รศ.พญ.วัชรี ตันติประภา
กุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านทารกแรกเกิด
รหัสเอกสาร PI-IMC-236-R-00
อนุมัติวันที่ 24 กันยายน 2563
เมื่อแรกเกิดถึงอายุ 6 เดือน นมแม่ เป็นอาหารที่ดีที่สุดสำหรับทารก เพราะมีสารอาหารที่จำเป็นครบถ้วนและพอเพียงต่อการเจริญเติบโตทางร่างกายและพัฒนาการทางสมอง รวมทั้งช่วยเสริมภูมิต้านทานลดอัตราการเจ็บป่วยและการติดเชื้อ ในวัยนี้จึงควรให้นมแม่อย่างเดียวโดยไม่จำเป็นต้องให้อาหารอื่นหรือแม้แต่น้ำ
หลังอายุ 6 เดือน ทารกตัวโตขึ้น แม้ว่านมแม่จะยังมีประโยชน์อย่างมากเช่นเดิม แต่ปริมาณและสารอาหารต่างๆ จะเริ่มไม่เพียงพอ คุณแม่จึงควรให้อาหารเสริมตามวัยควบคู่กับการให้กินนมแม่ต่อไปจนถึงอายุ 2 ปีหรือนานกว่านั้นเพื่อให้ลูกยังได้รับประโยชน์จากนมแม่และเจริญเติบโตได้อย่างเหมาะสม
อาหารเสริมตามวัยสำหรับทารก
การให้อาหารเสริมตามวัยควรยึดหลัก คือ เหมาะสมกับวัย ให้ปริมาณเพียงพอ และสะอาดปลอดภัย
1. เหมาะสมกับสมวัย คือ เริ่มให้ตามอายุที่เหมาะกับพัฒนาการของทารก
- ถ้าลูกเติบโตได้ดีเมื่อกินนมอย่างเดียว เริ่มให้เมื่ออายุ 6 เดือน
-
ถ้าลูกโตช้า
แพทย์อาจแนะนำให้เริ่มเร็วขึ้น แต่จะไม่เริ่มก่อน 4
เดือน เพราะการทำงานของลำไส้และการสร้างน้ำย่อยยังไม่สมบูรณ์
- ไม่ควรเริ่มช้ากว่า 6-7 เดือน แม้คุณแม่จะมีน้ำนมมากพอที่จะทำให้ลูกเติบโตได้ดี เพราะลูกจะเริ่มฝึกหัดการเคี้ยวกลืนช้าเกินไป ทำให้ปรับตัวมากินอาหารแบบผู้ใหญ่ไม่ได้ตามวัย ซึ่งจะมีผลเสียต่อการเจริญเติบโตและพฤติกรรมการกินต่อไปในอนาคต
- ควรเริ่มให้อาหารทีละ 1-2 อย่าง โดยเริ่มทีละน้อยและค่อยๆ เพิ่มขึ้น จนได้ตามปริมาณที่แนะนำ และเว้นระยะห่างการให้อาหารใหม่แต่ละชนิด 2-3 วัน เพื่อดูการแพ้อาหาร
- เริ่มต้นด้วยอาหารที่บดค่อนข้างละเอียด มีความหนืดพอสมควร เมื่อกินได้ดีค่อยเพิ่มความหยาบของอาหารขึ้นเรื่อยๆ เพื่อให้ทารกได้ฝึกเคี้ยวและกลืน ไม่ควรปั่นจนเนื้อเนียนเป็นน้ำเหลว
- เมื่ออายุ 1 ปีขึ้นไป เริ่มให้กินอาหารชนิดเดียวกับผู้ใหญ่ได้ โดยเลือกอาหารชนิดที่นิ่ม เคี้ยวง่าย ชิ้นไม่ใหญ่ และรสไม่จัดเกินไป
- เมื่ออายุ 2 ปีขึ้นไป ให้กินอาหารเหมือนผู้ใหญ่ได้
2. ให้ปริมาณเพียงพอ คือ ให้สารอาหารแต่ละชนิดในปริมาณพอเหมาะที่จะทำให้ทารกเจริญเติบโตได้ตามวัย
- กินนมแม่หรือนมผสมสำหรับทารกร่วมกับให้อาหารเพิ่มเป็นมื้อตามวัยดังในตาราง
- เมื่อกินอาหารในแต่ละมื้อได้ปริมาณตามที่แนะนำแล้ว ควรลดจำนวนมื้อนมลงตามจำนวนมื้ออาหารที่เพิ่มขึ้นแต่สามารถเพิ่มปริมาณนมต่อมื้อขึ้นได้
- ในแต่ละมื้อควรมีอาหารทั้งข้าว กลุ่มไข่หรือเนื้อสัตว์และผัก โดยมีการสับเปลี่ยนชนิดในแต่ละกลุ่มเพื่อฝึกให้ลูกคุ้นเคยกับการกินอาหารที่หลากหลาย
