อ.นพ.อดิศักดิ์ กิตติสาเรศ
แพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคระบบประสาทและสมอง
รหัสเอกสาร PI-IMC-203-R-00
อนุมัติวันที่ 27 สิงหาคม 2563
โรคพาร์กินสัน (Parkinson) เป็นอีกหนึ่งโรคความเสื่อมทางระบบประสาทที่ทำให้เกิดการเคลื่อนไหวผิดปกติที่พบในผู้สูงอายุ โดยมีอาการสั่น เดินลำบาก ล้มง่าย และการเคลื่อนไหวผิดปกติหลายอย่าง ที่อาจจะคล้ายคลึงกับความผิดปกติจากโรคอื่น หากทราบว่าเป็นโรคและได้รับการรักษาที่ถูกต้อง จะช่วยให้คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยดีขึ้น กลับ มาใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุข
เกิดได้อย่างไร ?
โรคพาร์กินสันเป็นโรคที่เกิดจากการมีโปรตีนผิดปกติที่ชื่อลิววี่บอดี้ (Lewy bodies) ไปสะสมในสมอง ทำให้เกิดอาการผิดปกติตามตำแหน่งของสมอง ในส่วนที่ควบคุมการเคลื่อนไหว ซึ่งทำหน้าที่ในการสร้างสารที่จำเป็นต่อระบบควบคุมการเคลื่อนไหวของร่างกาย คือ สารโดปามีน (Dopamine) ปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด แต่ปัจจัยเสี่ยงบาง อย่างอาจเป็นปัจจัยกระตุ้นการเกิดโรคได้ เช่น พันธุกรรมและสารพิษบางชนิด เช่น ยาฆ่าหญ้าและแมลง เป็นต้น
อาการของโรคพาร์กินสัน
อาการของโรคพาร์กินสันมีอาการที่สำคัญ ดังนี้
1. อาการสั่น มักพบตั้งแต่ช่วงเริ่มต้นของโรค พบได้ประมาณร้อยละ 60 ของผู้ป่วย เป็นมากเวลาที่อยู่นิ่งๆ การสั่นจะมีความถี่ประมาณ 4-8 ครั้งต่อวินาที อาการสั่นจะลดลงในขณะมีการเคลื่อนไหว มักพบอาการสั่นได้ที่มือและเท้า และอาจพบได้ที่บริเวณคางหรือลิ้น แต่มักไม่พบที่บริเวณศีรษะ
2. อาการเกร็ง มีการเกร็งที่กล้ามเนื้อแขนและขา ทำให้มีอาการปวดเมื่อยได้ หรือผิดรูปได้
3. อาการเคลื่อนไหวช้า จะพบว่าเมื่อเริ่มต้นเคลื่อนไหวจะทำได้ช้า เช่น ขณะขยับมือ แขน ขา หรือในขณะเริ่มออกเดิน และอาจพบมีการทรงตัวที่ผิดปกติ เป็นสาเหตุให้หกล้มได้ง่าย
4. การเดินผิดปกติ มีอาการเดินซอยเท้าช่วงสั้นๆ ในช่วงแรก และดีขึ้นเมื่อออกเดิน แต่เมื่อจะหยุดเดิน จะหยุดไม่ได้ในทันที ทำให้หกล้มได้ นอกจากนี้ยังมีลักษณะเดินตัวแข็ง ตัวจะงุ้ม หลังค่อม และแขนมีการแกว่งที่น้อยลง
5. การแสดงสีหน้า จะมีลักษณะหน้านิ่ง ไม่ค่อยแสดงอารมณ์ เหมือนกับใส่หน้ากาก (Mask face)
6. เสียงพูดจะเบา พูดรัวๆ เสียงอยู่ในลำคอ ทำให้ฟังได้ยาก อาจมีน้ำลายไหลออกมาที่มุมปากตลอดเวลา
7. การเขียนหนังสือ จะเขียนได้ช้า สั่น และตัวอักษรมักมีขนาดเล็กลงเมื่อเขียนยาวๆ
