ความรู้จากแพทย์ศรีพัฒน์

การรักษาด้วยยาไทรอยด์ฮอร์โมน




อ.พญ.พิธพร วัฒนาวิทวัส

แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบต่อมไร้ท่อ (เบาหวานและไทรอยด์)

รหัสเอกสาร PI-IMC-211 Rev.01

อนุมัติวันที่ 30 เมษายน 2567


        ต่อมไทรอยด์ (Thyroid gland) เป็นต่อมไร้ท่อที่ใหญ่ที่สุดในร่างกาย มีน้ำหนักประมาณ 15-20 กรัม อยู่ที่ลำคอด้านหน้าของหลอดลม ต่ำกว่าลูกกระเดือกเล็กน้อย มีรูปร่างเหมือนเกือกม้าหรือปีกผีเสื้อ ต่อมไทรอยด์มักมีขนาดโตกว่านิ้วหัวแม่มือของเจ้าของต่อมเล็กน้อย โดยมีหน้าที่ผลิตฮอร์โมนไทรอกซีน (Thyroxine) ซึ่งเป็นตัวทำให้เกิดขบวนการ   เมตาบอลิซึม (Matabolism) คือ เปลี่ยนอาหารในร่างกายให้เป็นพลังงาน เพื่อช่วยป้องกันภาวะปัญญาอ่อนในเด็กและภาวะเตี้ยแคระ (Cretinism) ส่วนในผู้ใหญ่หากขาดจะเสี่ยงเป็นโรคคอพอก อ่อนเพลีย ไม่กระฉับกระเฉง อัตราการเผาผลาญอาหารต่ำ ทำให้อ้วนและเฉื่อยชา แต่หากมีมากเกินไปจะมีภาวะตื่นเต้นตกใจง่าย หัวใจเต้นเร็วผิดปกติ และรูปร่างผอม


ไทรอยด์ฮอร์โมนคืออะไร และยาไทรอยด์ฮอร์โมนใช้รักษาอย่างไร


            ไทรอยด์ฮอร์โมน เป็นฮอร์โมนที่สร้างจากต่อมไทรอยด์ ทำหน้าที่ควบคุมการทำงานของร่างกาย เมื่อร่างกายขาดไทรอยด์ฮอร์โมน จะมีอาการเฉื่อยชา ขี้หนาว ผิวหนังแห้ง บวมที่หนังตา หรือบวมฉุทั้งตัว เป็นตะคริวและท้องผูกได้ง่าย ดังนั้น ในผู้ป่วยที่มีภาวะไทรอยด์ฮอร์โมนต่ำ จึงมีความจำเป็นต้องรับประทานยาไทรอยด์ฮอร์โมนทดแทน นอกจากนั้นในผู้ป่วยมะเร็งต่อมไทรอยด์ ก็มีความจำเป็นในการใช้ยาไทรอยด์ฮอร์โมน เพื่อทดแทนฮอร์โมนและกดการเจริญของมะเร็ง 


        ทั้งนี้ ปริมาณยาไทรอยด์ฮอร์โมนที่มากเกิน อาจทำให้เกิดอาการไทรอยด์เป็นพิษ เช่น ใจสั่น น้ำหนักลด กระดูกพรุน ส่วนปริมาณยาไทรอยด์ฮอร์โมนที่น้อยเกินไป ก็ไม่สามารถรักษาภาวะไทรอยด์ฮอร์โมนต่ำได้ ดังนั้น การรับประทานยาไทรอยด์ฮอร์โมนที่ถูกต้องเหมาะสมนั้น จะช่วยลดอาการข้างเคียงเหล่านี้ได้


 ยาหรือภาวะที่มีผลต่อความต้องการขนาดยาไทรอยด์ฮอร์โมนเพิ่มขึ้น


        ส่วนใหญ่เป็นยาที่ใช้ในการรักษาโรคต่างๆ ได้แก่ ยาลดไขมันในเลือด ยาลดกรดและรักษาโรคแผลในกระเพาะอาหาร ยากันชัก ยาระงับประสาทและยานอนหลับ ยารักษาวัณโรค ยารักษาโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ ยาบำรุงเลือด ยาเสริมแคลเซียมหรืออาหารที่มีแคลเซียมสูง เช่น นม ยาคุมกำเนิดหรือยาฮอร์โมนเพศทดแทน รวมทั้งโรคที่ทำให้การดูดซึมฮอร์โมนไทรอยด์ได้น้อยลง เช่น โรคตับแข็ง โรคลำไส้สั้นหรือผู้เคยผ่าตัดต่อลำไส้ และการตั้งครรภ์



ผลของยาไทรอยด์ฮอร์โมนที่รบกวนการออกฤทธิ์ของยาชนิดอื่น


- ทำให้ยาต้านการแข็งตัวของเลือดแบบรับประทานออกฤทธิ์มากขึ้น


- ทำให้ยาอินซูลินหรือยาเม็ดลดระดับน้ำตาลในเลือด  (ยารักษาโรคเบาหวาน) ออกฤทธิ์มากขึ้น


- ทำให้ยารักษาโรคหัวใจวายออกฤทธิ์น้อยลง


        ซึ่งผู้ป่วยที่มีความจำเป็นต้องใช้ยาเหล่านี้ พร้อมกับยาไทรอยด์ฮอร์โมน ควรแจ้งให้แพทย์ทราบ โดยแพทย์จะเป็นผู้ให้คำแนะนำการใช้ยา เช่น อาจแยกมื้อไม่ให้รับประทานตรงกัน เช่น มื้อเช้าและเย็น  เป็นต้น

 


ข้อมูลอ้างอิง หน่วยต่อมไร้ท่อ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่