ผศ.นพ.ศักรินทร์ อัญษคุณ
จักษุแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านจักษุตกแต่งและเสริมสร้าง
รหัสเอกสาร PI-IMC-240-R-00
อนุมัติวันที่ 24 กันยายน 2563
ดวงตาเป็นอวัยวะสำคัญบนใบหน้า ที่นอกจากจะใช้สำหรับการมองเห็นแล้ว ยังมีบทบาทสำคัญในด้านรูป ลักษณ์และการใช้ชีวิตในสังคม ซึ่งปัจจุบันมีผู้ป่วยจำนวนมากที่สูญเสียดวงตาจากสาเหตุต่างๆ เช่น ลูกตาติดเชื้อ อุบัติเหตุต่อลูกตา มะเร็งในลูกตา ฯลฯ และสิ่งที่จะมาช่วยเติมเต็มในสิ่งที่ขาดหายของผู้ป่วย ให้กลับมาใช้ชีวิตในสังคมได้อย่างมั่นใจ นั่นคือ “ตาปลอม”
ตาปลอม คือ วัสดุทดแทนดวงตาที่สวมไว้บริเวณร่องตา ซึ่งอยู่ภายใต้เปลือกตาบนและล่าง เพื่อแก้ไขรูปลักษณ์ให้กลับมาดูใกล้เคียงปกติมากที่สุด โดยตาปลอมเป็นวัสดุทดแทนดวงตา จึงไม่ได้ช่วยในการมองเห็น เนื่องจากลักษณะเบ้าตา ร่องตา และหนังตาของผู้ป่วยแต่ละรายมีลักษณะที่แตกต่างกันออกไป ผู้ป่วยจึงอาจมีหลากหลายปัญหาและข้อสงสัยเกี่ยวกับการใส่ตาปลอม ดังเช่นตัวอย่างต่อไปนี้
ก่อนใส่ตาปลอมจำเป็นต้องเอาผ่าตัดเอาลูกตาเดิมที่เสียแล้วออกก่อนหรือไม่
เมื่อผู้ป่วยสูญเสียดวงตาจากสาเหตุต่างๆ เช่น อุบัติเหตุ การติดเชื้อ จอประสาทตาหลุดลอก ฯลฯ โดยอาจไม่ได้รับการผ่าตัดเอาลูกตาออกตั้งแต่แรก เมื่อระยะเวลาผ่านไป ลูกตาจะค่อยๆ มีขนาดเล็กลง กระจกตาจะขุ่นขึ้น หนังตาตก เบ้าตาดูยุบๆ ลักษณะนี้เรียกว่า ภาวะตาฝ่อ หรือ Phthisis bulbi
หากตาเดิมของผู้ป่วยฝ่อเล็กลงโดยไม่มีอาการปวดหรือเกิดภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ สามารถสวมตาปลอมเข้าไปในร่องตาครอบทับตาเดิมได้ แต่ในระยะแรกอาจรู้สึกเคืองหรือเจ็บบ้าง สามารถบรรเทาอาการได้โดยการหยอดน้ำตาเทียมเพื่อช่วยหล่อลื่น เมื่อสวมตาปลอมไปสักระยะร่องตาจะค่อยๆ ปรับตัว อาการเหล่านี้จะค่อยๆ ลดลง แต่หากสวมแล้วมีอาการเจ็บเคืองมากจนทนไม่ไหว อาจปรึกษาจักษุแพทย์เพื่อทำการผ่าตัดเอาเยื่อตาขาวมาคลุมตาดำเพื่อลดอาการระคายเคืองก่อน เมื่อแผลหายสนิทแล้วจึงสามารถใส่ตาปลอมได้
ทั้งนี้ การสวมตาปลอมทับตาเดิมที่ฝ่อจะมีความสวยงามมากกว่ากรณีที่ผ่าตัดเอาตาออก เนื่องจากสามารถกลอกตาได้มากกว่า โอกาสเกิดเบ้าตาลึกโหล ร่องตาตื้น หนังตาตกจากภาวะ PESS (Postenucleation socket syndrome) มีน้อยกว่า จึงไม่มีความจำเป็นต้องผ่าตัดเอาตาออกโดยไม่มีข้อบ่งชี้
ทำไมเบ้าตาดูลึกโหลหลังเอาลูกตาออก
