ความรู้จากแพทย์ศรีพัฒน์

ม่านตาอักเสบ



ศ.ดร.พญ.เกษรา พัฒนพิฑูรย์

จักษุแพทย์

รหัสเอกสาร PI-IMC-207-R-00

 อนุมัติวันที่ 24 กันยายน 2563


        โรคม่านตาอักเสบ คือ การอักเสบของม่านตาหรือเนื้อเยื่อภายในลูกตาส่วนหน้า หรือเรียกภาษาง่ายๆ คือ การอักเสบของตาดำ ซึ่งเป็นบริเวณที่มีหลอดเลือดมาเลี้ยงค่อนข้างมาก


อาการ


        การอักเสบของม่านตา เป็นไปตามความรุนแรงของโรคว่าเป็นมากน้อยรวดเร็วเพียงใด สำหรับการอักเสบที่เกิดขึ้นแบบเฉียบพลัน ผู้ป่วยจะมีอาการปวดตา แพ้แสง ตาแดงและตามัว ส่วนการอักเสบแบบเรื้อรัง การดำเนินของโรคจะค่อยเป็นค่อยไป จึงอาจไม่มีอาการใดๆ จนกระทั่งมาพบแพทย์เมื่อมีอาการตามัวลงจากภาวะแทรกซ้อน เช่น ต้อกระจก ต้อหิน รวมทั้งจุดภาพชัดบวม เป็นต้น ส่งผลให้สูญสียการมองเห็นแบบถาวรได้


สาเหตุ

1.       การติดเชื้อ เชื้อที่เป็นสาเหตุ ได้แก่ เชื้อไวรัส เชื้อแบคทีเรีย เชื้อรา เป็นต้น

2.      การไม่ติดเชื้อซึ่งมักมาจากการมีภูมิคุ้มกันไวเกินไปทำให้เกิดการอักเสบ เช่น ผู้ป่วยที่มียีนชนิดหนึ่งที่เรียกว่า HLA-B27, ผู้ป่วยเบเซ็ท (Behcet’s disease), ผู้ป่วยโรคข้อรูมาตอยด์เป็นต้น

3.      สาเหตุอื่นๆ ได้แก่ การได้รับอุบัติเหตุที่ดวงตา หรือการใช้ยาบางชนิดเช่น ยารักษาโรคกระดูกพรุนกลุ่มบิสฟอสโฟเนต  (Bisphosphonates) เป็นต้น

4.      ไม่ทราบสาเหตุ


การรักษา


        การรักษาจะรักษาตามสาเหตุ เช่น สาเหตุจากการติดเชื้อ แพทย์อาจให้ยาต้านไวรัสหรือยาต้านเชื้อแบคทีเรีย ร่วมกับยาลดการอักเสบ ส่วนม่านตาอักเสบจากการไม่ติดเชื้อ แพทย์มักให้ยาสเตียรอยด์เป็นหลัก อาจเป็นในรูปแบบยาหยอดตาหรือยารับประทาน โดยต้องติดตามอาการหรือระวังภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขี้นหลังการให้ยา โดยเฉพาะยา กลุ่มสเตียรอยด์ ซึ่งอาจทำให้ความดันตาสูงหรือเลนส์ตาต้อกระจกได้ อย่างไรก็ตามหากไม่รักษา การอักเสบของม่านตาเองก็อาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น ต้อหินหรือต้อกระจกขึ้นได้เช่นกัน ดังนั้น แพทย์จะเป็นผู้พิจารณาให้การรักษาแบบสมดุลในปริมาณที่เหมาะสม ไม่ให้เกิดภาวะแทรกซ้อน ทั้งจากตัวโรคเองหรือจากการใช้ยา


        ทั้งนี้ หากเกิดความผิดปกติทางตา เช่น ปวดตา แพ้แสง ตาแดง ตามัว ควรรีบพบจักษุแพทย์ เพื่อตรวจหาสาเหตุและรับการรักษา เพราะหากรักษาช้า อาจทำให้ตามัวหรือตาบอดได้ในที่สุด