นอกจากนี้ยังพบอาการอื่นๆ ร่วมด้วยได้ เช่น อาการท้องผูก ท้อแท้ ซึมเศร้า คิดช้าขี้ลืม อารมณ์เปลี่ยนแปลงง่าย ควบคุมตัวเองไม่ได้ การลุกเร็วๆ แล้วมีภาวะความดันต่ำ ทำให้หน้ามืด การได้กลิ่นผิดปกติ การฝันแล้วออกเดินหรือขยับร่างกาย และอาการอ่อนเพลีย
การตรวจเพิ่มเติม
ควรพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อทำการซักประวัติและตรวจร่างกาย เพื่อแยกอาการสั่นจากโรคที่ทำให้มีอาการสั่นอื่นๆ ได้ บางรายอาจจำเป็นต้องมีการเจาะเลือด เอ็กซเรย์สะท้อนคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าสมอง (MRI-Brain) หรือการตรวจเพิ่มเติมอื่นๆ ซึ่งแพทย์จะพิจารณาตามความเหมาะสม
การรักษา
การรักษามีการใช้ยาที่ช่วยเพิ่มสารโดปามีน ทำให้อาการผิดปกติทางการเคลื่อนไหวและอาการอื่นๆ ของโรคดีขึ้น สามารถกลับมาใช้ชีวิตปกติได้ ปัจจุบันยามีหลายรูปแบบทั้งที่เป็นเม็ดรับประทาน แผ่นแปะที่ผิวหนัง และการฉีดยาแบบต่อเนื่องเข้าสู่ชั้นใต้ผิวหนัง การรักษาโรคตั้งแต่ต้นและต่อเนื่อง จะช่วยทำให้คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยและครอบครัวดีขึ้นตามระยะของโรค ลดภาวะแทรกซ้อน เช่น การใช้ยาไม่เหมาะสม, การติดยา, การเกิดภาวะเคลื่อนไหวผิดปกติจากการใช้ยา เป็นต้น ในกรณีใช้ยาไม่ได้ผล ยังมีการรักษาอื่นๆ ที่นำมาใช้ตามข้อบ่งชี้ ได้แก่ การรักษาโดยการผ่าตัดกระตุ้นสมองส่วนลึก (Deep brain stimulation) และการผ่าตัดสมอง
นอกจากนี้ ยังควรมีการฝึกกายภาพบำบัดควบคู่กันไป ประกอบด้วย การฝึกยืดเหยียดกล้ามเนื้อเพื่อลดอาการปวด การฝึกออกกำลังกาย คาร์ดิโอเพื่อเพิ่มความแข็งแรง การฝึกเดินและการทรงตัว การฝึกพูดในกรณีที่มีปัญหา
การรักษาอาการร่วมอื่นๆ จะมีการดูแลตามความเหมาะสม โดยอาการที่พบได้บ่อย ได้แก่ การนอนหลับผิด ปกติ อาการซึมเศร้า การกลืนน้ำลายไหลผิดปกติ ท้องผูก กลั้นปัสสาวะผิดปกติ อวัยวะเพศไม่แข็งตัว อาการเหล่านี้หากผู้ป่วยพบมีอาการ ควรปรึกษาแพทย์ที่ดูแล เพราะอาจเกิดจากตัวโรคได้
การวางแผนการรักษา และการรักษาร่วมกันเป็นทีม เพื่อทำการรักษาอย่างต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพ ก็เป็นอีกปัจจัยในการประสบความสำเร็จในการรักษา
พาร์กินสันเป็นโรคของความเสื่อม โดยปกติตัวโรคจะมีการค่อยๆ แย่ลง พบว่าผู้ที่รักษาถูกต้อง ออกกำลังกายแบบคาร์ดิโอ ฝึกการเคลื่อนไหวและการทรงตัวอย่างสม่ำเสมอ มีอารมณ์สดชื่น กำลังใจที่ดี และมีทีมครอบครัวและผู้ ดูแลที่ดี ก็จะช่วยให้การดำเนินโรคช้าลง และทำให้ผู้ป่วยมีความสุขตามความเหมาะสม ตลอดช่วงอายุขัยได้