หลังผ่าตัดเอาลูกตาออก ผู้ป่วยอาจพบว่าเบ้าตาดูลึกโหล ตาดูยุบๆ หนังตาบนตก ม้วนเข้าหรือเลิกขึ้น บางครั้งอาจพบมีการหย่อนยานของหนังตาล่างร่วมด้วย ลักษณะเหล่านี้รวมๆ กันเรียกว่า Post-enucleation socket syndrome หรือ PESS
ความเปลี่ยนแปลงของเบ้าตาและหนังตาดังที่กล่าวมา เกิดจากปริมาตรภายในเบ้าตาลดลงไปจากการผ่าตัดเอาตาออก เมื่อเวลาผ่านไปอาจมีการฝ่อตัวของไขมันและเนื้อเยื่อต่างๆ มากขึ้น เกิดพังผืดและการหดตัวภายในเบ้าตาและร่องตามากขึ้น ส่งผลให้ตาปลอมที่เคยใส่ได้พอดีมีการเอียงและทำให้ตาดูเขลอยขึ้นไปได้ สุดท้ายเมื่อตาปลอมไม่พอดีกับร่องตาอาจทำให้เกิดร่องตาหดตัว (Contracted socket) และทำให้ตาปลอมหลุดได้ในที่สุด
ดังนั้น การทำตาปลอมเฉพาะบุคคลอาจช่วยแก้ไขปัญหาต่างๆ จากภาวะ PESS ได้บ้าง แต่หากใส่ตาปลอมเฉพาะบุคคลแล้วยังมีปัญหาตาที่ดูผิดรูปมาก อาจต้องปรึกษาจักษุแพทย์เพื่อพิจารณาผ่าตัดแก้ไขต่อไป
ทำไมใส่ตาปลอมแล้วหนังตาตก
หนังตาตกหลังใส่ตาปลอม อาจเกิดได้จากสาเหตุต่างๆ ดังนี้
- ใส่ถอดตาปลอมบ่อยๆ ทำให้กล้ามเนื้อหนังตาบนยืดหรือหลุดจากตำแหน่งเกาะตามปกติ
- ตาปลอมมีขนาดเล็กกว่าร่องตา
- ผู้ป่วยสูญเสียดวงตาจากอุบัติเหตุร่วมกับมีการบาดเจ็บของกล้ามเนื้อที่ใช้ในการลืมตา
- มีภาวะ PESS
การทำตาปลอมเฉพาะบุคคลอาจแก้หนังตาตกได้บ้าง แต่หากใส่แล้วยังมีหนังตาตกที่ยังเห็นได้ชัด จนทำให้เกิดความไม่มั่นใจ อาจปรึกษาแพทย์เพื่อพิจารณาผ่าตัดแก้ไขหนังตาในลำดับต่อไป
ทำไมตาปลอมถึงหลุด
สาเหตุที่ทำให้ตาปลอมหลุด ส่วนใหญ่เกิดจากการที่ร่องตาตื้นจากแผลเป็นและพังผืด ซึ่งอาจเกิดจากสาเหตุต่างๆ ได้ดังต่อไปนี้
- ผู้ป่วยสูญเสียดวงตาจากอุบัติเหตุรุนแรงที่มีแผลฉีกขาดบริเวณหนังตา เยื่อตา เบ้าตาหรืออวัยวะข้างเคียงต่างๆ ร่วมด้วย หรือได้รับบาดเจ็บจากการโดนสารเคมีที่มีฤทธิ์กัดกร่อนหรือบาดแผลจากการถูกความร้อน
- ผู้ป่วยได้รับการรักษาโดยการฉายแสงบริเวณรอบดวงตาจากเนื้องอกชนิดต่างๆ
- มีการอักเสบติดเชื้อบริเวณร่องตาบ่อยๆ
- ร่องตาหดตัว เนื่องจากไม่ได้สวมวัสดุค้ำยันร่องตาเอาไว้หลังจากสูญเสียดวงตา หรือใส่ตาปลอมที่มีขนาดไม่พอดีกับร่องตา หรือถอดตาปลอมออกเป็นเวลานาน
- ได้รับการผ่าตัดบริเวณเบ้าตา ร่องตาหรือหนังตาหลายๆ ครั้ง
ในกรณีที่ร่องตาตื้นไม่มาก ผู้ป่วยอาจยังสามารถสวมตาปลอมสำเร็จรูปที่มีขนาดเล็กหรือทำตาปลอมเฉพาะบุคคลได้อยู่ แต่หากร่องตาตื้นมากจนทำตาปลอมเฉพาะบุคคลไม่ได้ ก็อาจจำเป็นต้องผ่าตัดแก้ไขร่องตาก่อนเพื่อทำให้มีพื้นที่ที่สามารถสวมใส่ตาปลอมเข้าไปได้
