะเทอะ



- หลังอายุ 1 ปีครึ่ง จะเริ่มกินอาหารเองได้ด้วยช้อนและมือ




5. อาหารที่จัดให้ลูกควรมีความหลากหลายและครบ 5 หมู่ ไม่ควรให้ซ้ำๆ กันหลายมื้อ



6. ถ้าลูกปฏิเสธอาหารบางอย่างให้ลองปรับเปลี่ยนวิธีการปรุง การผสม เพื่อให้มีรสที่ต่างออกไปตามที่ลูกชอบ รวมทั้งการจัดให้มีรูปร่างหรือสีสันที่น่าสนใจ


 

การให้ลูกน้อยได้ฝึกวินัยการกินและได้รับอาหารเสริมอย่างพอเหมาะตั้งแต่ขวบปีแรก จะช่วยให้ลูกมีพฤติกรรมการกินที่ดีและเติบโตสมวัย เป็นผลดีต่อสุขภาพของลูกระยะยาวต่อไปในอนาคต 

 

 

ข้อมูลจาก: Guideline in Child Health Supervision ของราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย และคู่มืออาหารตามวัยสำหรับทารกและเด็กเล็กของ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)