- การให้เนื้อสัตว์หรือตับอย่างน้อย 3 ครั้งต่อสัปดาห์ เพื่อให้ได้ธาตุเหล็กป้องกันภาวะซีด
- การให้น้ำมันพืชจะช่วยเพิ่มพลังงานและให้วิตามินที่ละลายในไขมัน
อายุ |
6 เดือน |
7 เดือน |
8 เดือน |
9-12 เดือน |
จำนวนมื้อ |
1 มื้อ |
1 มื้อ |
2 มื้อ |
3 มื้อ |
ชนิดอาหาร |
ใน 1 มื้อ ประกอบด้วย |
|||
ข้าว |
ข้าวต้มสุกบดละเอียด 2 ช้อนกินข้าว |
ข้าวต้มสุกบดหยาบ 3 ช้อนกินข้าว |
ข้าวสวยหุงนิ่มๆ บดหยาบ 4 ช้อนกินข้าว |
ข้าวสวยหุงนิ่มๆ บดหยาบ 4 ช้อนกินข้าว |
ไข่หรือเนื้อสัตว์ |
ไข่แดงสุกครึ่งฟอง สลับกับตับหรือไก่หรือหมู หรือปลาบด 1 ช้อนกินข้าว |
ไข่ทั้งลูกสุกครึ่งฟอง สลับกับตับหรือไก่หรือหมูหรือปลา 1 ช้อนกินข้าว |
ไข่ทั้งลูกสุกครึ่งฟอง สลับกับตับหรือไก่หรือหมูหรือปลา 1 ช้อนกินข้าว |
ไข่ทั้งลูกสุกครึ่งฟอง สลับกับตับหรือไก่หรือหมูหรือปลา 1 ช้อนกินข้าว |
ผัก |
ผักต้มเปื่อย ½ ช้อนกินข้าว |
ผักสุก 1 ช้อนกินข้าว |
ผักสุก 1 ช้อนกินข้าว |
ผักสุก 1½ ช้อนกินข้าว |
ระดับการบด |
บดละเอียด |
บดหยาบ |
สับละเอียด |
หั่นชิ้นเล็ก |
น้ำมันพืช |
½ ช้อนชา วันละมื้อ (ใช้คลุกเคล้าผสมกับอาหาร) |
|||
ผลไม้ (มื้อว่าง) |
ผลไม้สุกบดละเอียด วันละ 1 ชิ้น |
ผลไม้สุกบดหยาบ วันละ 2 ชิ้น |
ผลไม้สุกตัดชิ้นเล็ก วันละ 3 ชิ้น |
ผลไม้สุกหั่นชิ้นพอดีคำ วันละ 4 ชิ้น |
3. สะอาดปลอดภัย คือ ให้อาหารที่สะอาดไม่มีสิ่งก่ออันตรายต่อสุขภาพ
- เน้นเรื่องความสะอาด ปรุงสุกใหม่ หรือมีการเก็บรักษาไม่ให้เสีย
- ปัจจุบันยกเลิกการให้คำแนะนำทารกกินน้ำส้ม เนื่องจากมีโอกาสท้องเสียได้ง่ายถ้าไม่สะอาด
- ฝึกให้กินอาหารรสธรรมชาติไม่หวาน เค็ม มันหรือรสจัด ไม่ปรุงด้วยน้ำตาล ผงชูรส ผงปรุงรสต่างๆ
- หลีกเลี่ยงการให้ขนมกรุบกรอบต่างๆ รวมทั้งน้ำหวาน นมหวาน นมเปรี้ยว น้ำผลไม้กล่อง น้ำอัดลม และอาหารที่ผสมชา กาแฟ แอลกอฮอล์
- ไม่ให้อาหารที่แข็งเป็นเม็ด เคี้ยวยาก เช่น ถั่ว ข้าวโพด ในเด็กเล็ก เพราะอาจสำลักไปอุดหลอดลมได้
- ถ้าจำเป็นต้องใช้อาหารสำเร็จรูป
- เลือกชนิดที่มีเครื่องหมาย อย.
- เลือกที่มีบรรจุภัณฑ์แจ้งวันหมดอายุชัดเจนและอยู่ในสภาพเรียบร้อย
- อ่านฉลากถึงส่วนประกอบคุณค่าทางโภชนาการและคำแนะนำการใช้
- ใช้ตามอายุที่ระบุในฉลาก
- ไม่เลือกชนิดที่เติมน้ำตาล น้ำผึ้ง ผงชูรส สารกันบูด
- อาหารชนิดกึ่งสำเร็จรูปต้องปรุงสุกก่อนให้กินเสมอ
ข้อมูลจากสำนักโภชนาการ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข และ คู่มืออาหารตามวัยสำหรับทารกและเด็กเล็ก ของ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)