การผ่าตัดแก้ไขร่องตาสามารถทำได้โดยการตัดเนื้อเยื่อบริเวณที่เป็นพังผืดหรือแผลเป็นออก ใช้ไหมยึดร่องตากับเยื่อหุ้มกระดูกเบ้าตา แล้วใส่ตาปลอมชนิดใสมีรู (Conformer) เพื่อค้ำยันร่องตาเอาไว้ชั่วคราวก่อน เมื่อแผลหายสนิทดีแล้วจึงสามารถใส่ตาปลอมได้ แต่ทั้งนี้ก็ยังมีโอกาสที่ร่องตาจะกลับมาตื้นได้อีกหากใส่ตาปลอมสำเร็จรูปที่ไม่พอดีกับร่องตา หรือถอดตาปลอมออกบ่อยๆ เป็นเวลานาน โดยเฉพาะในผู้ป่วยที่เกิดแผลเป็นได้ง่าย
ตาปลอมกับการกลอกตา
ความสามารถในการกลอกตาปลอม ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลัก 2 อย่าง คือ
1. สภาพตาเดิมของคนไข้และการผ่าตัดเอาลูกตาออก
- คนไข้ที่ยังมีลูกตาอยู่โดยไม่เคยผ่าตัดเอาตาออก แต่ตาฝ่อไปจากสาเหตุต่างๆ (Phthisis bulbi) จะมีโอกาสกลอกตาได้มากเมื่อใส่ตาปลอม เนื่องจากกล้ามเนื้อตายังเกาะอยู่ในตำแหน่งปกติและทำงานได้ดี
- คนไข้ที่ได้รับการผ่าตัดเอากระจกตาและโครงสร้างภายในลูกตาออกแต่ยังเหลือเปลือกตาขาวเอาไว้ใส่ลูกตาเทียม (Evisceration) จะมีโอกาสกลอกตาได้พอสมควรเมื่อใส่ตาปลอม เนื่องจากไม่ได้ทำการตัดกล้ามเนื้อตา
- คนไข้ที่ได้รับการผ่าตัดเอาตาออกทั้งลูกและฝังลูกตาเทียมเอาไว้ในเบ้าตา (Enucleation) การกลอกตาจะทำได้น้อยลงเนื่องจากตอนผ่าตัดต้องทำการตัดกล้ามเนื้อตาด้วย
- การใส่หมุดยึดกับลูกตาเทียม (Peg integration) วิธีนี้ต้องผ่าตัดยึดหมุดไททาเนียมเข้ากับลูกตาเทียมที่มีลักษณะเป็นรูพรุนซึ่งทำจากวัสดุธรรมชาติ (เช่น ปะการัง กระดูกวัว) หรือสังเคราะห์ (Polypropylene, aluminum oxide) รูพรุนจะทำให้เกิดการเจริญของเนื้อเยื่อเข้าไปในช่องว่างของลูกตาเทียมและทำให้กล้ามเนื้อตายึดเกาะกับลูกตาเทียมได้อย่างแข็งแรง ตาปลอมที่เกาะติดกับหมุดจะขยับไปกับลูกตาเทียมทำให้การกลอกตาดูเป็นธรรมชาติมากขึ้น แต่ทั้งหมุดยึดและลูกตาเทียมแบบมีรูพรุนล้วนเป็นปัจจัยเสี่ยงที่อาจทำให้เกิดแผลแยกที่เนื้อเยื่อที่คลุมลูกตาเทียม ส่งผลให้ลูกตาเทียมโผล่ นำไปสู่การติดเชื้อ และอาจต้องทำการผ่าตัดเอาลูกตาเทียมออก
2. ชนิดของตาปลอมที่สวมใส่
- ตาปลอมสำเร็จรูป (Stock eye) การกลอกตาจะทำได้ไม่มาก หากผิวสัมผัสด้านในไม่พอดีกับร่องตา
- ตาปลอมเฉพาะบุคคล (Custom eye) การกลอกตาจะทำได้ดีขึ้นหากผู้ป่วยยังมีกล้ามเนื้อตาที่สมบูรณ์ เนื่องจากผิวสัมผัสของตาปลอมมีขนาดพอดีกับร่องตา