ความรู้จากแพทย์ศรีพัฒน์

ปัญหาที่พบบ่อยในการดูแลด้านการรับประทานอาหารในผู้ป่วยโรคสมองเสื่อม




อ.นพ.อดิศักดิ์  กิตติสาเรศ

แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบประสาทและสมอง

รหัสเอกสาร PI-IMC-208-R-00

อนุมัติวันที่ 24 กันยายน 2563



ปัญหาที่พบบ่อยในการดูแลด้านการรับประทานอาหารในผู้ป่วยโรคสมองเสื่อม


แบบที่ 1 ผู้ป่วยลืมอิ่ม


        ซึ่งผู้ป่วยจะรับประทานอาหารเก่งขึ้น ขอทานอยู่บ่อยๆ แม้ว่าจะเพิ่งรับประทานอาหารไปก็ตาม เนื่องจากจำไม่ได้ว่ารับประทานอาหารไปแล้ว ทำ ให้ได้รับอาหารมากเกินความต้องการของร่างกาย ส่งผลให้เกิดปัญหาในการควบคุมโรคเรื้อรังตามมาได้ เช่น โรคอ้วน โรคเบาหวาน โรคไขมันในเลือดสูง โรคความดันโลหิตสูง


เคล็ดลับการดูแลผู้ป่วยลืมอิ่ม


-        ควรให้ผู้ป่วยรับประทานเท่าที่ผู้ดูแลอยากให้ทาน


-        เก็บอาหารพ้นสายตา แบ่งอาหารเป็นมื้อย่อยๆ ปริมาณพอเหมาะ


-        ไม่วางอาหารเยอะๆ ไว้บนโต๊ะ หากไม่มีคนดูแล


-        จัดอาหารเป็นชุดพอดีให้กับผู้ป่วย เช่น ใส่ในถาดหลุม


-        ทำตารางบันทึกการบริโภคอาหารแต่ละมื้อ


-        สามารถเพิ่มอาหารว่างระหว่างมื้อเมื่อผู้ป่วยร้องขอ โดยเลือกสิ่งที่มีประโยชน์และพลังงานต่ำ เช่น ผัก ผลไม้ ถั่วชนิดต่างๆ


แบบที่ 2 ผู้ป่วยลืมหิว


        คือ การที่ผู้ป่วยไม่ยอมรับประทานอาหาร อาจคิดว่าเพิ่งรับประทานอาหารไป หรือมีปัญหาการกลืน ส่วนมากจะเป็นในระยะท้ายๆ ของโรค ซึ่งอาจเกิดจากปัญหาด้านความจำและต้องหาสาเหตุอื่นที่เกิดร่วมได้ เช่น ปัญหาเหงือกและฟัน (เลือกกิน กินไม่ได้ กินไม่พอ) ทำให้เกิดภาวะขาดสารอาหาร


เคล็ดลับการดูแลผู้ป่วยลืมหิว


-        ประเมินการเคี้ยว การกลืน ปัญหาเรื่องเหงือกและฟัน


-        ปรับความหยาบละเอียด ไม่เคี้ยวยากจนเกินไป


-        จัดอาหารที่ผู้ป่วยชอบ และเป็นที่คุ้นเคย


-        เน้นแหล่งโปรตีนในอาหารที่ย่อยง่าย เช่น ปลา ไข่ เต้าหู้


-        ทำตารางบันทึกการบริโภคอาหารแต่ละมื้อ


-        สามารถเพิ่มอาหารว่างระหว่างมื้อ (แบ่ง 6-8 มื้อ) เช่น นม ผลไม้ปั่น ไอศกรีม แซนวิช


-        เติมอาหารที่มีประโยชน์ไปในอาหารชนิดที่ผู้ป่วยชอบ เช่น เติมผักในไข่ตุ๋น ปั่นผลไม้รวมกับนม ตีไข่รวมเข้าเป็นเนื้อเดียวกับโจ๊ก ใส่ผักในซุปข้น ใส่ฟองเต้าหูในข้าวต้ม เป็นต้น


-        ปรับสิ่งแวดล้อมและบรรยากาศแบบที่ผู้ป่วยเคยชอบ การหาเวลารับประทานอาหารพร้อมๆ กันในครอบครัว


การให้ความรัก เอาใจใส่ดูแล ทั้งเรื่องสุขภาพและอาหารที่มีประโยชน์ จะเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยให้ผู้ป่วยโรคสมองเสื่อม มีสุขภาพกายและใจที่ดี